-
วินทร์ เลียววาริณ2 เดือนที่ผ่านมา
วันก่อนคุยเรื่องนิทานที่ผมเล่าใหม่คือ จีนกับใบมะขาม
วันนี้จะมาว่าถึงนิทานที่ผมแต่งเอง เป็นนิทานเสียดสีสังคม
คือ นิทานอีแสบ (กวน T ชื่อ นิทานอีสป)
วันนี้ขอนำนิทานอีแสบมาเล่าสักตอน ชื่อตอน หมาที่ลืมเงาทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง
กาลครั้งหนึ่งมีหมาไม่ธรรมดาตัวหนึ่ง... เหตุที่มันไม่ใช่หมาธรรมดา มิใช่เพราะมันมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนหมาตัวอื่น หากคือมันยุ่งทั้งวัน
เหตุที่มันยุ่งทั้งวันเพราะมันต้องการหาเงินมาก ๆ เหตุที่มันต้องการเงินมาก ๆ เพราะมันอยากรวย เหตุที่มันอยากรวยเพราะมันเคยเป็นหมายากจนมาก่อน มันจึงสัญญากับตัวเองว่า มันจะต้องร่ำรวยให้ได้ จะไม่ยอมตายอย่างหมาข้างถนนเป็นอันขาด
นับแต่วันนั้นมา มันก็ทำงานทั้งวันยันวัน บางครั้งก็ทำงานค่ำยันค่ำเพื่อเก็บเงิน หากินจนลืมวันลืมคืน ไม่มีเวลาแม้ส่องดูเงาตนเองในน้ำ
วันหนึ่งมันเดินผ่านลำธารสายหนึ่ง นึกอย่างไรไม่รู้ ก้มดูตัวเองในน้ำ พลันมันตะลึง เมื่อพบว่าในน้ำไม่มีเงาของมันเอง
มันยืนกลางแดด ก้มลงดูพื้นที่มันเหยียบ ก็ไม่เห็นเงาของมัน
มันถามกวางที่เดินผ่านมา "ท่านเห็นเงาของข้าบ้างไหม?"
กวางบอกว่า "ไม่เห็น"
มันถามหมูป่าที่เดินผ่านมา "ท่านเห็นเงาของข้าบ้างไหม?"
หมูป่าตอบอย่างเดียวกับกวาง
มันถามต้นหญ้าที่มันยืนอยู่ "ท่านเห็นเงาของข้าบ้างไหม?"
ต้นหญ้าตอบอย่างเดียวกับกวางและหมูป่า เป็นอย่างนี้ไปทุกครั้งจนมันเลิกถาม
มันไปหาลิงซึ่งเปิดสำนักงานนักสืบ ให้ช่วยสืบหาเงาที่หายไป
"ท่านเห็นเงาของท่านครั้งสุดท้ายเมื่อใด?"
"จำไม่ได้ หลายปีที่ผ่านมา ข้าทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูเงาตัวเอง"
"เงาของท่านมีหน้าตาอย่างไร?"
"ท่านถามทำไม? ในเมื่อเป็นเงาของข้าเอง รูปร่างหน้าตาของเงาก็ย่อมสะท้อนตัวข้าเอง"
"บางตัวไม่ชอบใช้เงาตัวเอง"
หมาตัวนั้นนึกไม่ออกว่าตนเองทำเงาหายที่ไหน
นักสืบบอกว่า "ในช่วงเวลาที่ข้าตามสืบ ท่านก็ใช้เงาของผู้อื่นไปพลางก่อน การไม่มีเงาติดตัวนี่ออกจะเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพไปหน่อย"
หมาไปหาซื้อเงาที่ร้านขายเงา ผู้ขายกล่าวว่า "ร้านของเราไม่ได้ใหญ่ที่สุดในป่านี้ แต่มีเงาให้เลือกมากที่สุด เรามีเงาของช้าง เงาของแรด เงาของสิงโต..."
"เงาของหมามีไหม?"
"ท่านจะสวมเงาหมาไปทำไม ไม่มีใครอยากได้เงาหมากัน มีแต่อยากจะเปลี่ยนทั้งนั้น เอาเงาช้างดีกว่า ดูสง่ากว่ากันเยอะ"
"แต่เงาช้างนั้นใหญ่กว่าตัวข้ามาก เมื่อสวมเงาแล้วจะดูผิดส่วน"
"ผิดนิดผิดหน่อยจะเป็นไร ในเมื่อดูสง่างามกว่าเงาหมามาก"
หมาเดินออกจากร้านนั้นพร้อมกับเงาช้าง มันรู้สึกอึดอัดที่ต้องแบกเงาอันหนักอึ้ง แต่เมื่อสัตว์อื่นที่ผ่านทางมาชมว่าเงาของมันสง่ายิ่ง มันก็รู้สึกดีขึ้น
มันสวมเงาหนักอึ้งของช้างอยู่นาน จนวันหนึ่งมันก็แบกรับเงานั้นไม่ไหว มันตัดสินใจถอดเงาช้างทิ้ง และเดินทางค้นหาเงาของมันต่อไป
มันกลายเป็นหมาที่ไร้เงา...
มันเดินทางไปที่ร้านขายเงาและซื้อเงาใหม่
เงาใหม่ของมันเป็นเงาสิงโต คราวนี้เงาของมันเบากว่าเดิม แต่กระนั้นก็ใหญ่เกินร่างมัน แต่เมื่อสัตว์อื่นชมมันว่า เงาของท่านช่างงามสง่าเช่นเจ้าป่า มันก็ยอมทนสวมเงาที่น่าอึดอัดนั้นต่อไป
หมาตัวนั้นสวมเงาสิงโตอยู่นาน จนวันหนึ่งมันก็ทนไม่ได้ มันถอดเงาสิงโตทิ้งไป มันกลายเป็นหมาที่ไร้เงาอีกครั้ง
วันหนึ่งมันพบเงาของมันทิ้งอยู่ที่ริมทาง เก่าขาดวิ่น มันหยิบเงาขาดวิ่นนั้นขึ้นมาสวม แม้จะสวมสบายกว่าเดิม แต่เงาของมันที่ปรากฏบนพื้นดูไม่ดีเลย สัตว์อื่นล้วนหัวเราะเยาะเงาที่ขาดวิ่นของมัน
แต่มันก็สวมเงานั้นต่อไป...
เงาของมันพูดกับมันว่า "ท่านรังเกียจข้าหรือ? เพราะข้าเก่าและขาดวิ่น?"
"เพราะผู้อื่นบอกว่าข้าไม่ควรสวมเงาที่เก่าขาด"
"แต่ท่านรู้ไหมว่าข้าเก่าและขาดเพราะท่านไม่เคยดูแลข้า หลายปีมานี้ เราไม่ได้คุยกันเลย"
"ข้ามัวยุ่งกับงาน"
หลังจากนั้นมันก็คุยกับเงาของมันทุกวัน ไม่นานต่อมาเงาที่ขาดวิ่นของมันก็ค่อย ๆ คืนตัว จนในที่สุดก็กลายเป็นเงาที่สมบูรณ์"
.......................
จากนวนิยาย ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85
0- แชร์
- 96
-
The Godfather ภาค 2 มีกลวิธีเล่าเรื่องอย่างหนึ่งที่เรียกว่า parallel stories หรือเรื่องคู่ขนาน
ในเรื่องนี้เรื่องคู่ขนานเล่าสองไทม์ไลน์ สายหนึ่งคือชีวิตของ วีโต คอลิโอน ผู้พ่อ อีกสายหนึ่งคือ ไมเคลิ คอลิโอน ผู้ลูก
แล้วโยงเชื่อมกัน ทั้งที่ตัวละครในสองเรื่องขนานอาจไม่ได้พบกันทั้งเรื่อง
ผมก็ใช้เทคนิคนี้หลายครั้งในนวนิยายและเรื่องสั้น ตัวอย่าง เช่น ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ตอน 2482/2488 เรื่องสั้น โลกีย-นิพพาน, เกม (อาเพศกำสรวล) เป็นต้น
ใน The Godfather ภาค 2 การเล่าเรื่องคู่ขนานทรงพลังมาก และเชื่อมต่อกันดั่งฝีมือเทพเจ้า เนียนไร้รอยตะเข็บ
มันไม่ใช่แค่ storytelling แล้ว มันคือ art
งานแบบนี้ถ้ามือไม่ถึง เละแน่นอน เพราะองค์ประกอบเรื่องเยอะเกินไป
แต่เรื่องนี้ บทถึง
มันคล้ายดูหนังสองเรื่องพร้อมกัน แต่ละเรื่องส่งเสริมอีกเรื่องหนึ่ง
ผมดู The Godfather มาหลายสิบรอบแล้ว ตั้งแต่หนังออกฉายในโรงจนบัดนี้ ก็ยังหาจุดแย่ไม่พบ
ตอนที่อยู่ที่นิวยอร์กในยุค 80 ผมไปดู The Godfather ภาค 1-2 ฉายควบ เชื่อว่าคนดูเกือบทั้งโรงเคยดูมาก่อน แต่เมื่อหนังจบ เสียงปรบมือดังก้องโรงหนัง ทั้งที่เป็นโรงหนังชั้นสองเก่าๆ
นี่คือพลังของหนังที่ดี
กราบ
วินทร์ เลียววาริณ
7-7-251 วันที่ผ่านมา -
"มันไม่ยุติธรรมเลย สังคมมักตัดสินคนที่เปลือกนอกและภาพลักษณ์ เช่น รัฐมนตรีทุกคนเลว กินบ้านกินเมือง" ท่านรัฐมนตรีรักชาติเปรยกับจิตแพทย์
ใช่ การทำงานการเมืองเพื่อประชาชนทำให้ท่านรัฐมนตรีรักชาติเครียด จนจำต้องพึ่งจิตแพทย์
จิตแพทย์เอ่ย "ผมเข้าใจครับท่าน ท่านทำงานเพื่อชาติมาโดยตลอด"
แล้วจดลงบนสมุดโน้ตว่า "คนไข้บอกว่ารัฐมนตรีทุกคนเลว กินบ้านกินเมือง"
"ผมเป็นพวกทำดีได้ D"
หมอพยักหน้า แล้วจดลงบนสมุดโน้ตว่า "คนไข้บอกว่าทำ D ได้ดี"
"คุณหมอมีทางแก้ไหมครับ?"
"มี"
"อะไร?"
"ผมว่ายาที่ดีที่สุดในโลกคือธรรมะ"
"จริง หมอว่าควรอ่านหรือฟังธรรมะดีครับ?"
"อ่านก็สะดวกนะ อย่างเช่นเล่ม มังกรเซน ของ..."
"อ๋อ! หนังสือของนักเขียนกวนตีนคนนั้น ไม่ไหวครับ เขียนก็ไม่ได้เรื่อง แล้วยัง stir foot อีก"
"เขามี Mini Zen นะ Mini Tao ก็มี Mini Stoic ก็เข้าท่า"
"ไม่เอาทั้งสิ้น ไอ้นักเขียนเปรตคนนี้"
จิตแพทย์ว่า "งั้นก็เข้าวัดดีกว่าครับ ท่านรัฐมนตรีอาจลองเข้าวัดเข้าวาฟังธรรมบ้าง”
“ผมก็ไปวัดบ่อยครับ”
"วัดวาอารามนะครับ ไม่ใช่วัดตัว แล้วไม่ใช่วัดที่เจ้าอาวาสเล่นพนันกันหลายร้อยล้าน"
"ผมรู้น่า หมอ ผมรู้จักเข้าวัดดีๆ"
"คุณฟังพระเทศน์?"
"ใช่ ผมฟัง"
"แล้วคุณทำตามที่พระเทศน์ไหม?"
"ทำซีครับ ผมเป็นคนที่เชื่อพระ และผมก็ทำตามที่พระเทศน์เสมอ”
จิตแพทย์ถาม “ยังไงครับ?”
“อย่างวันก่อนพระเทศน์ว่า ‘การดื่มสุรายาเมาก็ดี... การเล่นพนันก็ดี... คอร์รัปชั่นก็ดี... การโกงก็ดี... ผมฟังแค่นี้ก็กลับบ้านเลย เพราะผมทุกอย่างที่ท่านว่า 'ก็ดี' ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว"
(แปลงจากขำขันที่เคยอ่านมา)
วินทร์ เลียววาริณ
7-7-251 วันที่ผ่านมา -
“ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด... แต่ถ้ายี่เกยจะบวช ผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย” ผู้พูดคือ เงื่อม พานิช หลังบวชได้หนึ่งพรรษา
ยี่เกยคือชื่อของน้องชายของเขา
ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช บวชตั้งแต่อายุยังน้อย จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ท่านเผยแผ่ธรรมต่อเนื่อง เขียนหนังสือมากมาย เทศนาบรรยายธรรมไม่หยุด ล้วนเป็นแก่นธรรมที่ลุ่มลึก เป็นแสงสว่างของชาวไทยมานานหลายสิบปี เป็นปูชนียบุคคลมิเพียงของเมืองไทย แต่ของทั้งโลก
ปีนั้นคือ พ.ศ. 2470 ตามที่ตกลงไว้ เงื่อมจะบวชแค่สามเดือนแล้วกลับไปค้าขายที่บ้าน ต่อด้วยคิวของน้องชายท่านนามยี่เกยบวช แล้วไปเรียนแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
เจ้าคณะอำเภอได้ยินประโยคข้างต้น ก็ไปคุยกับโยมแม่ของเขา บอกว่าเงื่อมควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เกยผู้น้องนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะใช้ชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว
เจ้าคณะอำเภอคุยกับโยมแม่ของเงื่อม เห็นว่าเงื่อมควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เกยไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะใช้ชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว
ผลก็คือยี่เกยเปิดโอกาสให้พี่ชายบวชต่อไป นอกจากนี้ยังยอมเลิกเรียนแพทย์ตั้งแต่เทอมแรก เพื่อทำการค้าของครอบครัว
ยี่เกยคือ ธรรมทาส พานิช เงื่อมก็คือพุทธทาสภิกขุ
ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ของฆราวาสที่ดีงามคนหนึ่ง ทำให้โลกมีพระที่ดีงามรูปหนึ่ง ผู้ที่ในกาลต่อมาสร้างฆราวาสที่ดีงามอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
นานปีให้หลังมีคนถาม ธรรมทาส พานิช ว่า เสียดายหรือไม่ที่ไม่ได้เรียนหมอ
ธรรมทาส พานิช ตอบว่า “พวกคุณลองคิดดูว่า เปรียบเทียบระหว่างที่ได้ท่านพุทธทาสภิกขุมาองค์หนึ่ง กับได้หมอมาคนหนึ่ง อย่างไหนมีค่ามีความสำคัญกว่ากัน”
จิตใจสูง เฉียบคม ลุ่มลึก กราบคารวะ
(สวัสดีวันจันทร์ ขอให้ทั้งสัปดาห์สุขด้วยธรรมะ)
วินทร์ เลียววาริณ
7-7-25
......................หมายเหตุ : ท่านธรรมทาส พานิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะธรรมทาน สวนโมกขพลาราม โรงเรียนพุทธนิคม โรงพิมพ์ธรรมทาน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือธรรมจำนวนมาก ท่านเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาของสวนโมกขพลาราม ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในปี 2543 อายุ 92 ปี
1 วันที่ผ่านมา -
ในหนังเรื่อง The Godfather Part Two มีฉากที่ตัวละคร Frank Pentangeli ต้องให้การต่อรัฐสภา เพื่อเอาผิดเจ้าพ่อ ไมเคิล คอลิโอน ก่อนหน้านั้นเขาสารภาพกับทางการแล้วว่า เขาก่ออาชญากรรมต่างๆ ตามคำสั่งของเจ้าพ่อ
ก่อนที่เขาจะให้การใดๆ สายตาเขาก็เหลือบเห็นพี่ชายของเขาเดินมากับเจ้าพ่อ พี่ชายของเขาอาศัยอยู่ที่เกาะซิซีลี ไม่เคยเดินทางไปไหน แต่วันนี้กลับมาปรากฏตัวที่นี่
แฟรงก์รู้ทันทีว่านี่เป็นการเดินหมากของไมเคิล เพื่อนำพี่ชายของเขามาเตือนเขาว่า "อย่าพูด" มิฉะนั้นจะมีผลที่ตามมา
แฟรงก์กลับคำให้การ บอกว่าไม่รู้จักเจ้าพ่อใดๆ ทั้งสิ้น ที่มาให้การเพราะพวกเอฟบีไอสั่งมา ว่าแล้วก็หัวเราะขำๆ
หลังจากแฟรงก์ถูกเอฟบีไอพากลับไปที่พักในค่ายทหาร ทอม เฮเกน ทนายของไมเคิลก็ไปหา บอกให้เขาฆ่าตัวตาย (ฉากนี้คลาสสิกมาก)
แฟรงก์ก็ฆ่าตัวตายอย่างว่าง่าย
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า omertà
โอแมร์ตาคือสัญญาชนิดหนึ่งหรือวิถีปฏิบัติของพวกอาชญากรอิตาเลียน นั่นคือหากถูกตำรวจจับ จะไม่พูด ไม่ซัดทอด ไม่หักหลังกัน
มันเป็นสัญญาเลือด ใครฝ่าฝืนจะต้องตาย
นักเขียน มาริโอ พูโซ ใส่หลักการโอแมร์ตาในนวนิยายของเขาหลายเรื่อง เช่น The Godfather, The Sicilian และ Omertà
ฉากให้การฉากนี้เรียบง่ายมาก แค่ให้ตัวละครพี่ชายโผล่เข้ามาเงียบๆ โดยไม่ต้องพูดสักคำเดียว ก็ทรงพลัง พิสูจน์ว่า ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ทำหนังเป็นตั้งแต่หนุ่ม
The Godfather Part Two เป็นงานชั้นครู เป็นภาคต่อที่จัดว่ายอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกภาพยนตร์ อาจดีกว่าภาคแรกด้วยซ้ำ นี่เป็นครั้งที่สองที่ มาริโอ พูโซ ร่วมเขียนบทกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา
ทั้งสองเรื่องได้รับรางวัลออสการ์บทยอดเยี่ยม ทั้งที่ มาริโอ พูโซ ไม่เคยเขียนบทมาก่อน
ทั้งสองเรื่องสุดยอดจริงๆ (11/10)
กราบ
วินทร์ เลียววาริณ
6-7-251 วันที่ผ่านมา -
ก่อนยุคโทกุงาวะแห่งเอโดะ แผ่นดินญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยการรบพุ่ง นักรบนาม ไทโค ชมชอบการดื่มชาและศึกษาพิธีฉะโนะยุกับท่านอาจารย์ เซน โนะ ริคิว ปรมาจารย์แห่งวิชาชงชา ทุกครั้งที่ไทโคเข้าพิธีดื่มชากับอาจารย์ ก็เช่นนักบวชผู้ละวางปัญหาทางโลก จิตดิ่งสู่ความสงบของสันติและความงามอย่างเต็มเปี่ยม เป็นโมงยามที่หายากสำหรับนักรบ
นักดาบลูกน้องของไทโค นาม คาโต เห็นว่าเจ้านายมัวแต่เสียเวลาในพิธีชา เสียการเสียงานของรัฐ อีกทั้งเสียภาพลักษณ์ของนักรบผู้หาญกล้า จึงตัดสินใจที่จะยุติปัญหาแต่ต้นตอ นั่นคือสังหาร เซน โนะ ริคิว เสีย
อันอาจารย์ เซน โนะ ริคิว ผู้นี้เกิดที่เมืองซาไก (ปัจจุบันคือ โอซากา) บิดาเป็นพ่อค้า เขาเรียนรู้เรื่องชามาแต่เล็กจากอาจารย์ คิตะมุคิ โดจิน และได้เรียนเซนสายรินไซกับอาจารย์ โซโต ไดริน แห่งวัดนันชูที่ซาไก ต่อมาก็ไปฝึกเซนที่วัดไดโทคุ
อายุสิบเก้าท่านเรียนเรื่องชากับ ทาเคโนะ โจ ปรมาจารย์พิธีชงชาแห่งซาไก และตลอดชีวิตของท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพิธีชงชา เคยเป็นอาจารย์ชงชาให้สองขุนศึกใหญ่แห่งญี่ปุ่นคือ โอดะ โนบุนากะ กับ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ
เซน โนะ ริคิว ได้พัฒนาประเพณีฉะโนะยุจนเกือบสมบูรณ์ เช่น การใช้แจกันดอกไม้ ที่ตักชา ที่รองฝากาทำด้วยไม้ไผ่ ถ้วยชาแบบราคุ ยาคิ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาความร้อนต่ำทำให้ไม่เรียบและมีรูพรุน และเป็นต้นตำรับของถ้วยชา ท่านทำให้พิธีชงชาเป็นสิ่งที่แพร่หลายทั่วญี่ปุ่น
คาโตเดินทางไปพบท่านเซน โนะ ริคิว และขออนุญาตเข้าร่วมพิธีดื่มชา ปรมาจารย์ด้านชาอนุญาต
อาจารย์เซน โนะ ริคิว มองเห็นเจตนารมณ์ของนักดาบผู้มาเยือน แต่ยังคงรักษาความเยือกเย็นไว้ได้ สีหน้ายิ้มละไม ท่านเชิญนักดาบเข้าไปในห้องพิธี กล่าวว่า "ท่านคาโตสมควรวางดาบของท่านไว้นอกห้อง"
คาโตกล่าวว่า "ข้าเป็นนักรบ ข้าไม่เคยวางดาบของข้า"
"ฉะโนะยุเป็นพิธีแห่งสันติและความสงบแห่งจิต การพกดาบย่อมขัดต่อความหมายของมัน"
"ข้าเป็นนักรบ ข้ามีดาบเคียงกายตลอดเวลา จะเป็นพิธีฉะโนะยุหรือพิธีอันใดก็ตาม ข้าก็มีดาบของข้า"
เซน โนะ ริคิว ยิ้มน้อย ๆ "เช่นนั้นท่านจงพกดาบของท่าน และเข้ามาดื่มชากันเถิด"
นักฆ่าวางดาบบนพื้นเสื่อตาตามิ ขณะที่เจ้าของสถานที่เริ่มต้มน้ำ มองออกนอกห้อง ผ่านชานเรือน แลเห็นฝูงปลาว่ายวนในบ่อหิน เสียงน้ำไหลรินต่อเนื่อง นี่คือสถานที่สงบงามอย่างแท้จริง แต่นักดาบไม่ลืมภารกิจของเขา
กาน้ำวางบนถ่านไฟร้อนแดง ไม่นานน้ำในกาก็เดือดปุด เซน โนะ ริคิว ยิ้มขณะยกกาน้ำขึ้นมาหมายรินลงถ้วย แต่มือที่อ่อนล้าจับกาน้ำไม่ถนัด เป็นผลให้กาน้ำพลาดหลุดจากมือ เทราดบนถ่านไฟ เสียงฉ่าของน้ำเดือดดังพร้อมไอน้ำที่พลุ่งขึ้นมา ไอและขี้เถ้าฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง
อาจารย์เซน โนะ ริคิว เอ่ยกับแขกที่มาเยือน "เราขออภัยต่อท่าน นี่เป็นความผิดพลาดของเราเอง ได้โปรดกลับเข้ามานั่งดื่มชาก่อน บัดนี้ดาบยาวของท่านเปื้อนขี้เถ้าเลอะเทอะ เราจะเช็ดดาบของท่านจนสะอาด แล้วค่อยคืนแก่ท่าน"
ผู้มาเยือนดื่มชาที่อาจารย์ยื่นให้ เมื่อชาหมดถ้วย นักฆ่าก็ลาอาจารย์เซน โนะ ริคิว จากไปเงียบ ๆ พร้อมดาบของเขา
วินทร์ เลียววาริณ
6-7-25.............................
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
มังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/244/Mini%20Zen%20คู่%20Mini%20Tao
1 วันที่ผ่านมา