• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ช่วงสงกรานต์ นั่งอ่านนวนิยาย ดาวซานถี่ (Three-Body Problem) เล่ม 1 จบ

    เป็นของขวัญจากผู้อ่านท่านหนึ่งที่กรุณามอบให้

    ยังไม่สามารถคอมเมนต์ใหญ่ เพราะยังมีอีกสองเล่ม

    ความเห็นวูบแรกคือ น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่การเล่าเรื่องส่วนใหญ่ห้วนมากๆ

    สำนวนเล่าแปลกๆ ไม่แน่ใจว่าแปลตรงจากต้นฉบับอย่างนี้หรือเปล่า เพราะห้วนเหมือนบทภาพยนตร์มากกว่านวนิยาย เช่น

    บทที่ 1 ประเทศจีน ค.ศ. 1967 (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    บทที่ 2 สองปีต่อมาที่เทือกเขาต้าชิงอันหลิง (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    บทที่ 4 สามสิบแปดปีต่อมา (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    แต่นิยายมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสดใหม่ แม้จะหงุดหงิดทุกครั้งที่อ่านนิยายที่สิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวเหมือนคน

    ไว้อ่านให้จบก่อนค่อยเล่า (ถ้าอ่านจบนะ)

    ป.ล. หลังจากอ่านจบเล่ม 1 ก็เห็นว่าบทภาพยนตร์ซีรีส์ Three-Body Problem ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดตอนแรกมาก อย่างน้อยความห้วนก็หายไป

    0
    • 0 แชร์
    • 10
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    โพสต์ก่อนเล่าว่าผมเขียนหนังสือแนวเสริมกำลังใจไป 20 เล่ม บางคนอาจรู้สึกว่ามาก แต่มันไม่ใช่แนวที่ผมเขียนมากที่สุด เป็นแค่หนึ่งในห้าของหนังสือที่ผมเขียน

    ที่มากกว่าแนวกำลังใจคือแนววรรณกรรม ได้แก่รวมเรื่องสั้นกับนวนิยาย จนถึงวันนี้ก็เขียนไปแล้ว 25 เล่ม

    รางวัลแทบทั้งหมดที่ได้ก็มาจากตระกูลนี้

    แต่มันก็ไม่ใช่แนวที่เขียนมากที่สุดเช่นกัน

    แนวที่เขียนมากที่สุดน่าจะเป็นสารคดีด้านต่างๆ ราว 30 เล่ม

    แนวประวัติศาสตร์กับแนววิทยาศาสตร์ก็ไม่น้อย อย่างละราว 10 เล่ม

    แนวนักสืบ 9 เล่ม

    แค่ร้อยกว่าเล่มก็หืดขึ้นคอ ไม่รู้ท่าน ไอแซค อสิมอฟ เขียนได้ยังไงตั้ง 500 เล่มในระยะเวลา 50 ปี เท่ากับปีละ 10 เล่ม

    อ้อ! ในงานหนังสือที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายคนมาถามว่า คุณพุ่มรักตายไปแล้วหรือไร หรือว่าถูกมนุษย์ต่างดาวจับไป

    ก็สัญญาว่า เขียนนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้เสร็จ จะรีบลงประกาศตามคุณพุ่มรักกลับมา

    ที่บ้านให้อภัยหมดแล้ว

    วินทร์ เลียววาริณ
    16-4-24

    (อ่านโพสต์ก่อน https://www.facebook.com/photo/?fbid=1024129909075700&set=a.208269707328395)

    0
    • 0 แชร์
    • 9
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ผมเขียนหนังสือแนวเสริมกำลังใจมาครบ 20 ปีพอดีแล้ว จำนวน 20 เล่มพอดีเช่นกัน

    มันเริ่มมาจากผมตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพในปี 2547 หลังจากเป็นนักเขียนไซด์ไลน์มาราว 16-17 ปี ไหนๆ จะเปิดตัว ก็ต้องเปิดเว็บไซต์สื่อสารกับผู้อ่าน

    เมื่อมีเว็บไซต์ ก็ปล่อยให้ว่างไม่ได้ ต้องเขียนอะไรสักอย่างปะหน้าเว็บต่อเนื่อง เพื่อให้เว็บมีความเคลื่อนไหว

    และต้องเขียนเรื่องที่จบในตอน ไม่ยาวเกินไป

    เป็นที่มาของบทความเสริมกำลังใจ

    ความจริงงานเขียนปะหน้าเว็บตลอด 20 ปีนี้ไม่ใช่บทความเสริมกำลังใจล้วนๆ มันรวมเรื่องความคิด มุมมองต่อโลก ปรัชญา และเกร็ดสารพัด

    ผมโปรแกรมตัวเองให้เขียนสัปดาห์ละเรื่อง โพสต์ลงทุกวันเสาร์เช้า ไม่รู้ว่าจะทำได้นานเท่าไร

    แต่ก็ทำมา 20 ปีแล้ว ไม่เคยขาดตอน ยกเว้นมีเรื่องฉุกเฉินจริงๆ แสดงว่าอึดพอประมาณ

    พอเขียนเสร็จจำนวนหนึ่ง ก็รวมเล่ม เล่มแรกคือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง

    ตามมาด้วยเล่มที่ 2 3 4... จนถึง 20 ตั้งชื่อชุดว่า winspiration เอ้อ! ใช้ภาษาฝาหรั่งด้วยแน่ะ!

    ราวกับเป็นนกรู้ว่าจะต้องเขียนนาน หน้าแรกของหนังสือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง ผมยกคำของเล่าจื้อว่า "การเดินทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก"

    หลังจากเดินมาหลายพันลี้กับหนังสือ 20 เล่ม ก็พบว่ายังไปไม่ถึงหมื่นลี้

    'หมื่นลี้' สำหรับผมหมายถึงวันตาย คือลี้หายตายจาก เพราะยังไม่เห็นวี่แววว่า (อยาก) จะหยุดเขียนเมื่อไร

    อาจจะอ้างว่ายังมีข้าวต้องซื้อ ผงซักฟอกต้องจับจ่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นพวกเสพติดงานเขียน

    สำหรับนักเขียนที่เป็นโรค workaholic หมื่นลี้คงไม่มาถึงง่ายๆ

    วินทร์ เลียววาริณ
    เมษายน 2567
    ปีที่ 20 @winspiration

    0
    • 0 แชร์
    • 11
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ผู้อ่านอาจสังเกตว่าในโพสต์ก่อน ผมอ้างอิงบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว CNN และ Al Jazeera

    สองสำนักข่าวนี้มักเสนอข่าวคนละเรื่องเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นการคานความคิดกัน

    ผมอ่านข่าวจากหลายสำนัก CNN, BBC, The New York Times ฯลฯ บางสำนักยุโรป เช่น Reuters ทางฝั่งเอเชียก็อ่าน The Straits Times ของสิงคโปร์ที่มักอ้างรอยเตอร์ส รวมถึงสำนักข่าวจีน เช่น China Daily, XinHua และ The South China Morning Post ของฮ่องกง

    ผมอ่านแบบวิเคราะห์เสมอ จึงเห็นว่าหลายสำนักเห็นไม่ตรงกัน และมีวิธีเสนอข่าวต่างกัน บางครั้งก็ยัดเยียดแบบเนียนๆ บางรายก็แบบทื่อๆ (หลายสำนักในบ้านเราก็เสนอข่าวแบบนี้)

    ถ้าอ่านแบบนี้ก็จะมองออกเวลาบางสำนักเปลี่ยนจุดยืน ซึ่งสะท้อน 'คำสั่ง' จากผู้ให้ข่าว ยกตัวอย่าง เช่น CNN

    ในช่วงแรกของสงครามกาซา CNN ไม่รายงานความสูญเสียฝั่งปาเลสไตน์เลย ขณะที่ Al Jazeera บอกตัวเลขคนตายทุกวัน แต่หลังจากมีโพลเรื่องไบเดนคะแนนตกต่ำ เพราะชาวอเมริกันเชื้อสายตะวันออกกลางบอกว่าจะไม่เลือกไบเดนปลายปีนี้ ทันใดนั้น CNN ก็เสนอข่าวชาวปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลฆ่า ข่าวเอ็นจีโอที่ขนของไปช่วยชาวกาซาถูกฆ่าตาย ปรากฏขึ้นเกือบทุกวัน และข่าวไบเดน(เริ่ม)ด่าอิสราเอล

    การเปลี่ยนจุดยืนแบบนี้ ทำให้ต้องวิเคราะห์ว่าอาจมี 'อำนาจ' บางอย่างต้องเปลี่ยนภาพของอิสราเอล

    ดังนี้เป็นต้น

    การวิเคราะห์จึงต้องวิเคราะห์ทั้งข่าวและสำนักข่าวไปด้วย

    สำหรับสำนักข่าว Al Jazeera เป็นของตะวันออกกลาง ออกทุนส่วนหนึ่งโดยรัฐบาลกาตาร์ แต่เท่าที่อ่านข่าวโดยรวม ถือว่าเสนอข่าวแบบไม่รวมความเห็นแทรกในข่าว (ยกเว้นบทความที่ไม่ถือว่าเป็นข่าว)

    แม้แต่สำนักข่าวจีนที่เรารู้ว่าถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน ก็ไม่ได้แปลว่าข่าวที่เสนอใช้ไม่ได้
    เพียงแต่เราต้องอ่านอย่างระวัง และแยกแยะให้ออกระหว่างข่าวกับโฆษณาชวนเชื่อ (อย่าลืมว่าแม้แต่ CNN ก็มีโฆษณาชวนเชื่อ)

    เมื่อมองข่าวหลายสำนัก หลายขั้ว หลายค่าย เราก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นบนโลกวุ่นวายใบนี้

    ไม่มีสำนักข่าวใดดีที่สุด เราต้องอ่านให้เป็น

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 29
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เมื่อญี่ปุ่นจู่โจมฐานทัพเรือ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อ 83 ปีก่อนนั้น สหรัฐฯเพิ่งรู้ตัวเมื่อฝูงบินญี่ปุ่นมาถึงหน้าบ้านแล้ว ถึงเวลานั้นก็แก้ไขไม่ทัน

    แต่เหตุการณ์ขีปนาวุธและโดรนอิหร่านที่โจมตีอิสราเอลเมื่อสองวันก่อนต่างกันโดยสิ้นเชิง

    ดูเหมือนว่าอิหร่านตั้งใจโจมตีแบบให้คนตายน้อยที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือ โชว์แสนยานุภาพมากกว่าจะฆ่าจริง เพราะการส่งขีปนาวุธและโดรนระยะทางหนึ่งพันไมล์ ระยะเวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง ทำให้สหรัฐฯและอิสราเอลเห็นแต่ไกล และมีเวลาหลายชั่วโมงเตรียมตั้งรับ

    ขีปนาวุธและโดรนแทบทั้งหมดยิงมาจากอิหร่านที่อยู่ไกลออกไป แทนที่จะยิงจากดินแดนที่ตนมีอิทธิพลใกล้อิสราเอล เช่น ซีเรีย เลบานอน เยเมน อิรัก เพื่อให้ศัตรูตั้งตัวไม่ทัน

    ขีปนาวุธและโดรน 99 เปอร์เซ็นต์ที่จู่โจมถูกยิงทิ้งหมด

    ปฏิบัติการแก้แค้นของอิหร่านครั้งนี้ดูเหมือนออกแบบมาให้แพ้

    ยิงเสร็จก็ประกาศว่า "แก้แค้นสำเร็จแล้ว" และขู่ว่าอย่าแก้แค้นการแก้แค้นล่ะ

    เรื่องนี้ไม่น่าที่อิสราเอลและสหรัฐฯจะวิเคราะห์ไม่ออก อิหร่านยังไม่พร้อมทำสงครามใหญ่ แต่หากไม่แก้แค้น จะดูเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ชาวอิหร่านจะไม่พอใจ

    หลายปีก่อน สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี สั่งฆ่านายพลอิหร่าน Qassem Soleimani
    ในเดือนกมกราคม 2020 อิหร่านก็ 'แก้แค้น' โดยยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐฯ แต่ให้เวลาเตือนสิบชั่วโมงล่วงหน้า พอให้อเมริกันเตรียมตัว

    เหมือนแก้แค้นพอเป็นพิธี

    ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านยังไม่อยากทำสงครามใหญ่ เพราะไม่คุ้ม แต่อิสราเอลอยากให้ทั้งสองฝ่ายรบกัน การถล่มสถานทูตอิหร่านน่าจะเป็นหมากยั่วยุ

    ไบเดนบอกอิสราเอลว่า ให้ถือว่าการต้านรับขีปนาวุธและโดรน 99 เปอร์เซ็นต์ครั้งนี้คือชัยชนะ และควรจบแค่นี้

    แต่อิสราเอลที่อยากรบเต็มทีจะฟังหรือ เพราะการโจมตีของอิหร่าน "ตรงตามแผน" และสามารถใช้การโจมตีครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโจมตีอิหร่านต่อไป ตามสัญชาตญาณดิบของสัตว์สงคราม

    (เก็บความจากบทวิเคราะห์ต่างๆ โดย CNN และ Al Jazeera)

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 32