-
วินทร์ เลียววาริณ2 เดือนที่ผ่านมา
นวนิยายของกิมย้งที่ใช้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไกลที่สุดคือ กระบี่นางพญา (越女劍 / Sword of the Yue Maiden)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ในปี 1970 และตีพิมพ์จบก่อนเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ
เป็นงานชิ้นสุดท้ายของกิมย้ง จัดเป็นนวนิยายขนาดสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาว ในมุมมองของนักอ่านงานกิมย้ง ถือว่าเรื่องนี้อ่อนกว่าเรื่องอื่น ๆ
แต่ประวัติศาสตร์ที่ใช้เป็นฉากมีรสชาติเข้มข้น ประวัติศาสตร์ที่อิงจัดว่าเป็นเรื่องแรก หลายร้อยปีก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง
มาว่ากันที่พล็อตก่อน
****
จอมยุทธ์กลุ่มหนึ่งจากแคว้นอู๋เอาชนะจอมยุทธ์แคว้นเยว่ ฟ่านหลี่ ที่ปรึกษาของอ๋องโกวเจี้ยน พบเด็กสาวคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งชื่ออาชิง มีฝีมือการต่อสู้เป็นเลิศ นางเอาชนะจอมยุทธ์แคว้นอู๋ได้ง่ายดาย
อาชิงเรียนวิชาการต่อสู้โดยเล่นฟันดาบกับค่างตัวหนึ่ง กระบวนท่าของนางไม่มีกรอบ ไร้ขีดจำกัด
โกวเจี้ยนเห็นกระบวนท่าพิชิตคู่ต่อสู้ของอาชิงแล้วประทับใจยิ่งนัก สั่งให้ทั้งกองทัพเรียนวิชาการต่อสู้จากนาง เพื่อเตรียมบุกแคว้นอู๋
เดี๋ยวค่อยเล่าพล็อตต่อ ตอนนี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์ก่อน
ทำไมโกวเจี้ยนจึงคิดบุกแคว้นอู๋?
คำตอบคือเพื่อแก้แค้น
นี่เป็นประวัติศาสตร์จริงช่วงสงครามระหว่างแคว้นเยว่ (越國) กับแคว้นอู๋ (吳國) ในยุคสมัยที่เรียกว่า ชุนชิว
ชุนชิวเป็นทั้งชื่อยุคและชื่อหนังสือ
จะเข้าใจที่มาก็ต้องย้อนเวลาหาอดีตไปตั้งต้นที่ราชวงศ์โจวก่อน
ราชวงศ์โจวเกิดขึ้นนานก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว เป็นราชวงศ์จีนที่ปกครองยาวนานที่สุดคือ 790 ปี เริ่มจากโจวตะวันตก ต่อด้วยโจวตะวันออกอีก 500 ปี ในช่วงหลังราชวงศ์โจวเสียการคุมแคว้นย่อย ๆ ทั้งหลาย ซึ่งรบพุ่งกัน จนจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินสำเร็จใน 221 ปีก่อนคริสตกาล
ยุคโจวให้กำเนิดปราชญ์สำคัญคือเล่าจื๊อ (เต๋า) และขงจื๊อ และนักการทหารชั้นเซียนคือ ซุนจื่อ (พิชัยสงครามซุนจื่อ)
เราเรียกยุคราชวงศ์โจวตะวันออกว่าชุนชิว หรือวสันตสารท (春秋 Spring and Autumn Period)
วสันต์ (ชุน 春) คือฤดูใบไม้ผลิ
สารท (ชิว 秋) คือฤดูใบไม้ร่วง
เปรียบการเกิดและดับของนครรัฐต่าง ๆ เหมือนฤดูกาล
ชื่อยุคชุนชิวมาจากชื่อคัมภีร์ของขงจื๊อคือ ตำราชุนชิว (春秋 The Spring and Autumn Annals) ประกอบด้วยอักษร 18,000 คำ บันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยาว 241 ปี เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 722 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง 481 ปีก่อนคริสตกาล
เวลานั้นขงจื๊อได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีใหญ่แห่งแคว้นหลู่ ต่อมาถูกบีบลงจากตำแหน่ง เหนื่อยหน่ายกับการเมือง ก็ไปเป็นปราชญ์สอนคนในแคว้นต่าง ๆ ไม่เข้าสู่วงการเมืองอีก ขงจื๊อแต่ง คัมภีร์ชุนชิว โดยบันทึกเรื่องราวของยุคสมัยต่าง ๆ เปรียบแต่ละยุคกับฤดูกาล สี่ฤดูคือวสันตฤดู (ชุน) คิมหันตฤดู (เสี้ย) สารทฤดู (ชิว) และเหมันตฤดู (ตง) เป็นฤดูกาลของแผ่นดินจีน
ถัดจากยุควสันตสารทก็คือยุครัฐศึก หรือจ้านกว๋อ (戰國時代 The Warring States Period)
นอกจากชุนชิวแล้ว ยังมีงานอีกเรื่องหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์ยุคโจวตะวันตก ยุควสันตสารท ยุคจ้านกว๋อ ไปจนถึงจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินสำเร็จ หนังสือเรื่องนั้นคือ เลียดก๊ก (列國) ซึ่งเป็นงานที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง บันทึกประวัติศาสตร์ของแคว้นต่าง ๆ
สมัยแรกของราชวงศ์โจวมีอำนาจมาก ดูแลแว่นแคว้นต่าง ๆ ครั้นอ่อนกำลังลง แว่นแคว้นก็แตกเป็นกลุ่มย่อยมากมายถึง 148 รัฐ บางแคว้นเช่น อู๋และฉู่ แยกตัวเป็นแว่นแคว้นอิสระ รบพุ่งกัน
สำหรับประวัติศาสตร์ที่ใช้เป็นฉากของ กระบี่นางพญา คือสงครามระหว่างแคว้นเยว่กับแคว้นอู๋
แคว้นอู๋ปกครองโดยอ๋องเหอหลี มีกำลังสำคัญสองคน หนึ่งคือ อู่จื่อชี (伍子胥) ขุนนางผู้ซื่อสัตย์ อีกคนหนึ่งคือ ซุนจื่อ (孫子)
ซุนจื่อมีชื่อเดิมว่า ซุนหวู่ (孫武) เป็นแม่ทัพ นักวางแผน นักปรัชญา ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก เป็นผู้แต่ง พิชัยสงครามซุนจื่อ (孫子兵法 The Art of War) เป็นตำราพิชัยสงครามที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของโลก
แคว้นอู๋ก่อศึกกับแคว้นฉู่ รบกันนาน ในที่สุดก็ยึดเมืองหลวงฉู่ได้ อ๋องเหอหลีพยายามล่วงเกินนางผอหยิง สนมของฉู่อ๋อง แต่ไม่สำเร็จเพราะนางมีมีดป้องกันตัวเอง
แคว้นฉู่ขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉิน ในที่สุดอ๋องเหอหลีก็ยกทัพกลับไป
ส่วนแคว้นเยว่ปกครองโดยโกวเจี้ยน (勾踐) ซึ่งเป็นโอรสของหยิ่นฉางอ๋อง (允常)
สงครามระหว่างแคว้นเยว่ (越國) กับแคว้นอู๋ (吳國) เริ่มจากเจ้าหญิงแคว้นเยว่ที่อภิเษกกับเจ้าชายแคว้นอู๋ ทรงหนีกลับแผ่นดินเกิด จุดประกายให้เกิดความหมองหมางของสองแคว้น ตามมาด้วยสงคราม
แคว้นอู๋ฉวยโอกาสที่เยว่ผลัดแผ่นดิน หลังจากอ๋องหยิ่นฉางสวรรคต โกวเจี้ยนขึ้นครองราชย์ โจมตีเยว่
ในยุทธการจ้วนหลี่ (槜李之战) ฝ่ายเยว่เอาชนะฝ่ายรุกราน เหอหลีอ๋อง (闔閭) แห่งแคว้นอู๋ทรงบาดเจ็บสาหัสจากการรบ ก่อนสิ้นพระชนม์สั่งโอรส ฟูช่า (夫差) ให้แก้แค้น ตรัสสั้น ๆ ว่า “จงอย่าลืมเยว่”
แคว้นเยว่ถูกแคว้นอู๋ยึดครองสามปีต่อมา แคว้นอู๋จับโกวเจี้ยนและเสนาบดีฟ่านหลี่ไปเป็นตัวประกัน โกวเจี้ยนเป็นข้ารับใช้อ๋องฟูช่า
เมื่ออยู่ในถ้ำเสือ โกวเจี้ยนก็ทำทุกอย่างเพื่อให้อู๋อ๋องวางใจว่าตนสิ้นฤทธิ์แล้ว
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งอู๋อ๋องมีอาการปวดท้อง หมอหลวงไม่พบสมุฏฐานของโรค โกวเจี้ยนจึงชิมอุจจาระของอู๋อ๋อง และบอกว่าร่างกายเย็นเกินไป ให้กินของร้อน ฟูช่าก็หายประชวร
นี่อาจเป็นตำนานเสริมเติมให้มีสีสัน แต่ชี้ให้เห็นความแน่วแน่ของโกวเจี้ยนที่จะล้างแค้น
โกวเจี้ยนอยู่ในรัฐอู๋สามปี จึงได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่เยว่
ตลอดเวลาที่อยู่ในแคว้นศัตรู โกวเจี้ยนวางแผนแก้แค้นทุกลมหายใจ เมื่อกลับแผ่นดินเกิด ก็รวบรวมกำลังคน ที่ปรึกษาเช่น เหวินจง และฟั่นหลี่ สะสมกำลังเตรียมรบ อีกทางหนึ่งก็หาทางทำให้อู๋อ่อนแอลง โดยบ่อนทำลายจากภายใน
ระหว่างที่รอการแก้แค้น โกวเจี้ยนใช้ชีวิตแบบทรมานตนเอง กินอาหารเหมือนชาวนา กินดีสัตว์ทุกวัน เพื่อให้ไม่ลืมความขมขื่นของการเสียเอกราช แล้วสร้างกองทัพ
นวนิยาย กระบี่นางพญา อิงประวัติศาสตร์ท่อนนี้
ในเรื่อง กระบี่นางพญา ฟ่านหลี่มีหน้าที่ดูแลให้อาชิงฝึกกองทัพ
อาชิงตกหลุมรักฟ่านหลี่ แต่รู้ในเวลาต่อมาว่าฟ่านหลี่มีคนรักแล้ว
หลังจากอ๋องโกวเจี้ยนเอาชนะฟูช่า และยึดครองอู๋สำเร็จ ฟ่านหลี่ก็กลับไปหาคนรักของเขา
ใครคือคนรักคนนั้น? ตรงนี้กิมย้งหักมุม
อาชิงรู้สึกอิจฉา ต้องการฆ่าคนรักของฟ่านหลี่ และไปหานางที่เป็นศัตรูหัวใจ
อาชิงชี้ลำไม้ไผ่ไปที่นาง ขณะจ้องมองสตรีผู้นี้ พลันตกตะลึงในความงามของนาง ความรู้สึกอยากฆ่าค่อย ๆ จางหายไป กลายเป็นความรู้สึกใหม่ว่า สตรีเบื้องหน้างดงามนัก อาชิงไม่เคยนึกว่าโลกนี้มีหญิงงามขนาดนี้
ที่แท้คนรักของฟ่านหลี่ชื่อ ไซซี นางเพิ่งกลับบ้านเกิดหลังจากจบสิ้นภารกิจอุบายนางงามในดินแดนศัตรู
ฟ่านหลีจะพาไซซีไปจากที่นั่น แต่ทันใดนั้นสีหน้านางก็แสดงความเจ็บปวด ลำไผ่ของอาชิงไม่ได้สัมผัสร่างนาง แต่พลังลมปราณของอาชิงผ่านลำไผ่เข้าไปสู่ไซซี ทำให้นางเกิดความเจ็บปวด สองมือกุมหน้าอกที่รวดร้าว สีหน้าแสดงอาการเจ็บปวดอย่างมาก ทว่ามันเป็นภาพที่อาชิงตะลึง เพราะทำให้ไซซียิ่งงดงาม “จนมันสามารถทำให้วิญญาณบุรุษปลิดปลิวเมื่อเห็นนาง”
นี่คือที่มาของอุปมา ‘ไซซีแตะอก’ (西子捧心) ความหมายคือความงามของสตรีถูกขับเน้นเมื่อเจ็บปวด
หลังจากนั้นอาชิงก็จากไป เพราะไม่มีทางสู้ไซซีได้ในการมัดใจชาย
วิทยายุทธ์สูงส่งเพียงใด ก็มิอาจสู้นางเบื้องหน้าได้
เรื่องแรกๆ ของกิมย้ง ตัวเอกจะฝึกวิทยายุทธ์ระดับสุดยอด จึงขึ้นมาเป็นใหญ่
ในเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ กิมย้งหักมุมว่า ไม่ต้องมีวิทยายุทธ์ ใช้ความกะล่อนอย่างเดียว ก็เป็นหนึ่งได้
ส่วนเรื่องสุดท้ายของกิมย้งนี้ บอกว่าวิทยายุทธ์สู้ชะตาไม่ได้ เพราะเก่งแค่ไหนก็สู้ความงามของไซซีไม่ได้ในการชนะใจชาย
ประวัติศาสตร์ท่อนนี้ยังมีต่อ รออ่านพรุ่งนี้ก็แล้วกัน
ใครรอไม่ได้ ก็ซื้อหนังสือ แล้วอ่านแบบ fast track
แน่ะ! ขายยาก็มี fast track กับเขาด้วย
วินทร์ เลียววาริณ
3-3-25.....................
ยุทธจักรวาลกิมย้ง
https://www.winbookclub.com/store/detail/186/ยุทธจักรวาลกิมย้งโปรโมชั่นพิเศษ กิมย้ง + เหตุผล + Mini Zen
เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/189/โปรโมชั่น%203%20in%201%20ชุด%20S2Shopee https://s.shopee.co.th/9KTdTiEz8m
หรือชุดรวมรส
ชุดรวมมิตร 3 (R3) ยุทธจักรวาลกิมย้ง + รอยยิ้มใต้สายฝน + ฆาตกรรมกลางทะเล + 16 องศาเหนือ + หลับถึงชาติหน้า ราคาเต็ม 1,260 เหลือเพียง 880.- (ลด 380)
https://s.shopee.co.th/30ZZw8Rzcp0- แชร์
- 34
-
หลายปีมาแล้ว เมื่อเห็นเจ้าลัทธิต่างๆ ในบ้านเราหาเงินจากศาสนพาณิชย์ ผมเคยคุยเล่นๆ กับคนใกล้ตัวว่า ถ้าผมจะตั้งตัวเป็นศาสดา หาเงินในหลักร้อยล้านพันล้าน ก็คงใช้หลักจักรวาลวิทยา ผสมกับวิทยาศาสตร์ ผสมกับพุทธ พราหมณ์ ไสยศาสตร์ ฯลฯ โยงเป็นเนื้อเดียวกันตามเทคนิคการแต่งนิยาย
จักรวาลวิทยายังมีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ โยงเข้ากับเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติได้ไม่ยาก ผสมกับไสยศาสตร์ ก็น่าจะขายเป็นแพ็คเกจชาติหน้าในสวรรค์ หรือวิธีรวยข้ามภพได้ไม่ยาก
ในสังคมที่คนจำนวนมากอยู่ในก้นหลุมดำแห่งปัญญา ผมถือว่าศาสนพาณิชย์แบบนี้ก็เป็นการขายชาติอย่างหนึ่ง ทำร้ายคน ทำร้ายสังคม ทำร้ายชาติ
ดังนั้นผมถือเป็นหน้าที่ที่จะแย้งด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อคานอำนาจทางปัญญา อย่างน้อยก็เสนอข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่ง ให้คิดก่อนเชื่อและเสียเงิน
ใครจะแย้งผมอีกทีก็ไม่ว่าอะไร ยินดีอย่างยิ่ง แต่ขอเป็นหลักฐาน ไม่ใช่ความเชื่อ
วันนี้อ่านข่าวชาวบ้านไปทำกิจกรรมชมมนุษย์ต่างดาวที่จังหวัดหนึ่ง เพื่อเชื่อมกับอำนาจเหนือธรรมชาติเบื้องบน และพบวัตถุคล้ายจานบินอยู่เหนือลานนั่งสมาธิ
อืม! นี่เป็นโลกเสรี ใครเชื่ออะไรก็ตามสบาย แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเวลาพูดถึงยานมนุษย์ต่างดาวทีไร ต้องเป็นจานบินทุกที
ทำไมต้องเป็นทรงจานบิน?
คำตอบง่ายกว่าที่คิด
คาร์ล เซเกน อธิบายในหนังสือ The Demon-Haunted World ว่าคำว่า จานบิน (flying saucer) เป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1947
ในวันที่ 24 มิถุนายน 1947 นักบินพลเรือน เคนเนธ อาร์โนลด์ บินผ่านภูเขาเรนเนียร์ รัฐวอชิงตัน เขาเห็นบางสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล จึงรายงานการพบวัตถุประหลาดเก้าชิ้นซึ่งมีวิถีบินประหลาดมาก
หนังสือพิมพ์รายงานข่าวนี้ทันทีว่ามีการพบจานบินจากต่างดาวเป็นครั้งแรก
สามปีต่อมา ในวันที่ 7 เมษายน 1950 นักข่าว ซีบีเอส ชื่อ เอ็ดเวิร์ด เมอร์โรว์ สัมภาษณ์นักบิน เคนเนธ อาร์โนลด์ อธิบายว่า เรื่องทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิดกันอย่างมโหฬาร เขาบอกว่า ในวันนั้นตนเองแจ้งทางหนังสือพิมพ์ว่า วัตถุประหลาดเก้าชิ้นที่เขาพบในวันนั้นดูเหมือน "เรือที่แล่นบนน้ำอย่างรุนแรงมาก"
เขาเล่าเป็นเชิงเปรียบเทียบว่า "พวกมันบินเหมือนเราขว้างจานร่อน (saucer) ข้ามน้ำ"
หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่า "ยานจากต่างดาวนั้นมีรูปทรงเหมือนจานบิน (flying saucer)"
เขาบอกว่าไม่ได้เห็นจานบิน แค่เปรียบเทียบเท่านั้น
นักข่าวไม่แก้ข่าว หรือเจตนาไม่แก้ข่าว
ยานอวกาศจากต่างดาวที่พบกันในช่วงหลายปีต่อมาก็มักมีรูปร่างเป็นจานบินไปดังฉะนี้
แล้วเราก็เชื่อต่อกันมาโดยไม่ถาม ไม่คิดจะตรวจสอบ ไม่คิดจะศึกษาอะไรทั้งนั้น
เมื่อใช้นิวรอนทั้งหมดไปกับการเชื่อ ก็ไม่เหลือนิวรอนมาคิด
วินทร์ เลียววาริณ
4-5-25สนใจอ่านวิธีคิด-ข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์แบบนี้ ขอแนะนำ ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล, ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล และ หลับถึงชาติหน้า
0 วันที่ผ่านมา -
หลังจากใช้ชีวิตในเมืองจีนนานราวห้าปี โดเก็นก็เดินทางกลับญี่ปุ่น และวางรากฐานของสาย โซโต เซน ในญี่ปุ่น
โดเง็นเป็นพระเซนที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์เซนญี่ปุ่น ไม่เฉพาะในวงการเซน แต่ในวงการศาสนาพุทธโดยรวม ทั้งนี้เพราะการบรรลุธรรมในวิถีเซนเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวญี่ปุ่น
โดเง็นเขียนบทกวีว่า
การรู้แจ้งก็เฉกเช่นจันทร์สะท้อนบนผิวน้ำ
พระจันทร์ไม่เปียก น้ำก็ไม่ถูกกินที่
แม้แสงจันทร์จะสาดสว่างไพศาล
กลับปรากฏบนผิวน้ำกว้างเพียงนิ้วมือเดียว
จันทร์ทั้งดวงกับแผ่นฟ้าใหญ่
สะท้อนบนน้ำค้างหยดเดียวบนใบหญ้าสรรพสัตว์ในจักรวาลนี้มีพุทธภาวะอยู่ภายในตัวอยู่แล้ว อาจเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปบ้าง โดเก็นมองว่า อรหันต์กับปุถุชนไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ความแตกต่างอยู่ที่ว่าใครเห็นพุทธภาวะภายในตนหรือไม่ และสามารถลอกเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ออกไปได้หรือไม่ เปลือกนั้นคืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน การเข้าไปสู่พุทธภาวะจึงต้องแสวงหาจากภายในตนเอง ไม่ใช่จากภายนอก
จะว่าไปแล้วก็ไม่มีการบรรลุอะไร เพราะสิ่งที่ค้นพบนั้นก็คือของเดิมในตัวเรานี่เอง ก็คือการบรรลุธรรมชาติแท้ของตนนั่นเอง
โดเง็นเขียนว่า การมองเห็นเชื่อมกายกับจิต การฟังเสียงเชื่อมกายกับจิต ทำให้เข้าใจมันโดยเชื่อมเป็นหนึ่งเดียว
การเชื่อมในความหมายของโดเก็นคือการไม่แบ่งแยก แต่เชื่อมเป็นตัวตนเดียวกับสิ่งนั้น
"เมื่อสามารถกลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งหนึ่ง จะไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เจ้ารู้ว่ากำลังนั่งตัวตรงหรือไม่ตรง จะไม่มีกาย ไม่มีจิต ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งอื่น สิ่งที่เจ้าเชื่อมคล้ายไร้ตัวตนไป เมื่อเจ้ากลายเป็นสิ่งนั้นเสียเอง เจ้าจะกลายเป็นจักรวาล..."
เพราะในสมาธิชั้นสูง จะไม่มีสิ่งใดให้จับต้อง ไม่มีตา ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น หู กาย จิต สี เสียง กลิ่น สัมผัส นี่คือการเชื่อมเป็นหนึ่งเดียว อย่างที่อาจารย์โดเก็นกล่าวว่า "เมื่อเจ้าเดิน จงเดิน เมื่อเจ้าร้องไห้ จงร้องไห้ เมื่อเจ้าหัวเราะ จงหัวเราะ"
ในตัวอย่างเรื่องพระจันทร์ในน้ำ น้ำเป็น 'ความคิด' พระจันทร์เป็น 'วัตถุ' เมื่อไม่มีน้ำ ก็ไม่มีพระจันทร์ในน้ำ และเช่นกัน เมื่อไม่มีพระจันทร์ ก็ไม่มีพระจันทร์ในน้ำ
น้ำไม่ได้รอพระจันทร์เพื่อปรากฏเงาขึ้นมา พระจันทร์ก็มิได้ปรากฏเพื่อสร้างเงาในน้ำ ทั้งสองไม่มีเจตนาต่อกัน
นี่ก็คือมนุษย์กับจิต
วินทร์ เลียววาริณ
4-5-25................................
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วมังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/244/Mini%20Zen%20คู่%20Mini%20Tao
0 วันที่ผ่านมา -
วันก่อนเล่านิทานเรื่องเลือกหัวหน้าใหม่ เป็นการเล่านิทานเก่าในเวอร์ชั่นใหม่ และไม่ใช่ครั้งแรก
20 ปีก่อน มูลนิธิเด็กขอให้ผมช่วยเล่านิทานเก่าในเวอร์ชั่นใหม่ ผมตกลง รับบรี๊ฟแล้วก็เขียนเสร็จในชั่วโมงนั้น
คือเรื่อง จีนกับใบมะขาม ตีพิมพ์ใน สมุดบันทึกนิทานมูลนิธิเด็ก 2547
เป็นเล่มเล็กๆ บางคนอาจมีเก็บไว้
จะลงให้ผ่านหลังจบบทความ
คำถามคือแล้วผมเคยแต่งนิทานไหม คำตอบคือเคย ก็คือ นิทานอีแสบ ไง
นิทานอีแสบ อยู่ในนวนิยาย ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติฯ เป็นนิทานกวน-teen คน ตามในท้องเรื่อง นิทานเล่มนี้มี 40 เรื่อง ผมแต่งไว้ราว 2-3 เรื่องมั้ง
เคยคิดจะเขียนให้ครบ 24 เรื่องตามโจทย์ในนิยาย แต่ยังไม่ว่างเขียน
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง จีนกับใบมะขาม
...............................
จีนกับใบมะขาม
เล่าใหม่โดย วินทร์ เลียววาริณโกย้งกับโกผงเป็นชาวจีนสองคนเพื่อนตายที่หาเช้ากินค่ำในเมืองจีน ชีวิตในหมู่บ้านของพวกเขาแร้นแค้นมาก ทั้งสองมักอด ๆ อยาก ๆ วันหนึ่งโกย้งบอกโกผงว่า “เราทั้งสองจงเดินทางไปเมืองไทยเถิด ได้ยินคำร่ำลือว่า แผ่นดินนั้นอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อุดมด้วยเรือกสวน พืชผักผลไม้บริบูรณ์”
โกผงถามว่า “เราสองคนจะทำอะไรกิน”
โกย้งตอบว่า “เรามีสองมือสองเท้า จะทำอะไรก็ได้ ตราบใดที่เราขยันขันแข็ง มีหรือจะอดตายในแผ่นดินอุดมสมบูรณ์เช่นนั้น”
ทั้งสองใช้เงินก้อนสุดท้ายเป็นค่าเดินทาง เรือสำเภาดั้นด้นฝ่าคลื่นลมจากเมืองจีนมาถึงจุดหมาย และขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของไทย
โกย้งมองไปรอบตัว ยิ้มบอกว่า “เราไม่อดตายแล้ว ที่นี่เป็นสวรรค์โดยแท้”
โกย้งกับโกผงตัดสินใจแยกทางกันไปทำมาหากิน เพราะเห็นว่าการแยกกันไปทำงานคนละอย่างจะเพิ่มโอกาสในการสร้างตัว
ทั้งสองสัญญากันว่า หากใครประสพความสำเร็จก่อน จะช่วยเหลืออีกคน นัดหมายกันว่าอีกสองปีมาเจอกันที่ท่าเรือ
เมื่อแยกทางกันแล้ว โกผงก็ทำงานจิปาถะตามสบาย เนื่องจากเมื่อไม่มีกิน ชาวบ้านก็มักเอื้อเฟื้อมอบอาหารให้ ผลหมากรากไม้ก็หาง่าย อีกทั้งอากาศทางภาคใต้ก็เย็นสบาย ฝนตกปรอยชุ่มชื้นเสมอ โกผงจึงใช้ชีวิตตามสบาย เมื่อได้เงินมาก็หยุดทำงานนอนเล่นไปวัน ๆ ใช้เงินหมดเมื่อใดค่อยตะเกียกตะกายไปหางานทำ
เวลาผ่านไปสองปี โกผงก็ยังมีสภาพยากจนเช่นเมื่อสองปีก่อน โกผงเดินทางไปที่จุดนัดพบ เขาเห็นโกย้งในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม โกย้งกลายเป็นเศรษฐี นั่งรถม้า มีคนขับรถ คนรับใช้หลายคนคอยปรนนิบัติ
โกย้งเล่าว่า เมื่อแยกทางมา เขาก็ทำงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงงอน เก็บหอมรอมริบอย่างอดทนจนได้เงินก้อนหนึ่ง นำไปลงทุนซื้อสวนใหญ่ปลูกมะขามและผลไม้อื่น ๆ กิจการดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อรู้ว่าเพื่อนของตนไม่มีงานทำ โกย้งก็บอกให้โกผงไปทำงานกับตน โกผงทำงานที่ใหม่ นอกจากไม่ได้เปลี่ยนนิสัยทำงานวันหยุดสองวันแล้ว ยังแย่กว่าเดิม หยุดงานนานครั้งละหลาย ๆ วัน
เมื่อโกย้งถามว่าทำไมเขาไม่ทำงาน โกผงตอบว่า “แกรวยแล้ว ทำไมต้องทำงานหนักอีก ไม่จำเป็นต้องทำงานก็อยู่สบายไปตลอดชีวิตได้”
โกย้งสังเกตเห็นเพื่อนของตนเปลี่ยนไปเช่นนั้น ก็มิได้ว่ากล่าวแต่ประการใด บอกเพื่อนว่า “ถ้าเช่นนั้น ฉันจะให้แกไปทำงานง่าย ๆ “
โกผงถามว่า “งานอะไร”
“รูดใบมะขามออกจากต้น เริ่มจากต้นเล็กก่อน”
โกผงรับปากด้วยความยินดีที่ได้ทำงานเบาสบายกว่าเดิม โกผงรูดใบมะขามออกหมดต้นในสองสามวัน ไม่นานต้นมะขามนั้นก็เฉาตาย
โกผงรูดใบไม้จากต้นใหม่ต่อไป ครั้งนี้ใช้เวลารูดนานขึ้นเป็นอาทิตย์ เพราะเป็นต้นขนาดกลาง มะขามต้นนั้นไม่ตาย แต่ก็ใช้เวลาฟื้นตัวนานหลายอาทิตย์
เมื่อรูดใบหมดต้น โกผงก็ไปรูดใบจากต้นมะขามใหญ่ ครั้งนี้กินเวลานานเป็นเดือนก็ไม่หมดสักที เพราะเมื่อรูดใบหมดไปส่วนหนึ่ง ต้นมะขามก็ผลิใบใหม่ออกมา โกผงรู้สึกเหนื่อยจึงนั่งพักที่โคนต้นมะขาม สายตามองดูใบไม้ที่ถูกรูดร่วงโรยรายบนพื้น
เขานั่งคิดว่า ทำไมจึงไม่สามารถรูดใบไม้ทั้งหมดลงมาได้ ทั้ง ๆ ที่สองต้นแรกใช้เวลาเพียงไม่นาน เขานึกถึงตัวเองที่ทำงานวันเว้นวัน เงินหมดอย่างรวดเร็ว
คนที่ทำงานหนักได้เงินทองมาสะสมมากมาย ก็เหมือนมะขามใหญ่ รูดใบไม้ออกไปเท่าใดก็ไม่มีวันหมด ส่วนคนที่ขี้เกียจทำงานเช่นเขา มีเงินทองเล็กน้อย รูดใบไม้ไม่กี่วันก็หมดเกลี้ยง ไม่นานก็เฉาตายไป เขารู้แล้วว่าโกย้งมอบงานนี้ให้เขาทำเพื่อให้เขารู้จักคิด เขารู้สึกละอายใจ
โกผงกลับไปหาโกย้ง ขอทำงานที่ยากขึ้น คราวนี้เขาทำงานทุกวัน และไม่นานก็มีฐานะที่ร่ำรวย ยืนหยัดได้เหมือนมะขามใหญ่ต้นนั้น
ตีพิมพ์ใน สมุดบันทึกนิทานมูลนิธิเด็ก 2547
1 วันที่ผ่านมา -
บทความใหม่วันเสาร์ คลิกลิงก์อ่านได้เลย https://www.blockdit.com/posts/67fbd3dae2c7f2cd8aec121d
1 วันที่ผ่านมา -
โลกทุกวันนี้หาผู้นำดีๆ ยากมาก ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องหนึ่ง ไม่รู้ใครแต่ง หรือมาจากประเทศไหน
เรื่องมีอยู่ว่า...
หัวหน้าเผ่าคนหนึ่งรู้ว่าตนเองแก่แล้ว หมดกำลังวังชาลงไปเรื่อย ๆ เขาต้องการหาคนมาสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าต่อจากเขา
เขาจึงคัดลูกน้องที่มีแววห้าคน มอบเมล็ดพืชให้คนละเมล็ด บอกว่า “นี่เป็นพันธุ์พืชที่ปลูกยากมาก จงเอาเมล็ดพันธุ์นี้ไปเพาะ ให้เวลาหนึ่งปี ใครปลูกได้ต้นใหญ่ที่สุดแสดงว่ามีความสามารถเป็นผู้นำเผ่าได้ และจะได้เป็นหัวหน้าต่อจากเรา”
ผ่านไปหนึ่งปี ลูกน้องแต่ละคนก็นำพืชที่ปลูกในกระถางมาให้หัวหน้าดู แต่ละต้นใหญ่ สมบูรณ์
หัวหน้าชราตรวจดูต้นไม้เหล่านั้น ในที่สุดก็หยุดที่กระถางใบหนึ่ง มันเป็นกระถางเปล่า มีแต่ดิน ไม่มีต้นไม้ หัวหน้าถามว่า “นี่เป็นของใคร?”
ชายหนุ่มคนหนึ่งตอบว่า “เป็นของข้าฯ”
“ทำไมจึงปลูกไม่ขึ้น? เจ้าไม่ได้รดน้ำพรวนดินรึ?”
“ข้าฯรดน้ำพรวนดิน ให้มันรับแสงแดดทุกวัน แต่มันก็ไม่ยอมแตกหน่อผลิใบ ข้าฯจนปัญญา ข้าฯไม่มีความสามารถปลูกต้นไม้ชนิดนี้จริง ๆ”
หัวหน้าชราบอกชายหนุ่มคนนั้นว่า “เรามิได้ต้องการคนที่ปลูกต้นไม้เก่งมาเป็นหัวหน้าเผ่า เราต้องการคนซื่อสัตย์ต่างหาก เมล็ดพืชที่เราให้ทุกคนไปนั้นเป็นเมล็ดตาย ปลูกอย่างไรก็ไม่มีทางขึ้น เจ้าเป็นคนซื่อสัตย์ จึงสมควรเป็นหัวหน้าคนใหม่”
วินทร์ เลียววาริณ
2-5-25......................
จากหนังสือเสริมกำลังใจ ยาเม็ดสีแดง
34 บทความ 190 บาท บทความละ 5.5 บาท
https://www.winbookclub.com/store/detail/116/ยาเม็ดสีแดง
S6 ชุดกำลังใจครึ่งโหล 6 เล่ม 800.- (ลดจาก 1,255.-)
https://www.winbookclub.com/store/detail/217/S6%20ชุดกำลังใจครึ่งโหล2 วันที่ผ่านมา