-
วินทร์ เลียววาริณ28 วันที่ผ่านมา
ไม่เพียง แดน บราวน์ ที่ถูกนำมากวนเล่น นักเขียนโก้วเล้งก็ยังโดน
นี่คือแซมเปิ้ล
โลก # 000,000,022
ข้าพเจ้านั่งที่เก้าอี้ไม้ริมหน้าต่างร้านพับผ่า มองผู้คนเดินผ่านไปมา
ข้าพเจ้ารินไวน์แดงใส่จอก หยิบหนังสือ มาเฟียก้นซอย ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ขึ้นมาอ่าน
นอกจากข้าพเจ้าที่นั่งประจำตำแหน่งแล้ว ยังมีลูกค้าอีกคนหนึ่งที่ปักหลักดื่มและอ่านเงียบ ๆ ที่อีกมุมหนึ่งของผับเช่นกัน ผ่านไปหลายวันและหลายสบตา เราก็ร่วมโต๊ะเดียวกัน
แขกแปลกหน้าเอ่ย "ผมเห็นคุณอ่านหนังสือและจิบสุราไปด้วย ช่างเป็นภาพที่สวยงามเสียนี่กระไร"
"เมาอะไรก็มิสู้เมาเหล้ากับอักษรในเวลาเดียวกัน"
"หาคนที่รู้คุณค่าของหนังสือดีและสุราดียากนัก"
"ท่าทางคุณถ้าไม่เป็นกวี ก็ต้องเป็นปัญญาชน"
"ผมชื่อโก้วเล้ง ผมเป็นนักแต่งนิทาน"
"ผมชื่อ สาย ธารี ผมเป็นนักเขียน"
"ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดน่าปีติไปกว่าการร่ำดื่มเมรัยรสเลิศกับอ่านหนังสือดี"
"น่ายินดีที่พบหนอนหนังสือที่นิยมสุรา"
"หากเป็นสมัยโบราณ เราสองต้องกรีดเลือดสาบานเป็นพี่น้องกัน"
"สาบานด้วยเหล้าก็เพียงพอ มิสมควรกรีดเลือด มันเจ็บ"
ข้าพเจ้าถามเขา "คุณมาจากเมืองจีน?"
"ใช่"
"คุณเดินทางมาไกลเพื่ออ่านหนังสือในร้านเหล้าเล็ก ๆ ที่นี่หรือ?"
"เดินทางมาแค่นี้ไม่ถือว่าไกล บรรพบุรุษของผมเดินทางไกลกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า"
"บรรพบุรุษของคุณ?"
"ผมสืบเชื้อสายมาจากนักแต่งนิทาน ฮันส์ แอนเดอร์เซน"
"อัศจรรย์ยิ่ง ฮันส์ แอนเดอร์เซน เป็นคนจีน?"
"ไม่น่าแปลก คนจีนทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การประดิษฐ์กระดาษ ดินระเบิด ฟุตบอล ไปจนถึงการค้นพบอเมริกา"
"ฟุตบอล? ตลกน่า! ส่วนอเมริกามิใช่โคลัมบัสเป็นผู้ค้นพบหรอกหรือ?"
"หามิได้ ชาวจีนเอาถุงหนังมาเตะนานก่อนหน้าชาวยุโรป ส่วนอเมริกานั้น ท่านอำมาตย์เจิ้งเหอไปทัวร์เล่นนานก่อนโคลัมบัส จะเห็นว่าจีนรู้จักโลกตะวันตกเป็นอย่างดีมานานแล้ว สมัยเมื่อทางสายไหมเชื่อมจีนกับยุโรปนั้น ชาวจีนนาม มาร์โค โปโล ก็เดินทางไปทัวร์ที่ยุโรป..."
"ว้าย! มาร์โค โปโล ก็เป็นคนจีนด้วยหรือ?"
"อ้าว! คุณไม่รู้หรอกหรือ มาร์โค โปโล เป็นชาวฮั่น แซ่หม่า หรือแต้จิ๋วออกเสียงว่า เบ๊ แปลว่าม้า ชื่อจริงว่า หม่าโปโหล ตระกูลของเขาเลี้ยงม้าในราชสำนัก รู้เรื่องม้าดีเยี่ยม เมื่อไปถึงยุโรป พวกฝรั่งเรียกเขาว่า มาร์ค โปโล พวกอิตาเลียนเรียกเขาว่า มาร์โค โปโล"
"ที่แท้เป็นเช่นนี้เอง"
"ชื่อเมืองหม่าเก๊า หรือที่พวกคุณรู้จักในชื่อ มาเก๊า ก็มาจากชื่อของเขา ส่วนในยุโรปชื่อ โปโล ของเขายังกลายเป็นกีฬาเกี่ยวกับม้า และยังเป็นยี่ห้อสินค้าแฟชั่นตราม้า..."
"แล้ว ฮันส์ แอนเดอร์เซน..."
"ใจเย็น ๆ หม่าโปโหลตั้งรกรากที่ยุโรปพักหนึ่งก็เบื่อ จึงออกเดินทางไปทั่ว ครั้งหนึ่งเขาผ่านพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเดนมาร์ก ถูกโจรร้ายสิบกว่าคนรุมชิงทรัพย์ที่ชายป่า หม่าโปโหลฆ่าโจรตายไปหลายคน แต่น้ำน้อยก็แพ้ไฟ เขาตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกฟันหลายแผล เลือดโทรมร่าง แต่ก็ยังสู้ต่อไป ชั่วขณะหนึ่งเขาล้มลง โจรคนหนึ่งเงื้อดาบจะฟันเขา พลันลูกธนูดอกหนึ่งแล่นมาปักอกโจรตายคาที่ หม่าโปโหลลุกขึ้นมา เห็นลูกธนูยิงออกมาจากป่าไม่หยุด ร่างโจรล้มลงตายจนหมดสิ้น...
"หลังจากนั้นเขาเห็นม้าตัวหนึ่งทะยานออกจากที่นั้นไป หม่าโปโหลต้องการขอบคุณคนแปลกหน้าผู้นั้น จึงขี่ม้าตามไป จนม้าแซงม้าของคนที่ช่วยชีวิตเขาไว้ คนแปลกหน้าสวมชุดคลุมหน้าดำ แต่ม้าของคนแปลกหน้านั้นแซงม้าของเขาไปราวลมพัด หม่าโปโหลควบม้าไล่ตาม ทั้งสองจึงประลองแข่งม้าไปโดยปริยาย ผลัดกันนำหน้า เมื่อม้าทั้งสองไปถึงยอดเขา ก็น้ำลายฟูมปาก หมดแรง ม้าของคนแปลกหน้าล้มลง ร่างของคนแปลกหน้ากระเด็นตกลงไป ผ้าที่ปิดหน้าหลุดออก เขาตะลึงงันเมื่อพบว่า คนที่ช่วยชีวิตเขาเป็นสตรีนางหนึ่ง เมื่อม้าบาดเจ็บ ทั้งสองจำเป็นต้องผ่านราตรีนั้นด้วยกันบนยอดเขา คืนนั้นจันทร์ลอยเด่น อากาศเย็นยะเยือกชวนฝัน ทั้งสองก็รักกัน"
"รักกันเร็วปานนั้น?"
"แน่ละ ในเมื่อนางงามเพียงนั้น ชายใดในโลกจะฝ่าพ้นด่านนางงามได้ นางนั้นชื่อ รตี"
"รตี?" ข้าพเจ้าพึมพำ "...ทำไมคุณรู้ละเอียดนัก?"
"เรื่องนี้หม่าโปโหลบันทึกเอาไว้ในสมุดนิทานของเขา"
"หม่าโปโหลก็ชอบเล่านิทาน?"
"แน่ละ นักเดินทางในสมัยนั้นต้องฝ่าฟันพื้นที่ต่าง ๆ การเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง ย่อมช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้านให้ดีขึ้น นั่นหมายถึงอาหารและที่พักแรม"
"ถูกของคุณ"
"อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นการมีสัมพันธ์สวาทกับชาวตะวันออกเป็นเรื่องต้องห้าม หม่าโปโหลถูกจับขังคุก เพื่อนคนหนึ่งจึงหาทางแก้ปัญหาโดยไปปรึกษาหลวงพ่อ หลวงพ่อให้ยาพิเศษมาหนึ่งขวด เป็นยาที่กินเข้าไปแล้วจะตายชั่วคราว กล่าวคือ ชีพจรหยุดเต้น ตัวเย็นแข็งทื่อเหมือนศพจริง เมื่อผ่านสี่สิบแปดชั่วโมงไปแล้ว จะฟื้นเป็นปกติ"
"เป็นตัวยาพิสดารจริง"
"เพื่อนคนนั้นติดสินบนยามในคุกให้นำยาไปให้หม่าโปโหล ขณะเดียวกันก็ส่งคนไปแจ้งความลับนี้แก่นางรตี หม่าโปโหลกินยานั้นก็ 'ตาย' ไปชั่วคราว คนคุกจึงนำศพของเขาออกมาจากคุกไปที่กระท่อมร้างแห่งหนึ่งซึ่งเป็นจุดนัดพบ แล้วก็กลับไป นางรตีไปที่จุดนัดพบ พบร่างไร้ชีวิตของหม่าโปโหล จึงฆ่าตัวตายไปด้วยความทุกข์ระทมระทวย"
"อ้าว! ทำไมนางไม่รู้ว่าเขาตายชั่วคราว?"
"คนส่งข่าวนั้นเป็นอัลไซเมอร์ ขี้หลงขี้ลืม เขาแค่บอกให้นางไปพบคนรักที่จุดนัดหมาย แต่ไม่ได้บอกเรื่องยาลึกลับ"
"ทำไมชุ่ยอย่างนี้?"
"ชีวิตจริงของเราก็ชุ่ยอย่างนี้แหละ ผ่านไปสี่สิบแปดชั่วโมง หม่าโปโหลฟื้นขึ้นมา เห็นศพรตีก็เสียใจ เขาก็ฆ่าตัวตายด้วยความทุกข์ระทมระทวยไปอีกคน"
"คุณมีกระดาษทิชชูไหม?"
"ตำนานนั้นเล่าสืบต่อกันมาจนไปถึงแผ่นดินอังกฤษ ภายหลังมันก็จุดประกายให้นักเขียนรุ่นหลังคือ เชกสเปียร์ แต่งเรื่อง โรเมโอกับจูเลียต ชื่อ หม่าโปโหล เพี้ยนเป็น โรเมโอ ส่วน รตี เพี้ยนเป็น จูเลียต"
"หม่าโปโหล เพี้ยนเป็น โรเมโอ น่ะพอทน แต่ รตี เพี้ยนเป็น จูเลียต นี่มันคนละเรื่องเลยนะ"
"อย่าคิดมากน่า ประวัติศาสตร์บิดเบี้ยวแค่นี้ไม่เท่าไหร่ นักการเมืองบ้านคุณสัญญาบิดเบือนความจริงมากกว่านี้หลายเท่า"
"อุ้ย! เจ็บ!"
"ตอนที่หม่าโปโหลติดคุกนั้น นางรตีให้กำเนิดทารกคนหนึ่ง แต่เนื่องจากนางกลัวว่าทางการจะพรากเด็กไปจากนาง จึงมอบทารกนั้นให้ญาติคนหนึ่งรับเป็นลูกบุญธรรม เมื่อนางตายไป เด็กคนนั้นถูกส่งเข้าโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า พวกเขาเรียกเด็กชายคนนั้นว่า ฮั่น'ส วอนเดอร์ สัน (Han's Wander Son) แปลว่าลูกชายพเนจรของชาวฮั่น ภายหลังตัว W ตกหล่นหายไป กลายเป็น Hans Anderson ภาษาเดนนิชสะกดว่า Andersen ก็คือ ฮันส์ แอนเดอร์เซน นักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงคนนั้น"
"ตำนานของคุณเหลือเชื่อยิ่งนัก"
"ไม่เหลือเชื่อไปกว่าคอร์รัปชั่นประชานิยมบ้านคุณหรอก"
"อุ้ย! เพนฟูล!"
(ยังมีต่อ)
0- แชร์
- 29
-
The public have an insatiable curiosity to know everything, except what is worth knowing.
Oscar Wilde
1 วันที่ผ่านมา -
รู้ไหมว่าดวงดาวต่างจากดาวเคราะห์อย่างไร แม้ภาษาไทยใช้คำว่า 'ดาว' เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
ดวงดาวคือพระอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงาน เป็นจุดที่ระเบิดตูมตาม เรียก fusion อย่าไปสนใจเลยว่า fusion เป็นยังไง เดี๋ยวจะเกิด confusion เปล่าๆ
ดวงอาทิตย์ของเรา (Sun) มีแรงโน้มถ่วงสูงกว่าโลกเรา 28 เท่า ร้อนประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียส พอใช้ปิ้งหมูย่างได้ทั้งโลกนานหลายศตวรรษ
ส่วนดาวเคราะห์คือก้อนกลมๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์อีกที ดวงที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ก็ร้อนหน่อย ไกลออกไปก็หนาว บ้างก็เป็นน้ำแข็ง
โลกเราอยู่ตรงเขตสบายๆ ที่เรียกว่า Goldilock Zone เขาว่าเอื้อต่อการมีชีวิต แต่โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อ เพราะเราตั้งชื่อนี้ขึ้นเอาเอง และใช้มาตรฐานของเราเป็นตัวกำหนด
เราเชื่อมานานแล้วว่าดาวเคราะห์ดวงไหนก็ตามที่ไม่ใช่อยู่ใน Goldilock Zone จะไม่มีสิ่งมีชีวิต ดาวเคราะห์ที่ร้อนไปหรือเย็นไป หรือไม่มีแสงอาทิตย์ จะไม่เกิดสิ่งมีชีวิต
แต่ความเชื่อนี้ก็มีข้อขัดแย้งในโลกเรานี่เอง มีบางจุดในโลกเราใต้มหาสมุทรที่มืดสนิท ไม่มีแสงอาทิตย์ มีแต่ความร้อนจากใจกลางโลก และร้อนจัดเกินกว่าสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักจะอยู่ได้ ก็ปรากฏว่ามีสิ่งมีชีวิตยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ทั้งที่ไม่มีแสงอาทิตย์และร้อนจัด
นี่บอกเราว่าสิ่งมีชีวิตอาจถือกำเนิดได้ในพื้นที่ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ และร้อนสุดทนทาน
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือดวงจันทร์ยูโรปาซึ่งโคจรรอบดาวพฤหัส เป็นดวงจันทร์น้ำแข็ง สีขาวโพลนทั้งดวง ถ้าใช้กรอบคิดเดิมๆ ยูโรปาก็ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิต
เอาละ ก่อนไปคุยเรื่องยูโรปาที่ไม่ใช่ขนมและทีมฟุตบอล เรามาโม้เรื่องดาวพฤหัสก่อนดีกว่า ดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ที่แปลก ขนาดของมันใหญ่กว่าดวงดาวหลายดวงในทางช้างเผือก แต่มันก็เป็นได้แค่ดาวเคราะห์ เพราะมวลของมันไม่มากพอให้เป็นดวงอาทิตย์
ด้วยขนาดใหญ่ยักษ์ของมัน (ขนาดของมันใหญ่พอบรรจุโลกของเราได้ถึง 1,300 ดวง) ดาวพฤหัสถือว่ามีบุญคุณต่อชาวโลกมหาศาล ควรกราบไว้วันละสามเวลา เพราะมันช่วงดูดสิ่งแปลกปลอมในระบบสุริยะ เช่น อุกกาบาต ลงไปในในดาว ทำให้โลกเราปลอดภัยจากสิ่งอันตรายเหล่านี้มานานเป็นหลายพันล้านปี
หากลองสังเกตดาวพฤหัส จะเห็น 'ดวงตา' ของมัน เป็นจุดสีแดง เรียกว่า Great Red Spot แต่หากวันหนึ่งเมืองไทยไปดวงจันทร์สำเร็จและโครงการอวกาศรุ่งเรือง จัดทัวร์ไปเที่ยวดาวพฤหัส ก็ไม่ต้องแวะชม Great Red Spot หรอกนะ เพราะลูกแดงนี่เป็นพายุ
ขนาดของพายุนี้เคยใหญ่พอบรรจุโลกเราได้ 3 ดวง แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ขนาดก็หดลงมา ใหญ่เท่าโลกเราหนึ่งดวง
เอาละ เรารู้ใช่ไหมว่าน้ำขึ้นน้ำลงในโลกเป็นผลมาจากดวงจันทร์ส่งแรง 'ดูด' น้ำ ดาวพฤหัสก็เหมือนกัน ผลของแรงดึงดูดมหาศาลของดาวพฤหัสที่ดึงดวงจันทร์ต่างๆ ไว้ ทำให้แกนกลางของดวงจันทร์ร้อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นแม้ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นน้ำแข็งทั้งดวง ใจกลางของมันก็ร้อนเพราะแรงจากดาวพฤหัส เดาซิว่าผลที่ตามมาคืออะไร?
ผลก็คือน้ำแข็งใต้ผิวดวงจันทร์ละลาย
แม่นแล้วเด้อ! ใต้ผิวน้ำแข็งหนาราว 25 กิโลเมตรของยูโรปาคือน้ำ และที่ใดมีน้ำ ก็เชื่อว่าน่าจะมีสิ่งมีชีวิต ดังตัวอย่างใต้สมุทรของเรา
.
ในนิยายวิทยาศาสตร์ภาคต่อของนวนิยายคลาสสิก 2001: A Space Odyssey คือเรื่อง 2010: Odyssey Two อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก จินตนาการแบบล้ำลึกมาก (ตรงนี้มีสปอยเลอร์นะจ๊ะ) เขาจินตนาการให้สิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวเปลี่ยนดาวพฤหัสเป็นดวงอาทิตย์
ดังที่เกริ่นแล้วว่า ดาวพฤหัสเกือบได้เป็นดวงอาทิตย์ แต่มวลไม่ถึง สิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวก็ส่งแท่งหินสีดำปริศนา (ทาง Kerry หรือ FedEx ก็จำไม่ได้แล้ว) ไปที่ดาวพฤหัส แล้วใช้หลักเครื่องจักรสร้างเครื่องจักร ขยายจำนวนแท่งหินดำจำนวนมหาศาลขึ้นมาปิดดาวพฤหัส เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ดาวพฤหัสก็เปล่งแสงสว่าง มันกลายเป็นดวงอาทิตย์ดวงที่สองในระบบสุริยะ!
ผลที่ตามมาคือ ดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวพฤหัสก็ร้อนขึ้น น้ำแข็งบนผิวยูโรปาละลายเป็นน้ำ ยูโรปากลายเป็นดาวเคราะห์มหาสมุทรเหมือนโลก เปิดโอกาสให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนยูโรปา หรือให้สิ่งมีชีวิตเดิมใต้สมุทรวิวัฒนาการต่อไปเป็นสิ่งทรงภูมิปัญญา
ส่วนโลกเราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน นั่นคือเรามีดวงอาทิตย์สองดวง ไม่มีกลางคืนอีกต่อไป
เรื่องนี้ต้องขอบคุณสิ่งทรงภูมิปัญญามากๆ จ้ะ เพราะประหยัดค่าไฟฟ้าตอนค่ำไปได้เยอะ และที่ดีที่สุดคือซักผ้าตอนกลางคืนก็ตากแดดได้
วินทร์ เลียววาริณ
21-5-251 วันที่ผ่านมา -
สัปดาห์ก่อนเล่าเรื่องรัฐมนตรีรักชาติถูกชายลึกลับห้าคนทำร้าย
แต่เรื่องของท่านรัฐมนตรีรักชาติยังไม่จบ
หลังจากท่านรักษาตัวจนหายดีแล้ว ก็ไม่กล้าไปปรากฏตัวตามตลาดอีก
คืนหนึ่งรัฐมนตรีรักชาติไปงานเลี้ยงริมแม่น้ำ หลังงานเลิก ท่านรัฐมนตรีรักชาติก็บอกบอดี้การ์ดว่าจะไปเดินสูดลมกลางคืนริมน้ำสักครู่ คงไม่มีใครมาทำร้ายเหมือนครั้งก่อน
รัฐมนตรีรักชาติเดินไปริมน้ำ มองดูเงาจันทร์บนผิวน้ำด้วยอารมณ์สดชื่นรื่นหัวใจ
ทันใดนั้นเงาร่างหนึ่งก็ปรากฏมาจากด้านหลัง ชายคนนั้นสวมชุดดำ ชักมีดขึ้นมาจี้ท่านรัฐมนตรีรักชาติ ร้องว่า "ส่งเงินของคุณมา"
"คุณเป็นใคร?"
"ผมเป็นโจรน่ะซี เร็ว ส่งเงินของคุณมา ไม่งั้นตาย"
ท่านรัฐมนตรีรักชาติเอ่ย "คุณทำอย่างนี้ไม่ได้ ผมเป็นถึงรัฐมนตรีนะ ผมก็คือรัฐมนตรีรักชาติ"
"งั้นเอาเงินของกูคืนมา"
วินทร์ เลียววาริณ
เล่าใหม่จากขำขันที่เคยได้ยินมา
22-5-25(ยังมีต่อ)
1 วันที่ผ่านมา -
โพสต์ก่อนพูดถึงแทงโก้
ในบรรดาการเต้นรำทั้งหลาย ในมุมของศิลปะแล้ว ผมชอบ ice dancing กับแทงโก้ที่สุด
ชอบดูนะครับ ไม่คิดจะเต้น กลัวจะหัวใจวายก่อน
ไม่รู้หัวใจวายเพราะออกแรงมากไปหรือเพราะเห็นท่อนขาสวยงามของหญิงสาวคู่เต้น
ใช่ แทงโก้เป็นการเต้นรำเดียวกระมังที่มีความเซ็กซี่ที่สุด
แทงโก้ (Tango) เป็นลีลาการเต้นรำที่ฮิตทางโลกตะวันตก โดยเฉพาะละตินอเมริกา แถวอาร์เจนตินากับอุรุกวัย เริ่มฮิตในต้นศตวรรษที่ 20
มันคือบทกวีในรูปลีลาศ
การวาง composition จังหวะ ตำแหน่ง ล้วนมีลักษณะของบทกวี
งดงาม
มันมีเสน่ห์พิเศษที่จับใจเรา เวลาเห็นคู่เต้นแทงโก้เก่งๆ เราจะไม่สามารถละสายตาไปได้ จนกว่าจะจบเพลง
คนไทยไม่น้อยไม่ชอบแทงโก แต่ชอบแทงกา (ษิโน) บางทีแทงกันถึง 300 ล้าน
วินทร์ เลียววาริณ
21-5-251 วันที่ผ่านมา -
พันโท แฟรงก์ สเลด พบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ ดอนนา ข้างฟลอร์เต้นรำ ดอนนากำลังรอแฟนของเธอ เขาถามเธอว่า “ดอนนา คุณอยากจะเต้นแทงโก้มั้ย?”
เธอตอบว่า “ไม่ค่ะ ฉันเคยเรียนครั้งหนึ่ง แต่...”
“แต่อะไรครับ?”
“แต่ไมเคิลไม่อยากให้ฉันเรียน”
“ไมเคิล? คนที่คุณกำลังรออยู่หรือ?”
“ค่ะ... ไมเคิลคิดว่าแทงโก้เป็นเรื่องบ้าบอ”
“ผมว่าไมเคิลต่างหากที่บ้าบอ! อย่าไปสนใจเขาเลย”
เธอหัวเราะ เขาเอ่ย “หัวเราะได้เพราะเหลือเกิน”
“ขอบคุณค่ะ แฟรงก์”
“คุณอยากเต้นแทงโก้มั้ย ดอนนา?”
“เดี๋ยวนี้เลยหรือคะ?”
“ผมกำลังเสนอบริการให้คุณนะโดยไม่คิดตังค์ คุณว่าไง?”
“ฉันคิดว่าฉันกลัวนิดหน่อย”
“กลัวอะไร?”
“กลัวเต้นผิด”
“การเต้นแทงโก้ไม่มีอะไรผิดได้หรอก ไม่เหมือนชีวิต นั่นทำให้แทงโก้ยอดเยี่ยมมาก ถ้าคุณทำผิดพลาด ขาขัดกัน ก็แค่แทงโก้ต่อไป ลองดูมั้ย?”
“ตกลงค่ะ ฉันจะลอง”
แล้วทั้งสองก็เต้นแทงโก้
นี่คือภาพยนตร์เรื่อง Scent of a Woman (1992) ตัวละคร ‘แฟรงก์’ เข้าใจการเต้นรำดีทั้งบนฟลอร์เต้นรำและเวทีชีวิต ประสบการณ์และความเข้าใจชีวิตสอนเขาว่า ชีวิตก็เหมือนการเต้นรำ มีก้าวไปหน้าและถอยหลัง มีการหมุน และมีความผิดพลาด มีการสะดุด แต่มันก็มีจังหวะ มีทิศทาง และมีความงาม
และนี่ก็คือชีวิต
แทงโก้ก็คือการเชื่อมประสานจังหวะให้เป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นซึ่งทำไม่ง่าย ยิ่งสามารถเชื่อมได้มากเท่าไร จังหวะลีลายิ่งงดงาม
แทงโก้สอนให้คนที่สะดุดล้มไม่ต้องหยุด แต่ให้พลิกแพลงเต้นต่อไป เพราะความงามของแทงโก้คือการพลิกแพลง
และนี่ก็คือชีวิต
และเช่นเดียวกับทุกศาสตร์ การเต้นรำที่ดีเกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝน เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกระทั่งลีลาลีลาศกลายเป็นส่วนหนึ่งของตน ไม่ต้องจดจำท่วงท่าอีกต่อไป
การใช้ชีวิตไม่ใช่ศาสตร์ มันเป็นศิลปะ และศิลปะทุกชนิดในโลกไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว พลิกแพลงได้เสมอ
แน่ละ การเต้นรำย่อมมีกติกา แต่มันเป็นเพียงแนวทาง ส่วนจังหวะ ทิศทาง ล้วนสามารถเป็นอิสระจากกฎระเบียบ เราต้องหายใจออกซิเจนเพื่อมีชีวิต แต่จะหายใจด้วยรูจมูกข้างเดียว หรือสองข้าง หรือเร็ว หรือช้า ก็เป็นการเลือกของแต่ละคน
และที่สำคัญ หัวใจของการเต้นรำและการใช้ชีวิตคือความสนุก การเต้นรำแห่งชีวิตควรเป็นเรื่องสนุก มันสำคัญกว่าความถูกต้องของท่าเต้นและทิศทางเสียอีก สนุกกับชีวิตในปัจจุบันขณะ สนุกในนาทีนี้ เดี๋ยวนี้
ใช่ ชีวิตคือการเต้นรำ โลกทั้งใบคือฟลอร์ เสียงเรียกของหัวใจคือดนตรี สไตล์การใช้ชีวิตคือจังหวะ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นคือคู่เต้นของเรา
ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักธุรกิจ พ่อค้า ร่ำรวยหรือยากจน ต่างสามารถดำเนินชีวิตไปตามจังหวะที่งดงามได้ เพราะการเต้นรำแห่งชีวิตไม่ต้องใช้เงินทอง มันเป็นรสนิยมของชีวิต จะเต้นไปช้า ๆ หรือเร็ว ๆ จะเต้นคู่ เต้นหมู่ หรือเต้นคนเดียว มันก็คือการดำเนินไปตามทางของหัวใจ พลิกแพลงไปตามสภาพแวดล้อม
เมื่อชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับท่าเต้น และท่าเต้นกลายเป็นไร้ท่า มันก็เป็นการเต้นรำที่สมบูรณ์แบบแห่งชีวิต
แน่นอน แฟรงก์ สเลด เข้าใจดี...
....................
พันโท แฟรงก์ สเลด เต้นแทงโก้กับหญิงสาวแปลกหน้า สะดุดเป็นช่วง ๆ แล้วก็เต้นต่อไป ไม่นานทั้งสองก็เข้าขากันได้ดี เป็นการเต้นรำที่เป็นธรรมชาติและงดงาม
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนแปลกหน้าสองคนเต้นรำกัน เพราะชีวิตก็คือการเต้นรำกับคนแปลกหน้าอยู่แล้ว
ที่แปลกก็คือ แฟรงก์ สเลด เป็นคนตาบอด
วินทร์ เลียววาริณ
21-5-25....................
จากหนังสือ รอยยิ้มใต้สายฝน
35 บทความกำลังใจ
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว โปรโมชั่นทางแพ็คเกจทาง Shopee
https://shope.ee/AKD4JG1XZy?share_channel_code=61 วันที่ผ่านมา