• วินทร์ เลียววาริณ
    20 วันที่ผ่านมา

    เช้านี้พูดถึงหนังสือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ก็มีเกร็ดจะเล่าเสริม

    หนังสือเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้น ในปี 2541 สำนักพิมพ์ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ (แต่ไม่ได้ส่งเข้าประกวดรางวัลหนังสือดีเด่นของกระทรวงฯ เพราะหนังสือเล่มใดได้รับรางวัลมาก่อน ส่งเข้าประกวดไม่ได้)

    ใช่ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนั้น

    สิ่งที่ตามมาคือก้อนอิฐ

    นักอ่านรุุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า รางวัลซีไรต์ในยุคก่อนมักเป็นทุกขลาภ คือนักเขียนแทบทุกคนที่ได้รับรางวัลโดนถล่มบนหน้าสื่อ

    ผมได้รับรางวัลซีไรต์สองรอบ รอบแรก ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ถูกก้อนอิฐไปหลายก้อน ข้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์และ 'อาชญากรทางปัญญา' ตั้งตัวแทบไม่ทัน เกือบถอดใจเลิกเขียนหนังสือไปแล้ว

    เล่มหลัง สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ก็ได้รับก้อนอิฐอีกรอบ ข้อหา "มันไม่ใช่หนังสือรวมเรื่องสั้น" จึงผิดกติกา

    เหตุที่มีคนว่าไม่เป็นรวมเรื่องสั้น เพราะมันมีบทความแทรกเข้าไปด้วยในเล่ม

    ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงโดนถล่มตามระเบียบ

    ยุคนั้นหลายคนรับการเขียนแบบทดลองของผมไม่ได้! การมีบทความแทรกเข้าไปด้วยในเล่มก็เป็นเพียงพรีเซนเตชั่น เหมือนการใส่ภาพประกอบ เพราะหนังสือก็มีเรื่องสั้นตามปกติ

    รางวัลซีไรต์ในยุคนั้นจึงเป็นกิจกรรมที่มีสีสันมาก จะว่าไปแล้ว ผมว่าดีกว่าการทะเลาะกันตามหน้าโซเชียลในสมัยนี้ เพราะการจะถล่มคนอื่น ต้องเขียนบทความ ต้องมีการอ้างอิง มีเหตุผลประกอบ จะใช้อารมณ์ล้วนๆ ไม่ได้

    สมัยนั้นเมื่อมีคนปาก้อนอิฐ ก็มักมีคนแย้ง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องเขียนบทความมาโต้กัน เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีโซเชียลที่สามารถตีหัวใครด้วยประโยคเดียวเหมือนสมัยนี้

    ยุคนั้นผ่านไปแล้ว สมัยนี้ไม่มีคนเขียนบทความยาวๆ ไปถล่มคนอื่น เพราะมันเหนื่อย

    อีกอย่างตอนนี้ใครปาก้อนอิฐมา ก็เฉยๆ กบาลมันแข็งเสียแล้ว

    วินทร์ เลียววาริณ
    18-4-25

    0
    • 0 แชร์
    • 25

บทความล่าสุด