• วินทร์ เลียววาริณ
    1 ปีที่ผ่านมา

    - ตั้งไข่ประชาธิปไตย ตอน ๒ -

    ราตรีรอยต่อระหว่างวันที่ ๒๓ กับ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เรือปืนหลายลำแล่นออกจากอู่เรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเงียบเชียบ เมื่อฟ้าสาง ปืนบนเรือก็เล็งไปยังจุดสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งวังบางขุนพรหม ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

    รุ่งสางหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) นำทหารเรือห้าร้อยคนติดอาวุธ เข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นกำลังหน่วยแรกที่มาถึง

    ทหารเรือปิดถนนราชดำเนินด้านที่เชื่อมกับลานพระบรมรูปทรงม้า วางกระสอบทรายเป็นบังเกอร์ ล้อมพระที่นั่งอนันตสมาคม

    แล้วรอทหารบก

    เวลาผ่านไป ทหารบกก็ยังไม่มา

    หลวงสินธุสงครามชัยนึกหวาดในใจว่า หากทหารบกไม่มาตามนัด โทษประหารก็รออยู่ข้างหน้า

    แต่มาถึงจุดนี้แล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือก ต้องรอ

    พวกเขาเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งบนกระดานชิงอำนาจแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

    .........................

    เช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ผู้ก่อการฝ่ายทหารบกนัดหมายพบกันที่ริมทางรถไฟถนนประดิพัทธ์ เวลาตีห้า บรรดาแกนนำตื่นตั้งแต่ตีสี่

    ก่อนออกจากบ้าน พระยาพหลพลพยุหเสนาสั่งเสียกับภรรยาว่า ถ้าทำการไม่สำเร็จและต้องโทษจำคุกหรือถูกประหารชีวิต ก็ขอให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี และเป็นพยานว่า ทำการครั้งนี้มิได้หวังโค่นล้มราชวงศ์แต่อย่างใด

    พระยาทรงสุรเดชกินข้าวผัดที่เหลือจากเมื่อเย็นวาน แล้วออกจากบ้านไปกับ ร.อ. หลวงทัศนัยนิยมที่มารับ แจ้งภรรยาว่า “ไปดูการสวนสนามที่หน้าพระลาน”

    ส่วนพระประศาสน์พิทยายุทธเขียนหนังสือลาถึงภรรยา ฝากดูแลลูกหากทำการไม่สำเร็จ แล้วขับรถไปรับพระยาพหลฯที่บางซื่อ แล้วตรงไปที่จุดนัดพบเวลาตีห้า

    เมื่อทุกคนมาครบ ก็ตรงไปที่กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย อันเป็นสถานที่เก็บยานยนต์หุ้มเกราะ

    เมื่อไปถึงกรมทหารม้า พระยาทรงสุรเดชเรียกผู้บังคับการมาพบ พูดเสียงดุ ๆ ว่า “เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว คนจีนในพระนครกำลังลุกฮือ มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะรถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้”

    พลันเสียงแตรก็กังวานทั่วค่าย ทหารทั้งหมดถูกปลุกตื่นขึ้น

    “เตรียมตัวออกปฏิบัติการเดี๋ยวนี้”

    พระยาพหลฯให้ทหารตัดโซ่กุญแจคลังกระสุน แล้วลำเลียงกระสุนออกมาขึ้นรถ

    พระประศาสน์ฯพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยฯ สั่งให้ทหารขับรถถังและรถเกราะออกมา

    ปฏิบัติการยึดกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์สำเร็จตามแผนทุกประการ

    ผู้ก่อการสั่งเคลื่อนยานยนต์หุ้มเกราะ รถถัง รถขนกระสุนและปืนกลเบา ๑๕ คัน มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนทหารที่เหลือไปขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ที่พระยาฤทธิฯส่งมารับ เคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้าพร้อมกับทหารจากกรมทหารราบที่ ๑ และทหารจากกองพันทหารช่าง

    ทหารจากหน่วยต่าง ๆ ปรากฏตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้งทหารบก ทหารเรือ นักเรียนนายร้อย ทั้งที่มาจริงตามแผนและที่ถูกลวงมารวมประมาณสองพันคน

    รถถังและรถเกราะจอดเรียงปิดล้อมรอบพระบรมรูปทรงม้า ปิดถนนที่มาจากถนนศรีอยุธยา วัดเบญจมบพิตร วังปารุสกวัน

    ผบ.สั่งให้ทหารต่างหน่วยคละกันเพื่อป้องกันไม่ให้นายทหารระดับหัวหน้าสามารถสั่งการลูกน้องตัวเองได้

    คณะราษฎรมิได้ใช้ทหารรักษาวังและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ราบที่ ๑ ทหารสองหน่วยนี้ถูกปลดอาวุธในตอนเช้า รวมทั้งกองบินทหารบกทุกกอง

    กำลังคณะราษฎรเข้ายึดและควบคุมสถานที่สำคัญของราชการในกรุงเทพฯไว้ทั้งหมด ตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง วังสวนสุนันทา สถานีวิทยุที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข กรมรถไฟหลวง กรมช่างแสง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สถานีรถไฟหัวลำโพง กรมอากาศยาน

    พระยาพหลฯในเครื่องแบบทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ คาดปืนพกคอลท์ที่เอว ยืนบนรถหุ้มเกราะคันหนึ่ง อ่านประกาศคณะราษฎร ท่ามกลางประชาชนเฝ้าดูอย่างเนืองแน่น

    หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารประกาศว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงกาลสิ้นสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐอันมีรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจพระมหากษัตริย์สู่มือราษฎร

    ผู้ก่อการร้องไชโย เหล่าทหารก็ร้องไชโยตาม

    หนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของ ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล เล่าว่า เมื่อพระยาพหลฯอ่านประกาศจบแล้ว ก็มีทหารชักปืนพกชี้ทหารผู้บังคับบัญชาทีละคนว่า “จะเข้าร่วมหรือไม่?” ทุกคนก็ยกมือยอมเข้าร่วม

    ทหารมหาดเล็กคนหนึ่งชื่อ ร.ต. พุฒ หนีออกจากที่ชุมนุม ไปรายงานเหตุการณ์ให้ผู้บังคับการคือ พ.อ. พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนพระยาพหลฯซึ่งเรียนที่เยอรมนีด้วยกัน พระยาสุรเดชรณชิตก็ทำการใด ๆ ไม่ได้ เพราะรู้ช้าไป

    ต่อมาพระยาพหลฯมาเกลี้ยกล่อมพระยาสุรเดชรณชิต พระยาสุรเดชฯก็ถอดหมวกทหารออกฟาด ตอบว่า “อ้ายพจน์ กูเป็นทหารของพระจุลจอมเกล้าฯ กูไม่เสียสาบาน...”

    พระยาสุรเดชรณชิตถูกจับขังและปลดจากราชการทหาร และเสียชีวิตในเวลาไม่นานต่อมา ส่วน ร.ต. พุฒถูกยิงตายคาบ้าน

    ในเวลาเดียวกัน หน่วยจู่โจมหลายหน่วยไปจับตัวประกันสำคัญตามที่ต่าง ๆ หน่วยหนึ่งไปจับพระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก

    “เราต้องระวัง เพราะเขาพกปืนติดตัวตลอดเวลา”

    หน่วยจู่โจมเข้าไปในบ้านของพระยาสีหราชเดโชชัย กล่าวกับคนในบ้านว่า “ขอเชิญพระยาสีหราชฯไปที่กองบัญชาการ”

    “ท่านกำลังอาบน้ำอยู่”

    ทหารที่ไปจับตัวก็ตรงไปที่ห้องน้ำ เพราะเป็นเวลาที่เจ้าของบ้านไม่พกปืน เมื่อออกจากห้องน้ำ ก็ถูกจับตัวโดยละม่อม

    การจับกุมตัวประกันทั้งเจ้านายและนายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค แต่งานใหญ่ที่สุดและเสี่ยงที่สุดคือการจับตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

    .........................

    ขณะที่การชุมนุมที่หน้าพระลานดำเนินไป รถเกราะกับรถบรรทุกทหารนำโดยพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) พร้อม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และนักเรียนนายร้อยห้าสิบคน ก็ไปถึงวังบางขุนพรหม ที่ประทับของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

    “ด้านหน้าวังมีทหารหมวดหนึ่งรักษาการณ์อยู่ ถ้าบุกเข้าไปตรง ๆ จะเกิดการยิงกันแน่”

    พระประศาสน์พิทยายุทธว่า “ไปตามสารวัตรสถานีตำรวจบางขุนพรหมมานำทาง ทหารยามวังคุ้นหน้าสารวัตร คงยอมเปิดประตูให้เข้าไป”

    สารวัตรยศร้อยตำรวจโทจึงนั่งรถเกราะเข้าไปด้วยกัน เมื่อถึงประตูวัง ตำรวจวังที่รักษาการณ์อยู่เห็นสารวัตร ก็เปิดประตูให้

    เมื่อเข้าไปในเขตวังแล้ว ฝ่ายก่อการก็เคลื่อนกำลังไปที่ตำหนักใหญ่ พระยาอาษาพลนิกรที่ยืนอยู่หน้าตำหนักเห็นรถเกราะเข้ามา ก็ยิงปืนสวนไป ทหารรถเกราะยิงขู่ พระยาอาษาพลนิกรก็วิ่งหลบไป

    พระประศาสน์ฯกล่าว “พวกนั้นรู้ว่าเรามา”

    ว่าแล้วสั่งให้ทหารเตรียมสู้ และให้ตำรวจคนหนึ่งขึ้นไปกราบทูลกรมพระนครสวรรค์ฯว่าขอเข้าเฝ้า

    เมื่อไม่มีใครออกมา พระประศาสน์ฯจึงสั่งให้ทหารบุกเข้าไปด้านหลัง ถึงเรือนริมแม่น้ำ ที่นั่นกรมพระนครสวรรค์ฯในชุดกุยเฮงกำลังเสด็จลงเรืออธิบดีกรมตำรวจ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) พร้อมกำลังตำรวจราวหนึ่งร้อยนายถวายการอารักขา

    ทว่าเรือของกรมพระนครสวรรค์ฯออกไปไม่ได้ เพราะเรือรบของทหารเรือคณะราษฎรขวางอยู่ ทั้งสองฝ่ายคุมเชิงกัน ไม่ว่าใครยิงก่อน ก็นองเลือดเมื่อนั้น

    คำสั่งของผู้ก่อการชัดเจน อย่าให้เกิดเลือดตกยางออก

    พระประศาสน์พิทยายุทธเดินเข้าไปหากรมพระนครสวรรค์ฯ พระองค์ตรัสว่า “ตาวัน แกก็เป็นกบฏกับเขาด้วยรึ”

    ทันใดนั้นพระยาอธิกรณ์ฯก็ชักปืนคอลท์ ๙ มม. ขึ้นมาจะยิงพระประศาสน์พิทยายุทธ ร.อ. หลวงนิเทศกลกิจและทหารคนอื่นเห็นเข้า จึงตรงเข้าไปปลดอาวุธ

    พระประศาสน์พิทยายุทธทูลเชิญออกไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์ไม่ทรงยอมเพราะไม่รู้ว่าคณะราษฎรจะดำเนินการตามรอยพวกบอลเชวิกครั้งยึดอำนาจในรัสเซียและสังหารพระเจ้าซาร์ และจะปลงพระชนม์พระองค์หรือไม่

    ในที่สุดพระองค์ก็ทรงยินยอมให้คณะผู้ก่อการควบคุมพระองค์ เสด็จไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่เนื่องจากกรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงชุดบรรทมอยู่ ตรัสว่า “ตกลง แต่ขอฉันเปลี่ยนชุดก่อน”

    ผู้ก่อการปฏิเสธ

    กรมพระนครสวรรค์ฯก็ทรงถูกคุมพระองค์ไป ทั้งที่ยังทรงชุดบรรทมอยู่

    ความจริงกรมพระนครสวรรค์ฯทรงได้รับรายงานการก่อรัฐประหารจากอธิบดีกรมตำรวจ พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๓ มิถุนายน อธิบดีกรมตำรวจทูลถวายรายชื่อของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎร ที่คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ทรงเชื่อ  เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับบุคคลเหล่านั้นในรายชื่อเหล่านั้นดี หลายคนในรายชื่อนั้น ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเด็ก

    อธิบดีกรมตำรวจทูลเสนอให้จับกุมกลุ่มผู้ก่อการในทันที แต่พระองค์ทรงขอตัดสินพระทัยในวันรุ่งขึ้น

    ช้าเกินไป

    ผู้ก่อการไปทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯจากวัง ขึ้นรถถังไปส่งที่พระที่นั่งอนันต์ฯ

    เมื่อเสด็จไปถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม พบว่ามันกลายเป็นกองบัญชาการของคณะราษฎร ทหารเต็มไปหมด สะพายปืนกลมือยืนเรียงราย

    ร.ท. ประยูรกราบทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯเสด็จลงจากรถถัง ทรงถาม “จะเอาฉันไปไหน? อย่าเล่นสกปรกนะ”

    “จะไม่มีอันตรายใด ๆ พ่ะย่ะค่ะ”

    เสด็จในกรมพระนครสวรรค์ฯตรัสกับ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี “ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ฯบอก ฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อและทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม?”

    ร.ท. ประยูรว่า “ถ้าบิดาข้าพระพุทธเจ้าสามารถทราบได้ คงจะเศร้าใจมากพ่ะย่ะค่ะ”

    รับสั่งถาม “ใครเป็นหัวหน้า? พระองค์เจ้าบวรเดชใช่ไหม?”

    ร.ท. ประยูรทูลตอบว่า “ไม่ใช่พ่ะย่ะค่ะ”

    “แล้วใครเล่า?”

    “ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ”

    “ตาประยูร แกเป็นกบฏ โทษถึงต้องประหารชีวิต”

    ทหารหนุ่มทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นกบฏ ไม่ได้ล้มพระราชบัลลังก์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าทำการสำเร็จ ใต้ฝ่าพระบาทไม่มีอันตรายแต่ประการใดพ่ะย่ะค่ะ”

    มีรับสั่งถาม “พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร? มีความประสงค์อะไร? ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม?”

    “ใช่พ่ะย่ะค่ะ”

    ทรงนิ่งชั่วครู่ รับสั่งว่า “แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร?”

    ร.ท. ประยูรทูลว่า “อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนียพ่ะย่ะค่ะ”

    “แกอายุเท่าไร?”

    “๓๒ พ่ะย่ะค่ะ”

    “เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมาร้อยห้าสิบปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ?”

    ทหารหนุ่มทูลว่า “ก็ทรงปกครองให้ประชาชนงมงายกันตลอดมานับร้อยนับพันปี จะมาเอาดีหวังการยึดอำนาจการปกครองในวันนี้ให้ลงรูปลงรอยราบรื่นไปทีเดียว คงเป็นไปไม่ได้ คงจะต้องยึดอำนาจกันต่อไปอีกหลายยก เรื่องคอนสติติวชั่นและสภาปาลีเมนต์มันก็เริ่มกันสักวันหนึ่ง ถ้าไม่นับหนึ่งก็ไปนับสิบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานวันนี้ ยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิตพ่ะย่ะค่ะ”

    “แกเรียนอะไรมา?”

    “เรียนรัฐศาสตร์จากปารีสพ่ะย่ะค่ะ”

    “อ้อ! มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปียร์ ดันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม? ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบฏ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้”

    ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ทูลเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปภายในอาคาร พระยาพหลพลพยุหเสนามารอรับกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

    เมื่อพระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก เห็นพระยาพหลฯ ก็ตรงเข้าไปหมายชกหัวหน้าคณะราษฎร แต่ถูกกันตัวออกมา

    กรมพระนครสวรรค์วรพินิตตรัสว่า “ฉันอยากให้พวกแกลองปกครองบ้านเมืองดูบ้าง เพราะได้เล่าเรียนกันมามากแล้ว”

    .........................

    ตลอดวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหล่าทหารและพลเรือนช่วยกันกระจายข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปทั่วเมือง อ่านประกาศแถลงการณ์คณะราษฎรให้ประชาชนฟังตลอดทั้งวัน ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังอย่างเนืองแน่น

    ขณะที่กำลังฝ่ายทหารปฏิบัติการ คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนก็ขึ้นรถยนต์ แจกจ่ายใบปลิวแถลงการณ์คณะราษฎรซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียน และเริ่มกระจายเสียงทางวิทยุ ประกาศการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

    สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนแจกจ่ายแถลงการณ์ประกาศคณะราษฎร คำสั่งที่ได้รับมาคือหากทำการไม่สำเร็จ ให้ทำลายใบปลิวที่เหลือโดยทิ้งลงแม่น้ำ

    วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านไปโดยไม่เกิดการเสียเลือดเนื้อท้องฟ้าแจ่มใส ชีวิตของราษฎรดำเนินไปตามปกติ การค้าขายในตลาดมิได้รับความกระทบกระเทือนแต่อย่างไร แม้ว่าจะมีประชาชนไปมุงดูเหตุการณ์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าอย่างเนืองแน่น แต่ไม่มีเหตุร้ายในหัวเมือง ไม่มีการต่อต้าน ไม่มีใครตกใจ เสมือนหนึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ราษฎรยอมรับเหตุการณ์ในวันนั้นด้วยดี

    มันดูเหมือนเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง

    (ยังมีต่อ)

    (ย่อความจาก ตั้งไข่ประชาธิปไตย หนังสือประวัติศาสตร์ที่เราลืม)

    0
    • 1 แชร์
    • 189

บทความล่าสุด