• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ผมเขียนหนังสือแนวเสริมกำลังใจมาครบ 20 ปีพอดีแล้ว จำนวน 20 เล่มพอดีเช่นกัน

    มันเริ่มมาจากผมตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพในปี 2547 หลังจากเป็นนักเขียนไซด์ไลน์มาราว 16-17 ปี ไหนๆ จะเปิดตัว ก็ต้องเปิดเว็บไซต์สื่อสารกับผู้อ่าน

    เมื่อมีเว็บไซต์ ก็ปล่อยให้ว่างไม่ได้ ต้องเขียนอะไรสักอย่างปะหน้าเว็บต่อเนื่อง เพื่อให้เว็บมีความเคลื่อนไหว

    และต้องเขียนเรื่องที่จบในตอน ไม่ยาวเกินไป

    เป็นที่มาของบทความเสริมกำลังใจ

    ความจริงงานเขียนปะหน้าเว็บตลอด 20 ปีนี้ไม่ใช่บทความเสริมกำลังใจล้วนๆ มันรวมเรื่องความคิด มุมมองต่อโลก ปรัชญา และเกร็ดสารพัด

    ผมโปรแกรมตัวเองให้เขียนสัปดาห์ละเรื่อง โพสต์ลงทุกวันเสาร์เช้า ไม่รู้ว่าจะทำได้นานเท่าไร

    แต่ก็ทำมา 20 ปีแล้ว ไม่เคยขาดตอน ยกเว้นมีเรื่องฉุกเฉินจริงๆ แสดงว่าอึดพอประมาณ

    พอเขียนเสร็จจำนวนหนึ่ง ก็รวมเล่ม เล่มแรกคือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง

    ตามมาด้วยเล่มที่ 2 3 4... จนถึง 20 ตั้งชื่อชุดว่า winspiration เอ้อ! ใช้ภาษาฝาหรั่งด้วยแน่ะ!

    ราวกับเป็นนกรู้ว่าจะต้องเขียนนาน หน้าแรกของหนังสือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง ผมยกคำของเล่าจื้อว่า "การเดินทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก"

    หลังจากเดินมาหลายพันลี้กับหนังสือ 20 เล่ม ก็พบว่ายังไปไม่ถึงหมื่นลี้

    'หมื่นลี้' สำหรับผมหมายถึงวันตาย คือลี้หายตายจาก เพราะยังไม่เห็นวี่แววว่า (อยาก) จะหยุดเขียนเมื่อไร

    อาจจะอ้างว่ายังมีข้าวต้องซื้อ ผงซักฟอกต้องจับจ่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นพวกเสพติดงานเขียน

    สำหรับนักเขียนที่เป็นโรค workaholic หมื่นลี้คงไม่มาถึงง่ายๆ

    วินทร์ เลียววาริณ
    เมษายน 2567
    ปีที่ 20 @winspiration

    0
    • 0 แชร์
    • 9
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ผู้อ่านอาจสังเกตว่าในโพสต์ก่อน ผมอ้างอิงบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว CNN และ Al Jazeera

    สองสำนักข่าวนี้มักเสนอข่าวคนละเรื่องเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นการคานความคิดกัน

    ผมอ่านข่าวจากหลายสำนัก CNN, BBC, The New York Times ฯลฯ บางสำนักยุโรป เช่น Reuters ทางฝั่งเอเชียก็อ่าน The Straits Times ของสิงคโปร์ที่มักอ้างรอยเตอร์ส รวมถึงสำนักข่าวจีน เช่น China Daily, XinHua และ The South China Morning Post ของฮ่องกง

    ผมอ่านแบบวิเคราะห์เสมอ จึงเห็นว่าหลายสำนักเห็นไม่ตรงกัน และมีวิธีเสนอข่าวต่างกัน บางครั้งก็ยัดเยียดแบบเนียนๆ บางรายก็แบบทื่อๆ (หลายสำนักในบ้านเราก็เสนอข่าวแบบนี้)

    ถ้าอ่านแบบนี้ก็จะมองออกเวลาบางสำนักเปลี่ยนจุดยืน ซึ่งสะท้อน 'คำสั่ง' จากผู้ให้ข่าว ยกตัวอย่าง เช่น CNN

    ในช่วงแรกของสงครามกาซา CNN ไม่รายงานความสูญเสียฝั่งปาเลสไตน์เลย ขณะที่ Al Jazeera บอกตัวเลขคนตายทุกวัน แต่หลังจากมีโพลเรื่องไบเดนคะแนนตกต่ำ เพราะชาวอเมริกันเชื้อสายตะวันออกกลางบอกว่าจะไม่เลือกไบเดนปลายปีนี้ ทันใดนั้น CNN ก็เสนอข่าวชาวปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลฆ่า ข่าวเอ็นจีโอที่ขนของไปช่วยชาวกาซาถูกฆ่าตาย ปรากฏขึ้นเกือบทุกวัน และข่าวไบเดน(เริ่ม)ด่าอิสราเอล

    การเปลี่ยนจุดยืนแบบนี้ ทำให้ต้องวิเคราะห์ว่าอาจมี 'อำนาจ' บางอย่างต้องเปลี่ยนภาพของอิสราเอล

    ดังนี้เป็นต้น

    การวิเคราะห์จึงต้องวิเคราะห์ทั้งข่าวและสำนักข่าวไปด้วย

    สำหรับสำนักข่าว Al Jazeera เป็นของตะวันออกกลาง ออกทุนส่วนหนึ่งโดยรัฐบาลกาตาร์ แต่เท่าที่อ่านข่าวโดยรวม ถือว่าเสนอข่าวแบบไม่รวมความเห็นแทรกในข่าว (ยกเว้นบทความที่ไม่ถือว่าเป็นข่าว)

    แม้แต่สำนักข่าวจีนที่เรารู้ว่าถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน ก็ไม่ได้แปลว่าข่าวที่เสนอใช้ไม่ได้
    เพียงแต่เราต้องอ่านอย่างระวัง และแยกแยะให้ออกระหว่างข่าวกับโฆษณาชวนเชื่อ (อย่าลืมว่าแม้แต่ CNN ก็มีโฆษณาชวนเชื่อ)

    เมื่อมองข่าวหลายสำนัก หลายขั้ว หลายค่าย เราก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นบนโลกวุ่นวายใบนี้

    ไม่มีสำนักข่าวใดดีที่สุด เราต้องอ่านให้เป็น

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 26
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เมื่อญี่ปุ่นจู่โจมฐานทัพเรือ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อ 83 ปีก่อนนั้น สหรัฐฯเพิ่งรู้ตัวเมื่อฝูงบินญี่ปุ่นมาถึงหน้าบ้านแล้ว ถึงเวลานั้นก็แก้ไขไม่ทัน

    แต่เหตุการณ์ขีปนาวุธและโดรนอิหร่านที่โจมตีอิสราเอลเมื่อสองวันก่อนต่างกันโดยสิ้นเชิง

    ดูเหมือนว่าอิหร่านตั้งใจโจมตีแบบให้คนตายน้อยที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือ โชว์แสนยานุภาพมากกว่าจะฆ่าจริง เพราะการส่งขีปนาวุธและโดรนระยะทางหนึ่งพันไมล์ ระยะเวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง ทำให้สหรัฐฯและอิสราเอลเห็นแต่ไกล และมีเวลาหลายชั่วโมงเตรียมตั้งรับ

    ขีปนาวุธและโดรนแทบทั้งหมดยิงมาจากอิหร่านที่อยู่ไกลออกไป แทนที่จะยิงจากดินแดนที่ตนมีอิทธิพลใกล้อิสราเอล เช่น ซีเรีย เลบานอน เยเมน อิรัก เพื่อให้ศัตรูตั้งตัวไม่ทัน

    ขีปนาวุธและโดรน 99 เปอร์เซ็นต์ที่จู่โจมถูกยิงทิ้งหมด

    ปฏิบัติการแก้แค้นของอิหร่านครั้งนี้ดูเหมือนออกแบบมาให้แพ้

    ยิงเสร็จก็ประกาศว่า "แก้แค้นสำเร็จแล้ว" และขู่ว่าอย่าแก้แค้นการแก้แค้นล่ะ

    เรื่องนี้ไม่น่าที่อิสราเอลและสหรัฐฯจะวิเคราะห์ไม่ออก อิหร่านยังไม่พร้อมทำสงครามใหญ่ แต่หากไม่แก้แค้น จะดูเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ชาวอิหร่านจะไม่พอใจ

    หลายปีก่อน สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี สั่งฆ่านายพลอิหร่าน Qassem Soleimani
    ในเดือนกมกราคม 2020 อิหร่านก็ 'แก้แค้น' โดยยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐฯ แต่ให้เวลาเตือนสิบชั่วโมงล่วงหน้า พอให้อเมริกันเตรียมตัว

    เหมือนแก้แค้นพอเป็นพิธี

    ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านยังไม่อยากทำสงครามใหญ่ เพราะไม่คุ้ม แต่อิสราเอลอยากให้ทั้งสองฝ่ายรบกัน การถล่มสถานทูตอิหร่านน่าจะเป็นหมากยั่วยุ

    ไบเดนบอกอิสราเอลว่า ให้ถือว่าการต้านรับขีปนาวุธและโดรน 99 เปอร์เซ็นต์ครั้งนี้คือชัยชนะ และควรจบแค่นี้

    แต่อิสราเอลที่อยากรบเต็มทีจะฟังหรือ เพราะการโจมตีของอิหร่าน "ตรงตามแผน" และสามารถใช้การโจมตีครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโจมตีอิหร่านต่อไป ตามสัญชาตญาณดิบของสัตว์สงคราม

    (เก็บความจากบทวิเคราะห์ต่างๆ โดย CNN และ Al Jazeera)

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 29
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ตั้งแต่เด็กเราได้รับการอบรมสั่งสอนให้รักเพื่อนมนุษย์ รักโลก ไม่มีการสอนให้รักตัวเอง เพราะมันมีนัยของความเห็นแก่ตัว

    ทว่าลองมองสิ่งที่เป็นไปในธรรมชาติ ทั้งหมดชี้ไปที่ว่าธรรมชาติต้องการให้เรารักตัวเองเพื่อความอยู่รอด ไม่พาตัวเองไปสู่ที่อันตราย รู้จักวิ่งหนีเมื่อเจอสัตว์ร้าย มิเช่นนั้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็สูญสิ้น

    ฝังในพันธุกรรม เรียกว่า The selfish gene เป็นกฎของธรรมชาติเพื่อให้เอาตัวรอดได้

    แต่เมื่อสายพันธุ์มนุษย์พัฒนาความรู้สึกอารมณ์ละเอียดอ่อนขึ้น ความรักตัวเองจึงกลายเป็น ‘ความเห็นแก่ตัว’

    ความเห็นแก่ตัวหรือทำตามใจชอบ จอดรถริมทางขวางรถคันอื่นเพื่อไปซื้อเงาะหนึ่งกิโล นึกจะทำผิดกฎหมายก็ทำ เหล่านี้ทำให้สังคมมนุษย์ล่มสลายได้

    ทว่าความรักตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวในบริบทนี้ ความรักตัวเองคือการให้สิ่งดี ๆ แก่ตัวเอง

    ความรักตัวเองคือดูแลร่างกายของตัวเอง ไม่กินอาหารขยะ ไม่ใส่สารพิษเข้าไป

    ความรักตัวเองคือการศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา เพิ่มทักษะ เพื่อที่จะทำงานในสังคมตามบทบาทของตัวเอง

    ความรักตัวเองคือการรักษาสภาพจิตของตัวเองให้สะอาด ไม่ใส่ขยะเข้าไปหมักหมม มองโลกในแง่ดี มองโลกด้านดี

    บางครั้งเราอยู่ในโลกอันแสนวุ่นวาย เต็มไปด้วยกติกามากมาย เราก็อาจลืมไปว่า เราเองก็มีความสำคัญพอที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ตัวเราเอง

    เราต้องดูแลตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะบางครั้งเราก็ลืมรักตัวเอง

    จากหนังสือ บางครั้งเราก็ลืมรักตัวเอง / วินทร์ เลียววาริณ

    0
    • 0 แชร์
    • 21
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    โพสต์ก่อนพูดเรื่องการแสดงจุดยืนของไทยต่อเหตุการณ์อิหร่านโจมตีอิสราเอลเมื่อวานนี้ โพสต์แล้วจึงเพิ่งเห็นข่าวการแสดงจุดยืนของผู้นำชาติต่างๆ จึงขอถอดความมาเล่า

    มาลองดูซิว่าใครว่าอะไร

    อาร์เจนตินา "เรายืนข้างอิสราเอล ต่อต้านความชั่วร้าย"

    บราซิล "เราได้เตือนชาวโลกแล้วจะจะมีเหตุการณ์แบบนี้"

    แคนาดา "ขอประณามอิหร่าน เรายืนข้างอิสราเอล"

    จีน "จีนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรักษาความสงบและเลี่ยงการขยายความตึงเครียด"

    โคลอมเบีย "การสนับสนุนของสหรัฐฯในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จุดชนวนโลก ทุกคนรู้ว่าสงครามเกิดอย่างไร ไม่ทุกคนรู้ว่าจะจบอย่างไร ถ้าเพียงชาวอิสราเอลยืนสูงเหมือนบรรพบุรุษ หยุดความบ้าคลั่งของผู้นำ"

    อียิปต์ "รู้สึกกังวลกับการขยายของความเป็นปรปักษ์" และ "อียิปต์จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อพยายามคุมสถานการณ์"

    อียู "ขอประณามอิหร่านอย่างรุนแรง"

    ฝรั่งเศส "อิหร่านกำลังก้าวไปสู่การกระทำที่ขยายความเสี่ยงทางทหาร"

    เยอรมนี "เราขอประณามการโจมตีนี้ เราสามัคคีกับอิสราเอล"

    จอร์แดน "มันนำไปสู่ทางอันตราย"

    กาตาร์ "ขอให้ทุกฝ่ายหยุดขยายเรื่องนี้"

    รัสเซีย "ขอให้ทุกฝ่ายระวังอย่าขยายผล"

    ซาอุดิอาระเบีย "ขอให้ทุกฝ่ายระวังอย่าขยายผล"

    สเปน "เรารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์"

    อังกฤษ "อิหร่านแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าตั้งใจหว่านความโกลาหลหลังบ้านของตน อังกฤษขอยืนข้างอิสราเอล"

    สหรัฐฯ "อิสเราเอลแสดงความสามารถตอบโต้การโจมตีได้ดีเยี่ยม เป็นการส่งสารไปยังศัตรูทั้งหลายว่า พวกเขาทำอะไรกับความมั่นคงของอิสราเอลไม่ได้"

    วาติกัน "เราจะสวดให้"

    จะเห็นว่าแต่ละประเทศจะใช้ภาษาทูตแสดงจุดยืนของประเทศตน บางประเทศประณามอย่างรุนแรง บางประเทศพูดกลางๆ

    นี่ทำให้นึกถึงนิทานอีสปเรื่องหนึ่ง สิงโตถามแกะว่า มันมีกลิ่นปากไหม แกะตอบว่ามี สิงโตจึงฆ่าแกะเสียฐานที่ตรงเกินไป สิงโตถามคำถามเดียวกันกับหมาป่าผู้ตอบว่าไม่ หมาป่าก็ถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ โทษฐานที่สอพลอ

    สิงโตถามหมาจิ้งจอกด้วยคำถามเดิม หมาจิ้งจอกตอบว่า "ขอโทษ ข้าฯเป็นหวัด จมูกไม่สามารถดมกลิ่นอะไรได้" หมาจิ้งจอกก็รอดตัวมา

    ช้าหรือเร็ว ก็จะมีคนถามว่ารัฐบาลไทยเห็นอย่างไร ตอบให้ดีก็แล้วกัน

    วินทร์ เลียววาริณ
    14-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 17