• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    สังคมอเมริกันป่วยหนักมานาน ด้วยปัญหาความรุนแรงในบ้านตนเอง กับปัญหาการก่อสงครามในบ้านคนอื่นทุกมุมโลก

    แต่สหรัฐฯก็ยังคงรับบทบาทตำรวจโลกและเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม และ American Dream

    จุดยืนของอเมริกาคือต่อต้านรัฐประหารทุกชนิด (ยกเว้นที่ได้รับอนุญาตจากวอชิงตัน เช่น เวียดนามใต้ยุคสงครามเวียดนาม) แต่ในวันที่ 6 มกราคม 2021 คนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ผู้เพิ่งแพ้เลือกตั้ง พยายามก่อรัฐประหารยึดเมืองหลวง

    คนพวกนี้ถูกจับเข้าคุกหมด อ้อ! พูดผิด เกือบหมด ขาดไปหนึ่งคนคืออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูเหมือนจะได้กลับมาเป็นใหญ่อีกรอบ และประกาศว่าจะนิรโทษกรรมพวกก่อการกลุ่มนี้

    เปล่า นี่ไม่ใช่พล็อตหนังเรื่องใหม่ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ เรื่อง Civil War ที่กำลังฉายตอนนี้ แค่บอกว่า แม้แต่สหรัฐฯก็เกิดรัฐประหารได้

    ดังนั้นพล็อตเรื่องการเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ จึงมิใช่เรื่องเพ้อฝันหรือแฟนตาซีหลุดโลกแต่อย่างไร

    และนี่ก็คือแกนกลางของหนังเรื่อง Civil War

    อเล็กซ์ การ์แลนด์ เป็นนักเขียนบทที่ผันมากำกับหนัง และทำได้ดี เขาเป็นคนเขียนบท 28 Days Later, 28 Weeks Later, Sunshine ต่อมาทำหนังเอง ได้แก่ Ex Machina, Annihilation ซึ่งดีทั้งคู่

    หนังใหม่ล่าสุดของเขา Civil War พูดถึงสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯแบบไม่อธิบายว่าทำไม แต่ฉายผลลัพธ์ของมันเป็นภาพ ผ่านตัวละครช่างภาพสงคราม

    นี่ไม่ใช่หนังแอ็คชั่น ไม่ฉายวีรกรรมของวีรบุรุษสงครามอย่างที่หนังฮอลลีวูดชอบทำ ไม่มีแรมโบ้ มีแต่คนที่พยายามมีชีวิตรอดจากผลกระทบสงคราม

    ความจริงมันเหมือนรวม 28 Days Later เข้ากับ Apocalypse Now ราวกับยกสงครามเวียดนามมาไว้ที่สหรัฐฯ

    สงครามที่ยูเครนกับกาซาที่กำลังดำเนินอยู่นาทีนี้ ชาวโลกเห็นสภาพบ้านแตก เมืองป่นปี้จากมือถือในร้านกาแฟติดเครื่องปรับอากาศเย็นๆ แต่เราไม่มีทางรู้แบบสัมผัสได้ จนกระทั่งมันเกิดขึ้นในเมืองของเรา และกระทบชีวิตเรา

    Civil War ทำงานอย่างนั้น Show - not tell.

    แม้จะเปลี่ยนแนว แต่ฝีมือ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ไม่ตก

    หนังเดินเอื่อยๆ แต่ทุกองค์ประกอบมีเหตุผลและสะท้อนจุดใดจุดหนึ่งของโลก หนังไม่บอกว่าอะไรถูกหรือผิด แค่แสดงให้ดู หนังฉายความบ้าคลั่ง ความบิดเบี้ยวของผู้คน เสียดสี แสบสันต์อย่างเงียบๆ

    ฉายสงครามในอีกด้านหนึ่ง บางทีปิศาจสงครามในวอชิงตัน หรือไซออนนิสต์ ดูแล้ว อาจลดความกระหายสงครามลงบ้าง

    จุดเยี่ยมของหนังคือไคลแม็กซ์ ด้วยประโยค “Yeah, that'll do.” คมคายและแสบไปถึงทรวง

    9.5/10
    ฉายในโรงภาพยนตร์

    วินทร์ เลียววาริณ 20-4-24

    ......................
    วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 13
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้คุยเรื่องตึกสูง มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดีครับ เป็นการถกที่เปิดมุมมองดี

    ก็ขอขยายความต่ออีกนิด เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรม

    นักศึกษาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมจะได้ยินคาถาศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ปีแรกว่า "Form follows function." แปลว่าให้ออกแบบตึกตามหน้าที่ใช้สอย

    เช่น เจ้าของบ้านสามีภรรยาใช้ห้องน้ำแยก ก็ต้องออกแบบเป็นสองห้องน้ำที่เชื่อมกับห้องนอน ถ้าเจ้าของบ้านไม่ใช้อ่างอาบน้ำ ก็ไม่ต้องใส่อ่างเข้าไป ไม่ว่าจะเท่แค่ไหน

    ถ้าสร้างบ้านในเขตร้อน ก็ไม่เปิดช่องแสงทิศตะวันตก เพราะทำให้บ้านร้อน ถ้าฝนตกแรง ก็ต้องทำชายคากว้าง

    แต่กระนั้นสถาปนิกไม่น้อยที่อาจได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ตั้งธงในใจว่าอยากสร้างบ้านกระจกในเมืองไทยที่ร้อนจัด ผลก็คือต้องติดเครื่องปรับอากาศและรับมือน้ำฝนที่รั่วซึมเข้ามา

    เท่ แพง และอยู่ไม่สบาย

    ก็มาถึงเรื่องสร้างตึกสูงที่สุดในโลกในประเทศไทย

    ถ้าหน้าที่ใช้สอยของโครงการนั้นจำเป็นต้องสร้างสูงขนาดนั้น เช่น มนุษย์ต่างดาวบุกโลกทิ้งระเบิดนิวตรอน ทำให้แผ่นดินเมืองไทยหดเล็กลงล้านเท่า เหลือแผ่นดินเล็กนิดเดียว จำเป็นต้องขึ้นสูง หรือเพราะชั้นบนของตึกสามารถรับพลังศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อายุยืนขึ้นร้อยปี อย่างนี้ก็ควรรีบสร้าง

    แต่การสร้างตึกสูงที่สุดในโลกที่นักการเมืองวางนโยบายนี้ ดูเหมือนเป็นการให้คำตอบก่อนตั้งคำถาม

    เป็น preconceived idea ว่า ตึกสูงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ หรือชาวโลกสนใจ หรือต้องการชื่อเสียง ต้องการการยอมรับในกินเนสบุ๊ค

    สมัยผมเป็นเด็ก หาดใหญ่มีโรงแรมสร้างใหม่สูง 7 ชั้น ชื่อโรงแรมคิงส์ เป็นตึกเดียวในภาคใต้ที่มีลิฟต์ ทันใดนั้นมันก็กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในภาคใต้ ทุกคนต้องไปเที่ยวชม แต่ไม่นานคนก็เบื่อ เพราะมีตึกใหม่ที่สูงกว่า

    ครั้งที่ศูนย์การค้าไทยไดมารูติดตั้งบันไดเลื่อน ใครๆ ก็ไปเยือนห้าง เพื่อลองใช้บันไดเลื่อน ไม่นานก็ไม่มีใครสนใจ

    ของแบบนี้เห่อได้ชั่วคราว แต่ศิลปะวัฒนธรรมเช่นเมืองน้อยในญี่ปุ่นที่ไม่มีตึกสูง ดึงคนไปเที่ยวได้ตลอดเวลา

    อาคารสูงในสมัยก่อนหรือสมัยโบราณ ไม่ได้ตั้งธงว่าจะทำสูงที่สุดในโลก เพราะไม่มีอะไรให้เปรียบหรือแข่งขัน เช่น พีระมิด ไอเฟล หอเอนปิซา ฯลฯ มันสูงของมันในสมัยที่สร้าง บางที่อาจตั้งใจให้สูงเพื่อจะสามารถ "เอื้อมมือเกาตีนพระเจ้า" แต่คุณค่าของมันในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ความสูง

    สมัยเรียนสถาปัตย์ฯ อาจารย์สอนเสมอว่า เส้นนอนดีกว่าเส้นตั้ง โดยเฉพาะในเมืองไทย แผ่นดินกว้างขวาง ไม่ใช่เกาะแมนฮัตตัน เราไม่มีเหตุผลที่จะสร้างตึกสูง และโดยหน้าที่ใช้สอย ก็ไม่มีเหตุผลสร้างตึกกระจกทั้งแท่ง

    สถาปนิกที่มีสำนึกเรื่องความงาม ต่างไม่ชอบตึกสูงเป็นแท่งโด่เด่ พวกเขาเห็นว่าการสร้างตึกต้องให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม พวกเขาเห็๋นว่าใครที่สร้างบ้านสร้างตึกโดดออกมา น่าจะมีปมด้อย ไม่มีอะไรดี จึงต้องอวดด้วยวัตถุ

    หลายสิบปีก่อน หลังจากปรากฏแท่งคอนโดสูงหลายสิบชั้นบนเส้นขอบฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีคนรณรงค์เรี่ยไรเงินมาซื้อตึกเพื่อทุบออกครึ่งหนึ่ง เพราะแท่งตึกนี้ (แม้จะออกแบบสวย) ทำลายเส้นขอบฟ้าโดยสิ้นเชิง จัดเป็นทัศนอุจาดในคำจำกัดความของอาจารย์แสงอรุณ

    กรอบคิดของนักการเมืองบ้านเรามักวนอยู่ที่เปลือก เราจึงคิดเพียงแค่สร้างตึกสูงที่สุด แข่งสวมกางเกงช้างมากที่สุด สาดน้ำสงกรานต์นานที่สุด

    และอยู่เป็นรัฐบาลให้ยาวนานที่สุด

    ป.ล. พอแค่นี้ดีกว่า ผมชักบ่นมากไปแล้ว กลัวจะได้รับตำแหน่งคนที่ขี้บ่นที่สุดในโลก

    วินทร์ เลียววาริณ
    20-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 14
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ลีกวนยูสร้างชาติอย่างไร ตอนใหม่ กุนซือของลีกวนยู คลิกลิงก์ https://www.blockdit.com/posts/661f7b808d4a6b4a8599920c 

    0
    • 0 แชร์
    • 6
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เห็นข่าววันนี้แล้วนึกถึงอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร

    เป็นอาจารย์ผมที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

    เล่าข่าวก่อน

    วันนี้มีข่าวผู้นำไทยปรึกษาตัวแทน EMAAR Group ผู้สร้างตึก Burj Khalifa (ตึกสูงที่สุดในโลกปัจจุบัน) วางแผนสร้างตึกสูงที่สุดในโลกในประเทศไทย ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงแรม และศูนย์บันเทิงครบวงจร เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

    เฮ้อ! ท่องเที่ยวอีกแล้ว!

    วิธีคิดแบบ "ต้องทำอะไรใหญ่ๆ" นี่ อย่าว่าแต่ผู้นำประเทศเลย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็น

    ปีหนึ่งผู้บริหารจุฬาฯมีมติสร้างเสาธงสูงที่สุดในประเทศ อาจารย์แสงอรุณพูดกับพวกเรานิสิตในชั้นเรียนวันหนึ่งว่า แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลับไปยึดติดที่เปลือก

    ถ้ายังไปยึดกับขนาดและปรัชญา "ที่สุดในประเทศ" และ "ที่สุดในโลก" ก็แสดงว่ามีปมด้อย

    มีแต่คนที่มีปมด้อยจึงชอบสร้างของสูงที่สุด ใหญ่ที่สุด

    จะสร้างสูงแค่ไหน? สูงขนาดสามารถเอื้อมมือไปเกาตีนพระเจ้างั้นหรือ (นี่เป็นสำนวนอาจารย์แสงอรุณ กวน-T ไม่เบา!)

    อาจารย์แสงฯเป็นสถาปนิก ศิลปิน นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และนักปรัชญา ชื่นชมวิถีเซน และเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเซน

    เซนไม่ชอบทำอะไรที่โฉ่งฉ่าง ผิดธรรมชาติ หรือสร้างอีโก้

    ผมจดจำวิธีมองโลกแบบนี้มาจนทุกวันนี้ และยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นด้วย

    สร้างใหญ่ที่สุด-สูงที่สุดแล้ว ก็มีคนสร้างใหญ่กว่าสูงกว่าเสมอ ไม่เคยสิ้นสุด

    เราควรสอนเด็กให้รู้จักความงามของความพอดี ไม่ใช่ความใหญ่

    ไม่งั้นเด็กโตขึ้นก็จะกลายเป็นพวกมีปมด้อย

    ยิ่งสูงก็ยิ่งเตี้ย

    ว.ล. 19-4-24

    1
    • 0 แชร์
    • 25
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ช่วงนี้ต้องเขียนหนังสือแบบโก้วเล้ง

    หรือพ.ต.ต.ประชา...พูนวิวัฒน์...เจ้าของฉายานักเขียนบรรทัดละ7บาท

    เขียนหนึ่งประโยคหรือหนึ่งวลี-ก็ย่อหน้าเลย

    ดูเหมือนยาวแต่อ่านจบเร็ว

    นักเขียนยุคก่อนรับค่าเรื่องที่ความหนาของงาน

    คิดค่าเรื่องเป็นหน้า

    หลายคนจึงเขียนแบบนี้

    ย่อหน้าถี่ๆ

    เรื่องจะได้ยาว

    อา'รงค์-วงษ์สวรรค์...เคยเล่าว่านักเขียนบางคนใช้เครื่องพิมพ์ดีดที่ให้ตัวหนังสือโตๆ...ช่องไฟห่างๆ

    พิมพ์ไม่นานก็หมดหน้ากระดาษ

    ต้นฉบับหนา...แต่เนื้อเรื่องนิดเดียว

    โรงพิมพ์ก็รู้

    แต่ก็หลับตาข้างหนึ่ง

    เพราะเห็นว่าพวกนักเขียนไม่ได้มีรายได้สูงอะไร

    นี่พอเข้าใจได้

    แต่พวกส.ส.ที่กินเงินเดือนสูงๆ...พูดเรื่องนิดเดียวให้ยาวเป็นน้ำท่วมทุ่งนี่...ไม่รู้จะว่ายังไง

    เคี้ยกเคี้ยก

    (คีย์บอร์ดเสีย...ก็ยังอุตส่าห์มีเรื่องมาเล่า)

    วินทร์...เลียววาริณ
    19-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 19