• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    แมทธิว ริคารด์ (Matthieu Ricard) เกิดในครอบครัวปัญญาชน เป็นบุตรของนักปรัชญามีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ตั้งแต่เด็กบ้านของเขาหัวกระไดไม่เคยแห้ง มีปัญญาชนไปเยี่ยมเสมอ ตั้งแต่นักคิด นักเขียน จิตรกร นักดนตรี หลายคนเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล ทั้งหมดชอบไปถกคุยกัน

    ปี 1972 แมทธิวเรียนจบปริญญาเอกสาขาพันธุกรรมโมเลกุลจากสถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส ในวัย 26 เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตในสภาพแวดล้อมนั้น เขารู้สึกว่ามีบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต เขาเชื่อว่ามีคำตอบในโลกตะวันออก

    เขามุ่งหน้าไปที่อินเดีย

    บิดาของเขาไม่พอใจนักที่เขาไปค้นหาคำตอบในโลกตะวันออก แต่เขาก็ไปจนได้ นักพันธุกรรมโมเลกุลหนุ่มละทิ้งทุกอย่างไปศึกษาพุทธทิเบต ณ อารามแห่งหนึ่งที่กาฐมาณฑุ เนปาล เทือกเขาหิมาลัย

    ผ่านไปราว 26 ปีใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แมทธิวก็กลับบ้าน และมีโอกาสถกปรัชญาชีวิตกับพ่อ บทสนทนาของทั้งสองกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ชื่อ The Monk and the Philosopher หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง

    เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียงทันที

    และกลายเป็นคนดังอีกครั้งในปี 2007 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทางประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ทดลองสแกนสมองของเขา และประกาศว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก

    ................

    ในช่วงที่ แมทธิว ริคารด์ ศึกษาพุทธที่เนปาล เขาฝึกสมาธิคนเดียวในกระท่อมบนภูเขานานห้าปี

    เขาเรียนจากพระทิเบตว่า เราต้องรับรู้การผูกพัน อัตตาเป็นตัวขับเคลื่อนการยึดมั่นถือมั่น แต่เราสามารถขจัดมันทิ้งด้วยการอยู่กับปัจจุบันและความเมตตา

    อาจารย์ของเขาสอนว่า “ขบวนรถไฟแห่งความคิดและสภาวะจิตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนรูปทรงของก้อนเมฆบนท้องฟ้า แต่เราชอบยึดมั่นให้ความสำคัญกับมัน”

    การทำสมาธิเป็นทางหนึ่งที่จะ ‘ขโมย’ จิตของเราคืนมา

    เขาใช้หลักสามอย่างในการทำสมาธิ นั่นคือความเมตตา การเจริญสติ และการวิเคราะห์

    รากฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขามองโลกแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นรากของพุทธศาสนาเช่นกัน เขาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต

    “ภายในตัวเราทุกคนคือการออกแบบของโลก เรามีความสามารถที่จะเข้าถึงและเข้าใจจักรวาล เพื่อกลายเป็นรูปแบบอื่น ๆ”

    สรรพสิ่งในโลกเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนรูปของสิ่งเดิม

    เขาบอกคนที่มาเยือนว่า “เธออาจมีโมเลกุลของ เจ็งกิส ข่าน ในตัวเธอ”

    สรรพสิ่งและชีวิตเชื่อมโยงกันในรูปแบบต่าง ๆ

    บางครั้งเขาชี้ที่ถ้วยชาแล้วกล่าวว่า “นี่คือน้ำชาที่เธอดื่มตอนนี้ อีกหกชั่วโมงมันจะกลายเป็นเธอ”

    คนจำนวนมากไม่มีความสุขเพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

    “การเปรียบเทียบคือตัวฆ่าความสุข เราไม่เปรียบตัวเรากับ บิล เกตส์ แต่เปรียบกับเพื่อนบ้าน เรามักสังเกตว่าเพื่อนบ้านใช้รถอะไร ไปเที่ยวที่ไหน”

    เราเปรียบเทียบเสมอ แม้ว่าไม่พูดอะไรออกมา แต่ก็อาจเปรียบเทียบโดยจิตใต้สำนึก

    เขาบอกว่าเราต้องเข้าใจวิธีคิดและความคิดของเรา เช่น เราคิดว่าเราสามารถควบคุมโลก แต่ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นความวุ่นวาย เราทำได้เพียงเปลี่ยนจิตของเราเกี่ยวกับมัน

    บางครั้งเราไปซื้อรถ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. แต่เราจดจ่อที่รถจนเราลืมไปแล้วว่าจุด ก. จุด ข. อยู่ที่ไหน

    เขากล่าวว่า การแสวงหาความสบายหรือที่เขาใช้คำว่า pleasant sensations (ความรู้สึกสุขสบาย) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความสงบสุข แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธความรู้สึกสุขสบายเมื่อมันมาหา เพียงแต่ต้องระวังว่าความรู้สึกสุขสบายไม่ใช่สิ่งถาวร และไม่ได้รับประกันความสุขโดยธรรมชาติ

    “เมื่อเรารื้ออัตตาของเราออก เราก็จะเริ่มมองเห็นโลกจริง ๆ... การยึดมั่นถือมั่นกับอัตตาเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับความทุกข์ที่เรารู้สึก และความทุกข์ที่เราให้คนอื่น อิสรภาพเป็นเรื่องตรงกันข้าม”

    (ท่อนหนึ่งจากบทความ ชายผู้มีความสุขที่สุดในโลก / หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ / วินทร์ เลียววาริณ

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ ชุด S10 ชีวิตที่ดี + หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ + แถมเป่ย ฉบับทดลองอ่าน

    สั่งจาก Shopee คลิกลิงก์ https://shope.ee/1LIFbnHXOK?share_channel_code=6

    สั่งจากเว็บ คลิกลิงก์ https://www.winbookclub.com/store/detail/238/%28S10%29%20%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%20+%20%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%2015%20%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%9F%20%E0%B8%88%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B8%B5%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A2

    0
    • 0 แชร์
    • 5
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    (เล่าเรื่องอาจารย์แสงอรุณต่อ)

    ผมพบอาจารย์แสงฯครั้งแรกในราวเดือนพฤษภาคม 2518 ผมเพิ่งสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯได้ และต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ ผมแต่งชุดนักเรียนปักอักษร บ.ด. กลัดเข็มพระเกี้ยวไปตามนัด เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าคณะฯ

    ผู้สัมภาษณ์ผมมีสองคนคืออาจารยแสงอรุณ กับอาจารย์เฉลิม สุจริต เสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่

    อาจารย์แสงฯทักผมคำแรกว่า ทำไมซีดเซียวจัง ผมตอบว่าเพิ่งหายป่วย

    อาจารย์แสงฯดูลำดับการเลือกคณะของผมแล้วถามด้วยความแปลกใจว่า "คุณเลือกคณะสถาปัตย์ จุฬาฯเป็นลำดับที่ 1 และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ศิลปากร เป็นลำดับที่ 2 ทำไมเลือกอย่างนี้?"

    ผมตอบว่า "เพราะผมชอบวาดรูปมากครับ"

    บางคนอาจไม่เคยรู้ว่าอาจารย์แสงฯเคยเป็นศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร และนี่อาจเป็นจุดเชื่อมระหว่างผมกับอาจารย์แสงฯ คือชอบทั้งคณะสถาปัตย์ จุฬาฯและคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร

    อาจารย์ถามว่าชอบตึกไหนในเมืองไทยบ้าง ผมไม่รู้ เพราะมาจากต่างจังหวัด เมืองหาดใหญ่ที่ผมอยู่มีแต่ตึกแถวเก่า ทันใดนั้นผมก็นึกได้ว่ามีอาคารหลังหนึ่งที่ผมผูกพัน คำตอบจึงคือ "ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ครับ"

    การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบอาจารย์อีกเลยจนถึงวิชาสเก็ตช์

    อาจารย์แสงฯสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปะ วิชาวาดภาพ ทั้งลาย เส้นขาวดำ ภาพสีน้ำ อาจารย์ถนัดหมด จึงเหมาะที่สุดที่จะสอนวิชาสเก็ตช์

    วิชานี้อาจารย์พานิสิตไปตามสถานที่ต่างๆ วัดวาอาราม ฯลฯ ให้เลือกมุมสเก็ตช์เอาเอง

    หลังจากนั้นก็ถึงวันรีวิว อาจารย์หยิบงานสเก็ตช์ของนิสิตแต่ละคนมาวิจารณ์ นี่คือไฮไลท์ของวิชา เพราะการรีวิวของอาจารย์อิงหลักศิลปะ บวกประสบการณ์การทำงานศิลปะของอาจารย์ และภาษาสำนวนที่ 'แซ่บอีหลี ดิลิเฌียส'

    วินทร์ เลียววาริณ
    25-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 19
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โชกุน (Shōgun)​ โดย เจมส์ คลาเวลล์ ตีพิมพ์ในปี 1975 หนังสือโด่งดังทันที เพราะเป็นงานสนุก ผู้เขียนรีเสิร์ชอย่างละเอียด ผูกเรื่องอิงกับเหตุการณ์จริงและบุคคลจริงในประวัติศาสตร์

    โชกุน เป็นเรื่องของศึกชิงอำนาจของขุนศึกญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลาที่อำนาจตะวันตกเริ่มเข้าไปยุ่มย่าม

    ตัวละครที่เดินเรื่องคือ จอห์น แบล็คธอร์น ชาวอังกฤษผู้เดินทางหลงเข้าไปในญี่ปุ่นราวปี 1600 ตัวละครแบล็คธอร์นจำลองชีวิตของนักสำรวจชาวอังกฤษ วิลเลียม อดัมส์ หลวมๆ

    แบล็คธอร์นไปเกี่ยวข้องกับตัวละครแม่ทัพ โยชิอิ โทรานางะ ซึ่งจำลองชีวิตของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ (1543–1616) โดยมีล่ามสาวชื่อมาริโกะ (ซึ่งจำลองชีวิตของ อเคชิ ทามะ) เป็นตัวประสานเรื่อง

    ในโลกของความจริง อเคชิ ทามะ ย่อมไม่มีทางได้พบกับ วิลเลียม อดัมส์ แต่ในโลกของนิยาย ทั้งสองผูกพันกันด้วยบทบาทที่เกี่ยวพันกับการชิงอำนาจ

    หนังเวอร์ชั่นนี้ไม่ได้เล่าเรื่องผ่านสายตาของ จอห์น แบล็คธอร์น เหมือนฉบับก่อน หนังให้น้ำหนักของบทที่ตัวละครญี่ปุ่นมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจบริบทต่างๆ ในเรื่องชัดขึ้น บริบทที่มองผ่านคนต่างชาติไม่ชัด

    เรื่องจบที่สงครามเซกิกาฮาระที่ทำให้โทรานางะ (อิเอยาสึ) กลายเป็นโชกุน แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับสงครามเซกิกาฮาระ แต่คือการเมืองที่นำไปสู่สงครามเซกิกาฮาระ ดังนั้นฉากสงครามจึงไม่จำเป็น เพราะมันไม่ใช่หนังบู๊ มันเป็นหนังประลองปัญญากัน มันคือการเล่นหมากรุกการเมืองที่เดิมพันด้วยชีวิต

    ซีรีส์เวอร์ชั่นนี้ใส่รายละเอียดมากมาย ทำให้สนุกและน่าสนใจ ย่อยเรื่องทั้งหมดลงในสิบตอน จะว่ายาวก็ยาวพอ จะว่าสั้นก็สั้น เพราะอยากจะรับความบันเทิงยาวอีกหน่อย!

    หนังกระชับ ถ่ายทำสวยงาม ฉากยอดเยี่ยม จุดดีอีกเรื่องคือหนังเสียบปรัชญาเข้าไป ทำให้มีความลึกขึ้น บางตอนได้คะแนน 11/10 บางตอนก็ไม่ถึง โดยรวมเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงสูง และให้ความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ดี จนทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมหนังอิงประวัติศาสตร์และซามูไรญี่ปุ่นที่ฝรั่งทำ จึงออกมาดีได้ขนาดนี้ (อีกเรื่องคือการ์ตูน Blue Eye Samurai ไม่นานมานี้)

    คำตอบคือการเล่าเรื่องเป็นเรื่องสากล และประวัติศาสตร์มนุษย์มีแค่ประวัติศาสตร์เดียว ไม่ว่าประวัติศาสตร์ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ถ้าคนสร้างหนังเข้าใจ ก็สามารถทำหนังประวัติศาสตร์ของทุกชาติได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนทำหนังเล่าเรื่องเป็นหรือไม่ รู้ว่าจะเล่าสาระหลักอะไรหรือไม่ และเห็นชัดว่าทีมงานโชกุนชุดนี้รู้ว่าจะทำอะไร

    การเมืองของมนุษย์คือเรื่องการแย่งชิงอำนาจ และประวติศาสตร์ทุกท่อนในอารยธรรมโลก ล้วนเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคืออำนาจเป็นเหมือนความฝันที่หลายคนไขว่คว้า หมายให้กลายเป็นความจริง แต่อาจไม่รู้ว่าตนอยู่ในโลกของความจริงหรือไม่

    (ย่อหน้าถัดไปเป็นสปอยเลอร์)

    ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ (A Dream of a Dream) เราเห็นแบล็คธอร์นในวัยชราที่ประเทศอังกฤษรำลึกถึงประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่เราไม่รู้ว่าแบล็คธอร์นได้กลับอังกฤษจริงหรือไม่ มันเป็นความจริงหรือความฝัน? หรือความฝันในความฝัน?

    บางทีอำนาจที่ใครๆ ปรารถนา เป็นเพียงภาพลวงตาในความฝัน

    เมื่อลืมตาตื่นจากความฝัน ก็อาจยังอยู่ในอีกความฝันหนึ่ง

    แต่ผู้ที่จมในหลุมอำนาจก็มักเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง และเชื่อว่าอำนาจในมือตนอยู่คู่ฟ้า

    ท้ายที่สุดเขาก็จากโลกไป เหมือนดอกไม้ที่ร่วงปลิวเพราะสายลมแห่งกาลเวลา

    10/10 
    ฉายทาง Disney+

    วินทร์ เลียววาริณ 24-4-24

    ......................
    วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 30
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    สัปดาห์ที่ผ่านมา คีย์บอร์ดของผมเสีย ทำให้งานสะดุด เพราะไม่คุ้นชินกับคีย์บอร์ดสมัยใหม่ที่คีย์หนึ่งที ได้อักษรสองตัวเสมอ

    ผู้อ่านหลายคนเสนอมอบคีย์บอร์ดที่ตนมี บางคนจะขนจากต่างประเทศมาให้ ก็ขอบคุณน้ำใจของเขาเหล่านั้น รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

    เมื่อวานนี้ผมได้รับคีย์บอร์ดจากผู้อ่านคนหนึ่งแล้ว และเริ่มคีย์งานชุด 'เป่ย' ทันที

    โลกโซเชียลมีบางด้านที่จมในเงามืด แต่ก็มีด้านที่หันเข้าหาแสงสว่างเช่นกัน มันทำให้โลกสว่างขึ้น ก็ขอบคุณแสงสว่างนั้นที่ทำให้มีกำลังใจเดินหน้าต่อไปได้

    ว.ล.
    24-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 25
  • วินทร์ เลียววาริณ
    3 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้คุยเรื่องอากาศหนาวที่อเมริกากับอพาร์ตเมนต์ที่ผมเช่ายิวไชล็อกอยู่ ทำให้นึกได้ว่าผมยังมีประสบการณ์ไม่ค่อยน่าจดจำอีกสองเรื่อง

    เรื่องแรกคืออากาศหนาวทำให้ผมป่วย ไอรุนแรงเป็นอาทิตย์ จนทนไม่ได้ต้องไปหาหมอ หมอไม่ตรวจอะไรมากมาย แค่สั่งจ่ายยาแก้ไอแบบแรงๆ ให้ไปซื้อที่ร้าน

    มานึกย้อนหลัง อาการน่าจะเป็นปอดบวม

    เรื่องที่สอง ผมบ่นว่าหนาวๆ ได้ไม่นาน ก็มีคนใจดีมอบความอุ่นให้

    คืนหนึ่งนอนอยู่ดีๆ ควันโขมงไปทั้งอพาร์ตเมนต์ เพราะชั้นล่างอพาร์ตเมนต์เป็นร้านพิซซา ร้านปิดแล้ว แต่ไฟยังติดอยู่

    ผมกับเพื่อนเป็นสองคนสุดท้ายในตึกที่เผ่นหนีตายลงมาสี่ชั้นโดยมองไม่เห็นทางเลย ออกมาก็พบว่าทุกคนและรถดับเพลิงรออยู่ชั้นล่างเรียบร้อยแล้ว

    คล้ายๆ ฉากจบในหนังฝรั่งแนวหายนะหลายเรื่อง

    ที่เราลงมาช้าเพราะรู้ช้า ที่รู้ช้าเพราะไม่มีใครตะโกนบอกว่าไฟไหม้ ฝรั่งที่อยู่ชั้นบนรู้ก่อน ก็วิ่งผ่านห้องผมไปโดยไม่เรียกสักคำ

    ชีวิตที่นิวยอร์ก ตัว who ตัว it จริงๆ

    อพาร์ตเมนต์ที่ผมอยู่ ตอนหนาวก็หนาวจัด ตอนร้อนก็ร้อนเฉียดตาย

    ชีวิตท่อนนี้ต้องเปิดเพลง New York, New York (เสียงร้องของ แฟรงก์ สินาตรา ต้นตำรับ) ประกอบ

    "And if I can make it there
    I'm gonna make it anywhere
    It's up to you
    New York, New York"

    วินทร์ เลียววาริณ
    23-4-24

    1
    • 0 แชร์
    • 53