• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    นิทานเรื่องหนึ่งในตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมเมื่อสี่สิบปีมาแล้วซึ่งผมยังจำได้จนถึงวันนี้ คือเรื่องตั๋วรถไฟครึ่งราคา เรื่องมีอยู่ว่าครอบครัวหนึ่งในชนบทมีฐานะยากจนข้นแค้นมาก วันหนึ่งผู้เป็นแม่ส่งลูกชายเข้ากรุงโดยทางรถไฟ สมัยนั้นเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองขวบขึ้นรถไฟโดยเสียเงินเพียงครึ่งราคา ในวันที่แม่พาเด็กขึ้นรถไฟ เด็กน้อยอายุเกินสิบสองขวบมาได้เพียงวันเดียว ทว่านางซื้อตั๋วเต็มราคาให้เด็กทั้งที่เงินมีจำกัด ผู้เป็นแม่พูดกับลูกชายว่า "ลูกเอ๋ย นี่คือตั๋วรถไฟกับความจริง เก็บมันใส่กระเป๋าเถิด ไม่มีใครรู้หรอกว่าลูกอายุเกินสิบสองขวบมาหนึ่งวัน มีแต่ลูกเท่านั้นที่รู้ เสียเงินเพราะความสัตย์ดีกว่าได้เงินไม่กี่บาทเพราะหลอกลวงเขา..."

    จากตัวอย่างมากมายเราพบว่า ความซื่อสัตย์ไม่เกี่ยวกับฐานะ ชาติตระกูล หรือระดับการศึกษา คนขับรถแท็กซี่ คนกวาดขยะ แม่บ้านไม่น้อยเก็บเงินที่คนลืมทิ้งไว้แล้วคืนเจ้าของ

    เมื่อหลายปีก่อนมีการทดสอบความซื่อสัตย์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเมืองไทย ผู้ทดสอบวางกระเป๋าเงิน ธนบัตร ของมีค่า ทิ้งตามจุดต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและเฝ้าดูปฏิกิริยาของผู้เก็บของมีค่าได้ ของมีค่าเหล่านั้นมีชื่อที่อยู่ซึ่งผู้เก็บสามารถส่งมันคืนได้ ผลการทดสอบเป็นเรื่องหักมุมจบ นั่นคือส่วนใหญ่ของตัวอย่างทดสอบไม่ผ่านมาตรวัดความซื่อสัตย์ พวกเขาเก็บของมีค่าไว้เป็นที่ระลึก!

    เพื่อนหลายคนของผมเล่าว่า พวกเขาผ่านประสบการณ์ทดสอบความซื่อสัตย์หลายรูปแบบ หลายองค์กรมีบุคลากรทำหน้าที่ติดต่อจัดซื้อกระดาษ ปากกา หมึกพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรถยนต์ เป็นภาพปกติที่ผู้จำหน่ายสินค้ามอบค่าคอมมิชชันให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้น โชคดีที่ผมคบคนดี กัลยาณมิตรเหล่านั้นไม่ใช่พวกที่เห็นแก่ได้ จึงขอให้เจ้าของสินค้าหักลดเงินค่าสินค้าเท่าจำนวนคอมมิชชัน

    โลกทุกวันนี้หาคนซื่อสัตย์ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกที่การหาเงินสักบาทลำบากขึ้น การเดินเข้าสู่พื้นที่ของ 'ด้านมืด' เป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นพื้นที่สีเทา ด้วย 'ความชอบธรรม' ว่า "ไม่ได้โกงบริษัท เป็นคอมมิชชันที่ไม่ผิดอะไร"

    ความไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรเมื่อทำสักครั้งแล้ว ก็คือการขี่หลังเสือ เลิกไม่ได้ง่าย ๆ

    แต่ไม่ว่าเป็นพื้นที่สีเทาเข้มหรือเทาอ่อน และแม้ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ย่อมรู้ไม่ยากว่าการกระทำใดซื่อสัตย์หรือไม่

    ค่านิยมของความซื่อสัตย์ต่างกันออกไป มนุษย์เงินเดือนไม่น้อยเช่นในประเทศญี่ปุ่นทำงานในองค์กรหนึ่ง ๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตทำงาน ขณะที่บางคนพยายามรีดไถข้าวของและเวลาจากองค์กรมากที่สุด บางคนเบียดบังเวลาหลวงไปทำงานส่วนตัว ด้วยข้ออ้างสารพัดเช่น "เงินเดือนก็เท่านี้ จะเอาอะไรกันนัก” หรือ “บริษัทรวยจะตาย ขอแค่นี้ไม่ล้มหรอก"

    ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ปราศจากสิ่งนี้ มนุษย์ก็ไม่ต่างจากตัวอะมีบาที่แย่งอาหารกัน

    บางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องซื่อสัตย์อะไรกันปานนั้น การใช้ชีวิตแบบมือใครยาวกว่าก็สาวได้มากกว่าผิดอะไร เป็นสัจธรรมของการเอาชีวิตรอดไม่ใช่หรือ

    ความแตกต่างคือมนุษย์เดินทางในสายที่เป็นสัตว์สังคม สังคมอยู่ไม่ได้ด้วยแนวคิด 'มือใครยาว สาวได้สาวเอา' การไร้ความซื่อสัตย์เป็นบ่อเกิดของการฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชันที่กัดกินสังคมไทยทุกถึงรากก็เริ่มมาจากการการไร้ความซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้วลามไปถึงสังคม

    อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก นักเขียนชาวอังกฤษ กล่าวแบบตลก ๆ ว่า เครื่องมือวัดความซื่อสัตย์ของคนไม่ใช่ใบคืนภาษีเงินได้ของเขา แต่คือการไม่ปรับเครื่องชั่งน้ำหนักของเขา!

    มนุษย์ส่วนใหญ่ซื่อสัตย์เมื่อมีสายตาของชาวบ้านจับจ้องอยู่ น้อยคนซื่อสัตย์โดยปราศจากการรับรู้ของคนอื่น คนประเภทนี้เป็นยอดคน

    หากจะทำเรื่องดี ๆ ในชีวิต ไยต้องป่าวประกาศให้โลกรู้?

    เราทำดีเพราะเราเห็นคุณค่าของเรา ไม่ใช่เพราะต้องการให้ใครรู้ เราซื่อสัตย์เพราะเรามีค่าพอที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ซึ่งรวมทั้งศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ที่เจริญ

    คนที่ไม่เห็นแม้แต่คุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองไหนเลยจะเห็นคุณค่าของคนอื่นหรือองค์กร?

    การไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองก็คือการดูหมิ่นตัวเอง มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิต

    ฝรั่งมีสุภาษิตว่า Honesty is the best policy (ความซื่อสัตย์เป็นนโยบายที่ดีที่สุด) เพราะความซื่อสัตย์เป็นใบรับประกันที่ดีที่สุดที่คุณจะได้รับไม่ว่าจะอยู่ในวงการใด ทำการใหญ่หรือเล็ก

    หากผู้ทำธุรกิจหรือสมาคมกับคุณรู้ว่าคุณซื่อสัตย์เสียอย่างเดียว สัญญาหรือกฎใด ๆ ก็ไม่จำเป็น

    ความซื่อสัตย์เป็นใบผ่านทางที่ดีที่สุด

    ในระยะยาวเป็นนโยบายที่คุ้มจริง ๆ !

    .......................

    จาก สองปีกของความฝัน / วินทร์ เลียววาริณ

    46 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 170 บาท = บทความละ 3.69 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
    หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว

    https://www.winbookclub.com/store/detail/88/สองปีกของความฝัน 

    0
    • 0 แชร์
    • 2

บทความล่าสุด