• วินทร์ เลียววาริณ
    3 เดือนที่ผ่านมา

    ยุ่งๆ กับงานหนังสือ จนหายหน้าไปหลายวันจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เล่าค้างไว้ วันนี้กลับมาเล่าเรื่องรัฐประหารในประเทศไทยต่อ

    ล่าสุดคือขบถนายสิบ

    ลำดับถัดมาคือกบฏพระยาทรงสุรเดช ปี ๒๔๘๒ พระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

    มันเริ่มจากวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพิบูลสงครามไปชมการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษที่ท้องสนามหลวง หลังจบการแข่งขัน หลวงพิบูลสงครามและนายทหารติดตามก็เดินทางกลับ ขณะที่นายทหารใหญ่เข้าไปนั่งในรถยนต์ ชายแปลกหน้าคนหนึ่งก็เข้ามาประชิดรถ จ่อปืนพกไปที่หลวงพิบูลสงคราม เหนี่ยวไกสองนัดซ้อน กระสุนนัดแรกเจาะเข้าแก้มซ้ายทะลุออกต้นคอ นัดที่สองเจาะเข้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง

    นายทหารติดตามส่งตัวหลวงพิบูลสงครามไปโรงพยาบาลกองเสนารักษ์ทหารบก หลวงพิบูลสงครามรอดชีวิตมาได้ มือปืนถูกจับตัวได้ ชื่อนายพุ่ม ทับสายทอง มาจากนครปฐม

    นายพุ่ม ทับสายทอง ไม่ยอมปริปากว่าใครบงการให้มาฆ่า

    สายตาของหลายคนหันไปจับที่พระยาทรงสุรเดช

    ...................................

    วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพิบูลสงครามอยู่ในบ้าน ถูกคนสวนและคนรับใช้ชื่อนายลี บุญตา ยิงขณะก้าวออกจากห้องน้ำ มือปืนยิงพลาด และถูกจับได้

    เช่นกัน นายลี บุญตา ไม่ยอมปริปากว่าใครบงการให้มาฆ่า

    สายตาของหลายคนหันไปจับที่พระยาทรงสุรเดช

    หลวงพิบูลสงครามเป็นนายทหารรุ่นน้องพระยาทรงสุรเดช ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ ทั้งสองก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างกองทัพ พระยาทรงสุรเดชเห็นว่ากองทัพไม่ควรรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง ควรใช้โครงสร้างกองทัพแบบประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้ทหารประจำตามภูมิลำเนาของตน อีกทั้งยศทหารไม่ควรเกินพันเอก แต่หลวงพิบูลสงครามเห็นว่า กองทัพควรรวมศูนย์ และยศทหารควรจะไปถึงจอมพล

    ความขัดแย้งหนักขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งหลวงพิบูลสงครามเปรยกับคนสนิทว่า ตนไม่อาจอยู่ร่วมโลกกับพระยาทรงสุรเดชได้

    หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยบทบาททางการเมืองที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หลวงพิบูลสงครามสร้างศัตรูจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังปราบกบฏบวรเดช ส่งคนจำนวนหลายร้อยคนเข้าคุก

    เมื่อเกิดเหตุกบฏนายสิบในปี ๒๔๗๘ สายตาของหลายคนก็หันไปจับที่พระยาทรงสุรเดช

    ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาตัดสินใจวางมือทางการเมือง และเสนอให้หลวงพิบูลสงครามก้าวขึ้นมาแทนเวลานั้นมีบุคคลสองคนที่เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ คือพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม

    ในการหยั่งเสียงครั้งแรก พระยาทรงสุรเดชได้รับเสียงสนับสนุน ๓๗ เสียง หลวงพิบูลสงครามได้รับเพียง ๕ เสียง

    หนังสือพิมพ์ชุมชนลงข่าวสภาสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม ชุมชนตีพิมพ์ภาพพระยาทรงสุรเดชคู่กับหลวงพิบูลสงคราม พาดหัวว่า “ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” บรรยายใต้ภาพพระยาทรงสุรเดชว่า “สภาให้พระยาทรงฯ ๓๗ คะแนน” บรรยายใต้ภาพหลวงพิบูลสงครามว่า “หลวงพิบูลฯ ๕ แต้ม”

    มันเป็นการเล่นคำ ‘ห้าแต้ม’ แปลได้อีกความหมายหนึ่งว่า พลาดพลั้ง น่าอับอายขายหน้า!

    อย่างไรก็ตาม  เมื่อลงคะแนนเสียงจริงในสภาผู้แทนราษฎร หลวงพิบูลสงครามกลับได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า และได้เป็นนายกรัฐมนตรี

    สิบวันก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามของเมืองไทย เที่ยงวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพิบูลสงครามกินอาหารกลางวันกับครอบครัวและเพื่อนทหารหลายคนที่บ้านพัก ระหว่างกินอาหารก็ล้มลงหมดสติ หมอรายงานว่าในอาหารมียาพิษ

    ไม่มีใครรู้ว่าผู้ใดบงการการวางยาพิษครั้งนี้ แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ต้องการให้หลวงพิบูลสงครามขึ้นครองอำนาจ

    อีกครั้งสายตาของหลายคนหันไปจับที่พระยาทรงสุรเดช  ความขัดแย้งระหว่างหลวงพิบูลสงครามกับพระยาทรงสุรเดชถึงจุดระเบิดในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒

    เช้าวันนั้น เครื่องบินลำหนึ่งบินเหนือฟ้ากรุงเทพฯ รถจักรยานยนต์และรถยนต์ของตำรวจแล่นพล่านไปทั่วเมือง ตามคำสั่งของหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตำรวจไปตรวจค้นบ้านของผู้ต้องสงสัยหลายคน ตั้งแต่วังกรมขุนชัยนาทนเรนทร วังศุโขทัย วังเทเวศร์ ตำหนัก ม.จ. ถาวรมงคล วัง ม.จ. ทองอนุวัตร์ ทองใหญ่ บ้าน  ร.ท. ณ เณร ตาละลักษมณ์ บ้านนายเลียง ไชยกาล ฯลฯ

    วิทยุรายงานว่าการจับกุมเกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒ ทางการจับกุมผู้ที่ต้องสงสัย ๕๑ คน ข้อหาก่อการกบฏ ผู้ที่ถูกจับกุมมีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และผู้แทนราษฎร

    การกวาดล้างครั้งนี้ถูกโยงกับความพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามหลายครั้ง

    การกวาดล้างใหญ่ทางการเมือง ชื่อทางการว่า กบฏพระยาทรงสุรเดช ผู้ถูกจับมีตั้งแต่ประชาชน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ รัฐมนตรี ไปจนถึงพระราชวงศ์ชั้นสูง

    ฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าหากพระยาทรงสุรเดชคิดจะยึดอำนาจจริง ย่อมต้องใช้เงิน เวลานั้นผู้ที่สามารถให้เงินทุนก่อรัฐประหารน่าจะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง แต่ในเมื่อรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติและเสด็จไปประทับที่อังกฤษแล้ว กรมพระนครสวรรค์ฯก็ทรงลี้ภัยอยู่ที่ชวา ก็เหลือแต่กรมขุนชัยนาทนเรนทรพระองค์เดียวที่ยังมีอำนาจ บารมี และเงินทองพอที่จะหนุนหลังการยึดอำนาจ

    สายสืบของรัฐบาลเห็นกรมขุนชัยนาทฯเสด็จไปเชียงใหม่บ่อย ๆ ก็เดาว่าต้องทรงเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารที่เชียงใหม่ที่คิดยึดอำนาจ ความจริงแล้วพระองค์โปรดเสด็จไปประทับทางภาคเหนือ เพราะประชวรพระโรคหืด จึงต้องไปจังหวัดที่มีอากาศแห้งเช่นเชียงใหม่และลำปาง เคยเสด็จไปประทับกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ลำปางหลายครั้ง

    คำสั่งจับกรมขุนชัยนาทฯมาจากเบื้องบนโดยตรง เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ควบคุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่สถานีรถไฟลำปาง แล้วนำเสด็จเข้ากรุงเทพฯ

    ประชาชนชาวไทยแทบทุกคนตกใจ

    การจับกุมบุคคลสำคัญระดับสูงอย่างไม่ไว้หน้า เป็นการส่งสัญญาณว่าผู้มีอำนาจไม่ประนีประนอมกับกลุ่มต่อต้าน จะเล่นแรง เล่นหนัก เล่นถึงตาย

    อีกครั้งรัฐบาลตั้งศาลพิเศษ

    ศาลพิเศษใช้เวลาพิจารณาคดีกบฏพระยาทรงสุรเดชนานสิบเดือนและพิพากษาตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหา ๒๑ คน แต่ละเว้นชีวิตสามคนเป็นจำคุกตลอดชีวิต ได้แก่ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยาเทพหัสดิน และหลวงชำนาญยุทธศิลป์

    นักโทษแทบทั้งหมดมีสายสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับพระยาทรงสุรเดช เช่น นายดาบพวง พลนาวี เป็นพี่เขยพระยาทรงสุรเดช ร.อ. ขุนคลี่พลพฤณฑ์ (คลี่ สุนทรารชุน) ร.อ. จรัส สุนทรภักดี ร.ท. แสง วัณณะศิริ ร.ท. สัย เกษจินดา ร.ท. เสริม พุ่มทอง เป็นลูกศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช

    กรมขุนชัยนาทฯถูกศาลพิเศษพิจารณาโทษ ทรงถูกถอดฐานันดรศักดิ์ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด นามในคุกบางขวางของพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ พระองค์นี้คือนายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยาหรือนักโทษชายรังสิต

    เล่นแรง เล่นหนัก เล่นถึงตาย

    ...................................

    ‘กบฏพระยาทรงสุรเดช’ ไม่ว่าเป็นกบฏจริงหรือข้อกล่าวหา ก็เป็นจุดสิ้นสุดของสี่ทหารเสือ

    พระยาฤทธิอัคเนย์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม ได้รับข้อเสนอสองข้อ เข้าคุกหรือออกนอกประเทศ

    พระยาฤทธิอัคเนย์เลือกไปลี้ภัยที่ปีนัง ถูกประกาศจับ มีค่าหัวหนึ่งหมื่นบาทรออยู่ที่บ้าน

    พระประศาสน์พิทยายุทธก็ตกอยู่ในชะตากรรมของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่โชคดีที่ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยเพื่อนไว้ โดยเสนอให้หลวงพิบูลสงครามส่งไปเป็นทูตที่เบอร์ลิน

    สำหรับพระยาทรงสุรเดช รัฐบาลส่งคนไปเจรจา

    “เจ้าคุณเป็นกบฏ เรามีข้อเสนอสองทาง หนึ่งคือโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิต สองคือเดินทางออกนอกประเทศ”

    พระยาทรงสุรเดชไม่เหลือทางเลือกใด กล้ำกลืนความคับแค้น เดินทางออกจากประเทศไทยทางรถไฟไปกัมพูชาพร้อมกับนายทหารคนสนิท ร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธิ์

    บั้นปลายชีวิตของพระยาทรงสุรเดชตกระกำลำบากในต่างแดน เลี้ยงชีพโดยทำขนมกล้วยขาย และรับจ้างซ่อมรถจักรยาน ครอบครัวล่มสลาย

    นายทหารใหญ่ผู้ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งเสียชีวิตในต่างแดนอย่างคนยากไร้อนาถาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ อายุ ๕๒ ปี จากโลกไปด้วยความตรอมตรมจากพิษการเมือง

    เกมชิงอำนาจในช่วงต้นของระบอบประชาธิปไตยไทยเป็นการฆ่ากันตรง ๆ ระหว่างคนที่กอดคอกันมา

    ออสการ์ ไวล์ด เขียนว่า “เพื่อนแท้แทงท่านตรงข้างหน้า”

    แต่ในโลกการเมืองไม่มีเพื่อนแท้

    โลกการเมืองคือโลกของการแทงมีดใส่กัน

    ความแตกต่างอยู่ที่ใครแทงก่อน

    .........................

    จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นสุดคุ้ม สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6 

    สั่งทางเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/176/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%20%E0%B9%91-%E0%B9%95%20+%20%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A9 

    0
    • 0 แชร์
    • 31

บทความล่าสุด