• วินทร์ เลียววาริณ
    14 วันที่ผ่านมา

    ชีวิตการเขียนหนังสือของผมมาแบบบังเอิญ ผมไม่ได้เรียนมาทางสายอักษรศาสตร์ และยิ่งไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียน มันเป็นแค่งานอดิเรกที่บังเอิญกลายเป็นอาชีพ

    ผมเปลี่ยนงานจากอาชีพที่ให้เงินมากมาเป็นนักเขียนอาชีพที่รายได้ไม่แน่นอนทำไม? ทั้งที่เป็นคนไม่ชอบเสี่ยง ผมก็อยากรู้เหมือนกัน มันเหมือนหมากพาไป ถึงตาต้องเดิน ก็เดิน

    ผมเปลี่ยนอาชีพแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือมาหลายรอบ ทุกครั้งที่เปลี่ยน ก็กล้า ๆ กลัว ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนงานตอนอายุมาก และมีภาระครอบครัว น่ากลัวที่สุด!

    การเปลี่ยนงานครั้งแรกคือลาจากอาชีพสถาปนิกไปเป็นนักออกแบบโฆษณา ตอนนั้นชีวิตงานสถาปนิกของผมก็ราบรื่นดี มีผลงานเข้าตาเจ้านายและลูกค้า ถ้าทำงานต่อไป ก็คงจะไปรอด

    แต่วันหนึ่งนึกอย่างไรไม่รู้ คิดจะไปเรียนสายกราฟิกดีไซน์ เป็นการตัดสินใจในนาทีเดียว แล้วก็หิ้วกระเป๋าเดินทางไปอเมริกา ง่าย ๆ อย่างนั้น เรียนแล้วก็นึกอยากลองไปทำงานในวงการใหม่ ก็คือวงการโฆษณา

    การเดินออกจากอาชีพหนึ่งในลักษณะนี้หมายถึงปิดโอกาสของการพัฒนาตัวเองในสายเดิมโดยปริยาย ขณะที่ยังไม่มีประสบการณ์ในทางสายใหม่เลยสักนิด

    ตอนนั้นก็แค่คิดว่า “อย่างมากก็กลับมาทำอย่างเดิม” ไม่มีอะไรเสียหาย

    วัยหนุ่มก็ดีอย่างนี้ ตัดสินใจได้ง่าย

    แต่การเปลี่ยนงานข้ามสายครั้งแรกห่างไกลจากคำว่าง่ายหลายโยชน์ เพราะไม่มีปริญญาบัตรด้านนี้ ไม่มีประสบการณ์ มีแต่ไฟ

    ไปสมัครงานหลายที่ ล้วนต้องการดูใบปริญญาทั้งนั้น

    บรัษัทเกือบทุกแห่งต้องการกระดาษ ไม่ใช่ไฟ

    ในที่สุดก็เล็ดลอดไปทำงานในสายโฆษณาจนได้ และไต่เต้าขึ้นไป ได้รับรางวัล และเช่นกัน มีผลงานเข้าตาเจ้านายและลูกค้า ถ้าทำงานต่อไป ก็คงจะไปรอด

    แต่วันหนึ่งก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อุตริอยากเปลี่ยนเป็นนักเขียนอาชีพ

    ตอนนั้นอายุราว ๆ 45 มีครอบครัวและภาระต้องรับผิดชอบ ขณะที่อาชีพนักเขียนนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก

    แต่ก็เดินเข้าไป จนมาถึงจุดนี้

    มานึกในวัยนี้ ก็ยังเสียวไส้อยู่

    .............

    การก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน แต่บางครั้งเราก็ต้องทำ เพื่อสานความฝันของเรา

    สัตว์ตระกูลผีเสื้อมีการเติบโตสี่ระยะ เริ่มที่ระยะไข่ ตามด้วยระยะหนอนเมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่ มันจะกินเปลือกไข่ของตัวเองเป็นอาหาร แล้วจึงเริ่มกินใบพืช เมื่อโตขึ้นก็จะลอกคราบราว 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งทำให้ตัวขยายขึ้น สีเปลี่ยนไป หลังจากนั้นก็เข้าสู่ระยะดักแด้ หนอนที่โตเต็มที่สร้างเส้นใยห่อหุ้มตนเอง และเปลี่ยนแปลงตัวเองภายในนั้น แล้วออกจากดักแด้ เป็นผีเสื้อ

    มนุษย์ก็ไม่ต่างจากผีเสื้อ มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ

    เราควรถามตัวเองเป็นระยะ ๆ ว่า เรากำลังเป็นอะไรอยู่ หนอน? 
    ดักแด้? หรือผีเสื้อ?

    บางคนอาจเป็นผีเสื้อได้เร็ว บางคนก็ช้า บางคนก็เลือกเป็นหนอนหรือดักแด้ไปตลอดชีวิต

    ไม่มีผิดหรือถูก มีแค่พอใจหรือไม่พอใจ

    ถ้าไม่พอใจ หรือยังไม่บรรลุเป้า ก็ลอกคราบ แล้วเปลี่ยนตัวเองเสีย

    แต่การลอกคราบไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สำเร็จทุกครั้ง

    คนส่วนมากไม่ชอบหรือไม่กล้าออกไปหาสิ่งใหม่ ไม่กล้าลองคิดใหม่ ไม่กล้าทดลองสิ่งที่ตนเองหรือองค์กรไม่กล้า บางคนไม่กล้าหางานใหม่ ไม่กล้าทำสิ่งที่แตกต่างจากความเคยชิน ไม่แม้แต่ชิมอาหารจานใหม่ นี่อาจทำให้เสียโอกาส

    คำถามคือเราจำเป็นต้องออกจาก comfort zone หรือ คำตอบคือไม่จำเป็น แต่มันช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนที่ไม่ยอมออกมาเลย

    จำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่เราก้าวออกจาก comfort zone คือเมื่อไร? ทำอะไร? รู้สึกอย่างไร?

    การก้าวออกจาก comfort zone คือการเปิดโลก บางครั้งคือความล้มเหลว แต่เราไม่อาจใช้ความล้มเหลวหนึ่งหรือสองครั้งสรุปเหมารวมว่ามันไม่ถูกต้อง

    เราจะออกจาก comfort zone อย่างไร

    ทางหนึ่งก็คือลงมือทำ กลัวอะไร ให้ทำสิ่งนั้น จะปรับตัวเองให้ชินกับการเผชิญหน้าสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อาจเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท้าทายซึ่งอาจไม่อยากทำ ให้ลองทำเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่เคยทำก่อน

    ทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเอง เช่น กลัวล้มเหลว มองในด้านที่ดีบ้าง ถ้ากลัว ก็วางแผนให้รอบคอบหน่อย

    ทางหนึ่งก็คือหาแรงบันดาลใจจากคนที่ก้าวออกจาก comfort zone แล้วประสบความสำเร็จ

    มองโลกในมุมต่างบ้าง ในมุมอื่น จะเห็นตัวเองในสภาพแวดล้อมใหม่ ชีวิตใหม่ หัดมองโลกในแง่ดี มองด้านสว่างบ้าง

    หลายคนอยู่ในสถานการณ์ลังเล สองจิตสองใจว่าจะเปลี่ยนสายงานดีหรือไม่

    ถามตัวเองว่าต้องการอะไร มีความฝันไหม ถามตัวเองว่า ถ้าไม่ทำสิ่งที่เราฝันถึง ไม่กล้าลงมือ ตอนแก่ตัวจะเสียใจหรือไม่ ถ้าคำตอบคือน่าจะใช่ ก็หาโอกาสทำเสียก่อนที่จะแก่และไม่มีแรงทำ

    เตรียมพร้อม แล้วก็ลุย

    อย่าลืมว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดในโลกเกิดขึ้นโดยไร้ความเสี่ยงเลย อยู่ที่เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย และเราคุมความเสี่ยงได้มากแค่ไหน

    การทำงานทุกสายอาชีพล้มเหลวได้ทั้งนั้น วางแผนให้รอบคอบรัดกุม แล้วลงมือทำให้เต็มที่ไปเลย

    ถ้าล้มเหลวก็ล้มเหลว ไม่ถึงตายหรอก และบางครั้งล้มเหลวก็ยังดีกว่าคาใจไปตลอดชีวิต

    วินทร์ เลียววาริณ
    21-4-25

    0
    • 0 แชร์
    • 28

บทความล่าสุด