-
วินทร์ เลียววาริณ2 เดือนที่ผ่านมา
ผมดูหนังของฉีเคอะตั้งแต่เรื่องแรกของเขา ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ คือเรื่อง The Butterfly Murders (蝶變) หนังแปลกแหวกแนวฉีกจากงานกำลังภายในทั่วไป ผมชอบจากนั้นก็ดูมาเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ยอมรับว่าเขามีลูกบ้าพอตัว
ฉีเคอะจับหนังกำลังภายในงานของกิมย้งครั้งแรกเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร ชื่อหนังที่เรารู้จักกันดีคือ เดชคัมภีร์เทวดา
ฉีเคอะกล้าหาญและแหกคอกที่เอาตังฮึงปุกป่าย (มิชายมิหญิง) มาเป็นตัวเอก และให้นักแสดงหญิงหลินชิงเสียมารับบท ถือว่าแหวกแนวมาก
หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่กิมย้งเกลียดมัน
กิมย้งรับไม่ได้ที่ฉีเคอะเอางานของเขาไป 'ตีความ' (สุภาพกว่าคำว่า 'ปู้ยี่ปู้ยำ') แบบนี้ และไม่อนุญาตให้ฉีเคอะเอาหนังสือของเขาไป 'ตีความ' อีก
ตอนนี้กิมย้งจากโลกไปแล้ว ก็ถึงคิว 'ตีความ' มังกรหยก
มังกรหยก เป็นนวนิยายเรื่องที่สามของกิมย้ง เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรม กิมย้งร่วมกับเนี่ยอู้เซ็งสร้างตระกูลวรรณกรรม (genre) ใหม่ สร้างยุทธภพแบบใหม่ขึ้นมา กิมย้งเป็นคนประดิษฐ์พรรคกระยาจกและอื่นๆ อีกมากมาย มังกรหยกเป็นหมุดหมายสำคัญของโลกหนังสือ
กิมย้งถือเป็นปรมาจารย์นิยายกำลังภายใน หรือบู๊เฮียบ (武侠)
บู๊คือการต่อสู้ วิทยายุทธ์สำนักต่าง ๆ มีทั้งเพลงมวยและเพลงอาวุธ อาวุธลับ ฯลฯ
เฮียบคือความกล้าหาญ คุณธรรม ความเสียสละ
นิยายตระกูลนี้คือการต่อสู้ในโลกสมมุติที่เรียกว่ายุทธจักร หรือบางเรื่องก็ใช้ฉากประวัติศาสตร์จริง เช่นที่กิมย้งทำ
ถ้าหลุดออกจากธรรมนูญนี้ก็คือนิยายตระกูลอื่น ไม่ใช่นิยายบู๊เฮียบ
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา การสร้างหนังกำลังภายในเริ่มแบบ old school คือการต่อสู้ด้วยวิชาต่างๆ กระโดดขึ้นหลังคาหรือยอดไม้บ้าง แต่ยังหลุดจากหลักฟิสิกส์ไม่มากนัก
ต่อมามันก็เปลี่ยนไปเป็นแฟนตาซี นั่นคือวิชาการต่อสู้พิสดารพันลึก หลุดพ้นกฎฟิสิกส์ทุกข้อ เช่น จอมยุทธ์เหาะได้ ฟาดฝ่ามือที แผ่นดินภูผาแตกกระจาย รัศมีเฮ้ากวงแผ่ไปทั่ว
นี่ไม่ใช่บู๊เฮียบแล้ว นี่คือนิยายแฟนตาซี
มังกรหยก ถูกสร้างเป็นหนังนับครั้งไม่ถ้วน เนื่องจากหนังสือมีเนื้อหายาว มีหลายมิติ ดังนั้นสามารถสร้างเป็นหนังคนละเรื่องกันได้
ก็มาถึง มังกรหยก ฉบับล่าสุด (射雕英雄传:侠之大者) หรือ Legends of the Condor Heroes: The Gallants
ถ้ากิมย้งยังมีชีวิตอยู่ ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงไม่ปลื้ม เพราะมันไม่ใช่บู๊เฮียบ มันคือ Lord of the Rings และ Dracula Untold ฉบับจีน ที่มีความเป็นนิยายกำลังภายในสัก 30 เปอร์เซ็นต์
ตัวละครพิษประจิมอาวเอี๊ยงฮงกลายเป็นลอร์ดเซารอน มีพลัง anti-gravity บินได้ มีพลังรังสีแผ่รอบตัว
นี่ยังไม่ได้บอกว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี แค่บอกว่ามันไม่ใช่หนังกำลังภายใน มันเป็นหนังแฟนตาซี
เอาละ จะมาแนวแฟนตาซีก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้กำกับ จะให้ก๊วยเจ็งถือปืนอย่างโรเมโอใน Romeo + Juliet ฉบับ บาซ เลอร์แมนน์ ก็ได้ คำถามคือแล้วหนังทำได้ดีหรือไม่
หนังเปิดฉากเหมือนรวม recap ของเหตุการณ์ต่างๆ เป็นท่อนๆ แล้วคาดหวังว่าคนดูจะเข้าใจเอาเอง หนังใช้องค์ประกอบของนวนิยายของกิมย้งแบบแตะนิดหน่อย เราไม่รู้ว่าอินทรีสองตัวมาทำไม มันทำได้แค่ประกอบฉาก (เพราะนิยายกิมย้งเขียนถึง) หนังพูดถึงจอมยุทธ์ห้าคน แต่ใช้แค่อาวเอี้ยงฮงเป็นตัวหลัก อั้งฉิกกงโผล่หน้ามานิดหน่อย ที่เหลืออีกสามคนแค่เปรยๆ (เพราะนิยายกิมย้งเขียนถึง)
หนังหยิบชิ้นส่วนต่างๆ ในนิยายมายำใหม่ โดยไม่ปูเรื่องว่าทำไม เราไม่เห็นพัฒนาการของตัวละคร เราไม่รู้ว่าคัมภีร์เก้าอิมจินเก็งมาจากไหน มีเพื่ออะไร เราไม่รู้ว่าเป็นที่หนึ่งในยุทธจักรแล้วจะทำไม ในความเห็นส่วนตัวของผม ปัญหาของหนังเรื่องนี้คือ sequence การเดินเรื่องที่สะดุดเป็นระยะ
หนังมีโมเมนต์ดีหลายท่อน (ฉากสนามรบสุดท้ายคล้ายยืมมาจากฉากเฉียวฟงกลางสองทัพใน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า) แต่ก็มีโมเมนต์ "มาทำไม" และ "อิหยังวะ" อีกหลายจุด
มังกรหยก ฉบับนวนิยายนั้นมีองค์ประกอบมากมาย กิมย้งที่เป็นราชาแห่งซับพล็อตเขียนเรื่องย่อยรองรับ แต่ละเรื่องย่อยสนุกในตัวมันเอง โดยที่หนังสามารถเดินไปได้โดยไม่ต้องพึ่งแฟนตาซี เพราะเมื่อเปลี่ยนตระกูลหนังเป็นแฟนตาซี อารมณ์ก็เปลี่ยน
หากชอบหนังแนว Lord of the Rings เรื่องนี้ก็ดูได้เพลินๆ หากไม่ถือสาว่าจอมยุทธ์บินได้ มีพลังอย่าง Dr. Strange ก็น่าจะเอนจอยหนัง พระเอกก็หล่อ นางเอกก็สวย แต่หากเป็นคองานหนังสือของกิมย้งที่เน้นบู๊กับเฮียบอย่างเคร่งครัด เก็บเงินไปซื้อ คดีเปลนม หรือ Mini Stoic ดีกว่า เพราะว่าเรื่องนี้ดูเผินๆ เป็นนิยายกำลังภายใน แต่ไม่ใช่
6/10
ฉายในโรงภาพยนตร์วินทร์ เลียววาริณ
24-2-25วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
0- แชร์
- 56
-
ไม่กี่วันก่อน มีข่าวไฟดับที่สเปนและปอร์ตุเกส เป็นการดับขนานใหญ่ ทำให้นึกได้ว่าเมืองไทยก็เคยมีไฟดับขนานใหญ่ อย่างน้อยสองครั้ง
ครั้งแรกคือวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2521 ไฟฟ้าดับทั่วประเทศไทย เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ขัดข้อง ส่งให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีระบบการทำงานเชื่อมกันขัดข้องไปด้วย
วันนั้นไฟดับไปเกือบสิบชั่วโมง
อีกครั้งคือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดไฟดับไปทั่วภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไป ก็เกิดข่าวลือว่าสงสัยจะเกิดรัฐประหาร!
ตอนผมเป็นเด็ก หาดใหญ่ไฟดับเป็นประจำ จนเรามีไฟฉาย เทียนไข ตะเกียงน้ำมัน และตะเกียงเจ้าพายุพร้อมเสมอ
ตอนที่ไฟดับก็มักมีคนเล่าเรื่องผี สยองขวัญมาก
มาถึงยุคนี้ คนส่วนมากไม่ได้เตรียมพร้อมหากเกิดไฟดับ ไปต่อไม่ถูก
โลกมาถึงยุคที่เราใช้พลังงานกันมากเกินตัว และคิดว่าสาธารณูปโภคต้องพร้อมสำหรับเรา แต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นได้เสมอ
นี่วันสองวันก่อน สำนักมูดี้ส์ก็ทำให้เราอารมณ์มูดดี้ไปด้วย เพราะปรับลดค่าอะไรสักอย่างที่บอกว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยไม่สดใสนัก ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ลด
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท อย่าใช้จ่ายเกินตัว
ผงซักฟอกก็ประหยัดหน่อย อย่าใช้มาก ขยี้แรงๆ ก็ช่วยได้
วินทร์ เลียววาริณ
2 พฤษภาคม 25680 วันที่ผ่านมา -
เมื่อเดือนก่อนผมเกลานิยายกำลังภายใน สี่ภพ เสร็จแล้ว ตอนนี้อยู่ในมือบรรณาธิการ
ระหว่างที่รอว่าจะมีการรื้อมากน้อยแค่ไหน ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมก็นั่งลูบคมดินสอ
เขียนเรื่องสั้นหักมุมจบ (twist-ending) ทุกวัน
เรื่องสั้นในตระกูลเดียวกับเรื่องชุด สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง ร้อยคม แมงโกง
การเขียนเรื่องสั้นตระกูลนี้เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง เหมือนเล่นเกม นอกจากเล่นกับตัวละครแล้ว ยังต้องเล่นกับคนอ่านว่า ทำยังไงไม่ให้เดาออก
ผมสนุกกับงานตระกูลนี้มาก พล็อตไหลมาเรื่อยๆ
ในงานสามชุดที่ตีพิมพ์ไปแล้ว (ราว 60 เรื่อง) ประกอบด้วยเรื่องสั้นหลายเกรด บางเรื่องก็ออกมาดี เกรด A บางเรื่องก็ธรรมดา ได้เกรด B หรือ C เป็นความปกติของการเขียนนิยาย
ในบรรดาหลายสิบเรื่องที่เขียนมา เรื่องสั้นที่ตัวเองรู้สึกพอใจ ก็เช่น มนุษยธรรม, ดวง, ความมืด มือปืน คำสั่งฆ่า, จดหมายรัก, ใต้ซากตึก, ไม้ไอติม, มือระเบิด, ปล้นห้านาที เป็นต้น
เรื่องสั้นชุดใหม่ที่กำลังเขียนที่พอใจก็มี 3-4 เรื่อง
เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อวานนี้เดิมไปต่อไม่ได้ แต่พอเปลี่ยนตระกูลจากหักมุมจบเป็นเรื่องผี กลับลงตัว
เออ! อย่างนี้ก็มีด้วย!
การเขียนนิยายตอนนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เขียนไปเรื่อยๆ พลิกแพลงได้ตลอดเวลา
ผมคงสนุกกับงานมาก จนในวันกรรมกรยังทำงาน
วินทร์ เลียววาริณ
1-5-251 วันที่ผ่านมา -
ราวสี่สิบปีมาแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งสวมเสื้อยืดแบรนด์เนม มีตราอะไรบางอย่างที่อกเสื้อ ถามเขาว่าตัวละเท่าไร เขาบอกว่าไม่กี่สิบบาท เพราะเป็นสินค้าริมถนนของปลอม ตอนนั้นเขามีธุรกิจของตัวเองแล้ว มีปัญญาซื้อเสื้อแบรนด์เนมของจริงแน่นอน แต่เขาซื้อสินค้าจากริมทาง ซึ่งทั้งหมดติดยี่ห้อดังทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงใส่ของปลอม ก็ดูเหมือนเขาใส่ของจริง
มันขึ้นอยู่กับคนสวม คนบางคนใช้สินค้าแบรนด์เนมของจริง คนอื่นก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นของจริง
ปัจจุบันเพื่อนคนนี้รวยมาก แต่ยังขับรถมือสอง สวมเสื้อผ้าธรรมดา ไม่มีอะไรในตัวที่เป็นแบรนด์เนม
ผมก็มีนิสัยคล้ายเพื่อนคนนี้ (แต่ความรวยเทียบไม่ได้!) จึงคบกันได้ ในชีวิตไม่เคยซื้อของแบรนด์เนมเพราะยี่ห้อเลย แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน ถ้าซื้อก็เพราะชอบดีไซน์จริงๆ บางครั้งยังแกะชื่อยี่ห้อออก
ตอนนี้ในวัยชรา ผมรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องนี้แล้ว ใครมีเงิน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าใส่แบรนด์เนมแล้วสบายใจ ก็เอาเลย
แต่ในฐานะคนทำงานออกแบบ ผมไม่รู้สึกว่ากระเป๋าใบละหลายหมื่นหรือแสนจำนวนมากออกแบบดี ผมเห็นดีไซน์นาฬิกาเรือนละ 20-30 ล้านบางเรือนแล้วมองไม่ออกจริงๆ ว่ามันดีไซน์ดี ในความเห็นและรสนิยมส่วนตัว ถ้าเป็นงานดีไซน์แบบ minimalism ของ ดีเทอร์ รัมส์ จ่ายเป็นแสนยังว่าสมราคา
ช่วงสิบวันที่ผ่านมา มีข่าวชาวโลกพากันตกใจที่รู้ว่าสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกผลิตในเมืองจีน เราคนไทยคงเฉยๆ เพราะเรารู้มานานแล้วว่าจีนผลิตทุกอย่าง
วัตถุนิยมกลืนกินโลกมานานแล้ว แล้วค่อยๆ คืบคลานกลืนกินวิญญาณของคน มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากไม่รู้ว่า รสนิยมดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่อีโก้เป็นของแพง
สถานะในสังคมเป็นของชั่วคราว ท้ายที่สุดมันก็ back to basic เราใช้วัตถุที่หน้าที่ใช้สอย เก้าอี้ตัวละเก้าหมื่นหรือตัวละเก้าร้อย ก็นั่งได้เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ความเหมาะสมและกาลเทศะ
อภิมหาเศรษฐีหลายคนในโลกโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด ใช้นาฬิการาคาถูก ใช้รถยนต์ธรรมดา อยู่บ้านเก่า เพราะพวกเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้ว
ค่าของคนไม่ได้พิสูจน์ด้วยยี่ห้อสินค้า มันพิสูจน์ด้วยสิ่งที่ทำ
ถ้าเรายังต้องพึ่งยี่ห้อรถยนต์ ยี่ห้อนาฬิกา ยี่ห้อเสื้อผ้าเพื่อแสดงว่าเราเป็น somebody ก็อาจสะท้อนว่าเรายังเป็น nobody
วินทร์ เลียววาริณ
1-5-251 วันที่ผ่านมา -
สวัสดีวันแรงงาน ขอให้มีความสุขครับ
1 วันที่ผ่านมา -
เช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประชาชนชาวไทยตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวว่ารัฐบาลเก่าถูกโค่นแล้ว
คณะรัฐประหารคือกลุ่มทหารนอกราชการ นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ น.อ. กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เรียกกลุ่มของตนเองว่า คณะทหารแห่งชาติ
เช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงต่อสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่ก่อรัฐประหารด้วยน้ำตานองหน้าว่า “เรายึดอำนาจเพราะความจำเป็นจริง ๆ”
ทันใดนั้น พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า ‘วีรบุรุษเจ้าน้ำตา’ หรือ ‘บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล’
คณะทหารแห่งชาติแต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หมดบทบาททางการเมืองไปแล้ว เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๐ ฉบับชั่วคราว หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เพราะหลวงกาจสงครามร่างไว้ล่วงหน้า แล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มในบ้าน เพราะกลัวว่าหากถูกตำรวจจับได้ จะต้องข้อหากบฏ
ผู้ก่อการตั้งใจให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ใครคนหนึ่งในที่ประชุมรัฐประหารกล่าวว่า “จังหวะยังไม่เหมาะสมที่จอมพล ป. จะเป็นนายกฯ”
“ทำไม?”
“จอมพล ป. ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ยากที่ฝ่ายตะวันตกจะยอมรับรัฐบาลใหม่”
“งั้นเราก็ต้องหาตัวแทนขัดตาทัพไปก่อน”
นอมินีก็ไปลงที่พันธมิตรทางการเมือง
นายควง อภัยวงศ์ กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกตามตัวโดยด่วนไปพบฝ่ายทหารและจอมพล ป. พิบูลสงคราม
คณะทหารให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายควงถามความเห็นลูกพรรค หลายเสียงว่า “ไม่ควรรับ คุณควงจะเป็นเครื่องมือคณะรัฐประหารเปล่า ๆ”
แต่เสียงลูกพรรคส่วนใหญ่ให้รับ “เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง”
จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ผมไม่ยอมรับตำแหน่งการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากตำแหน่งทางทหารเท่านั้น แต่ทั้งนี้ผมจะอยู่ช่วยไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาราษฎรเสร็จแล้ว”
เพื่อล้างคาวคณะรัฐประหารให้หมดไป นายควง อภัยวงศ์ ก็จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
นายควงบอกคนใกล้ชิดว่า “หากราคาสินค้าไม่ลดลงมา ผมตายแน่”
ผ่านไปไม่กี่เดือน ราคาสินค้าก็ยังไม่ลง
ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ นายทหารสี่นายไปหานายควง อภัยวงศ์ ที่บ้าน หนึ่งในนั้นกล่าวว่า “กระผมในนามของคณะรัฐประหารมาเพื่อแจ้งแก่ท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตัวเองในการกราบถวายบังคมลาออก”
ก่อนลากลับกล่าวอย่างสุภาพว่า “เราจะรอคอยคำตอบภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง”
ยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่หน้าเดิม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เมื่อเหตุผลที่จี้ให้นายควงลาออกคือราคาสินค้าสูง และหากจอมพล ป. ไม่สามารถแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงได้ ก็ไม่ชอบธรรมที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นในเวลาไม่นาน รัฐบาลก็ประกาศตั้งราคาสินค้าทั้งหมดให้ต่ำลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์!
ราคาสินค้าลดตามคำสั่ง แม้คุณภาพและปริมาณลดตามไปด้วย แต่ก็ถือว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จแล้ว!
แต่รัฐประหาร ๒๔๙๐ ยังไม่ได้ถอนรากถอนโคนศัตรูทางการเมืองที่แท้จริง
ปรีดี พนมยงค์
...........................
ในราตรีรัฐประหาร ๒๔๙๐ เมื่อทหารบุกทำเนียบท่าช้าง นาทีที่เสียงปืนรถถังยิงประตูทำเนียบ ปรีดี พนงยงค์ ก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิดพร้อมคนสนิทสองสามคน
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ รัฐมนตรี บอกว่า “เราสามารถสู้ได้ เพราะมีอาวุธเสรีไทยมากพอ หากทหารเรือร่วมด้วย”
นายเตียง ศิริขันธ์ เสนอว่า “เราสามารถยกไปตั้งหลักที่อีสาน และประกาศให้อีสานเป็นรัฐอิสระ”
แต่ทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ปฏิเสธ บอกว่า “ต่อให้สู้ชนะ ก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ประชาชนไม่เอารัฐบาลชุดนี้”
ปรีดี พนมยงค์ หนีไปหลบภัยที่ฐานทัพเรือสัตหีบระยะหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากนั้นก็เดินทางไปสิงคโปร์ ด้วยความช่วยเหลือของทหารเรือ
อดีตหัวหน้าเสรีไทยผู้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯและอังกฤษ ได้รับความช่วยเหลือจาก น.อ. สแตรทฟอร์ด เดนนิส ผู้ช่วยทูตทหารเรืออังกฤษ กับ น.อ. อัลเฟรด การ์เดส ผู้ช่วยทูตทหารเรือสหรัฐฯ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เจฟฟรี ทอมป์สัน เอกอัครราชทูตอังกฤษ เอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย วางแผนส่งนายปรีดีไปที่สิงคโปร์
น.อ. สแตรทฟอร์ด เดนนิส พา ปรีดี พนมยงค์ และผู้ติดตามสามคนไปส่งลงเรือยนต์ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ น.อ. อัลเฟรด การ์เดส เป็นผู้ขับเรือชักธงชาติสหรัฐฯ ออกจากปากน้ำเจ้าพระยา ไปส่งขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันบริษัทเชลล์ไปสิงคโปร์ โดยเอกอัครราชทูตอังกฤษและสหรัฐฯติดต่อกับผู้จัดการบริษัทเชลล์ในประเทศไทยก่อนแล้ว
ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปถึงสิงคโปร์วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ ลอร์ด คิลเลิน มาต้อนรับ พักที่สิงคโปร์หกเดือน
ระหว่างนั้นปรีดีขอให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน (นายดิเรก ชัยนาม เป็นเอกอัครราชทูต) และสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงนานกิง (สงวน ตุลารักษ์ เป็นเอกอัครราชทูต) ออกหนังสือเดินทางให้
ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๑ ปรีดี พนมยงค์ ไปฮ่องกง แล้วไปต่อที่เซี่ยงไฮ้ และตัดสินใจไปลี้ภัยที่เม็กซิโก ผ่านเมืองซาน ฟรานซิสโก
ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ กำลังจะเดินทางออกจากจีน รองกงสุลสหรัฐฯประจำเซี่ยงไฮ้ นายนอร์แมน บี. ฮันนาห์ กระชากหนังสือเดินทางของนายปรีดีจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีน และขีดฆ่าวีซ่าของสหรัฐฯที่สถานทูตสหรัฐฯในลอนดอนประทับตราให้ ผลคือ ปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถไปเม็กซิโก
อดีตหัวหน้าเสรีไทยรู้สึกเศร้าใจ เพราะเมื่อปีก่อนเพิ่งได้รับเหรียญ Medal of Freedom จากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่กลับถูกหมิ่นประมาทไม่ให้เกียรติแม้แต่น้อย
ไม่นานกงสุลใหญ่สหรัฐฯก็มาขอโทษ แจ้งว่า นายนอร์แมนเป็นสายลับซีไอเอ กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯให้ประทับตราวีซ่าคืนแล้ว
ปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนใจไม่ไปสหรัฐฯ แต่อยู่เมืองจีนต่อไป ตามคำเชิญของจอมพลเจียงไคเช็ก
คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต การขีดฆ่าวีซ่าของสหรัฐฯทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ไปสหรัฐฯและเม็กซิโก มันเปลี่ยนวิถีการเมืองไทยไปด้วย
ปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจหวนกลับเมืองไทย
สะสางบัญชี
ผลก็คือรัฐประหารครั้งใหม่
วินทร์ เลียววาริณ
๓๐-๔-๖๘............................
ย่อความจากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาท หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วสั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
2 วันที่ผ่านมา