• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ผมได้รับคำถามอยู่เสมอว่า เก็บข้อมูลอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลชิ้นนี้นำไปใช้ในการเขียนได้ ข้อมูลชิ้นนั้นใช้ไม่ได้

    คำตอบคือไม่รู้ ผมใช้สัญชาตญาณเอา

    นั่นคืออ่านเจออะไร พบเหตุการณ์อะไรแล้วรู้สึกสะดุด ก็เก็บไว้ในคลังข้อมูลประจำตัว

    มันอาจเป็นสัญชาตญาณในการดมกลิ่นที่ฝึกมานานก็ได้ ทำให้พอรู้ว่าข้อมูลไหนใช้ได้ หรือมีศักยภาพ

    นักเขียนจึงต้องเป็นหมาดมกลิ่น

    นี่คือข้อมูลจากโลกภายนอก

    ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งมาจากโลกภายใน

    มาจากการขบคิด ยกตัวอย่าง เช่น ผมนอนอยู่ดีๆ ก็คิดว่าในร่างกายมนุษย์จำนวนมากอาจมีอะตอมของฮิตเลอร์อยู่ในตัว เหตุผลเพราะร่างกายมนุษย์ก่อรูปขึ้นจากมวลอะตอมจำนวนมหาศาล เมื่อฮิตเลอร์ตายและถูกเผากลายเป็นเถ้าปนในดิน ในน้ำ ในอากาศ  อะตอมของธุลีเหล่านั้นกระจายไปทั่ว อาจทั่วเมืองที่เขาตาย หรือกระจายกว้างกว่านั้น บางอะตอมอาจถูกสายลมสายน้ำพัดไปซีกโลกอื่น เวลาหลายสิบปีที่ผ่านไป อะตอมเหล่านั้นเคลื่อนไปทั่วโลก และเข้าไปในร่างกายคน จึงไม่แปลกอะไรหากเรามีอะตอมสักสองสามอะตอมที่เคยประกอบรวมกันเป็นฮิตเลอร์

    ข้อมูลนี้ไม่มีอยู่ในตำราที่ไหนข้างนอก และมันไม่ได้เกิดมาเองเพราะนั่งเทียน แต่มาจากการสะสมการอ่าน ความคิด แล้วคลี่คลายเป็นความคิด

    อาจเรียกว่า ‘ตกผลึก’

    ข้อมูลภายในนี้อาจไม่จริง แต่มันอาจต่อยอดให้แต่งเป็นนิยายหากินได้

    ในความคิดความเห็นส่วนตัวของผม นักเขียนจำต้องได้รับข้อมูลทั้งภายนอกและภายใน

    เหมือนวิตามิน บางชนิดต้องหาจากข้างนอก บางชนิดร่างกายสร้างเอง

    ผมจึงเชื่อว่านักเขียนเป็นนักเขียนที่แท้จริงไม่ได้ถ้าไม่เป็นนักคิดด้วย

    ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า แล้วจะเอาข้อมูลหนึ่งไปใช้ยังไง

    ใครๆ ก็สามารถหาข้อมูลเดียวกันได้ แต่จะเขียนเป็นเรื่องต้องมองเห็นประเด็นจากข้อมูลนั้นๆ ให้ออก จึงจะเขียนได้

    จะมองออกก็ต้องคิด และเสริมสร้างโลกทัศน์ ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลาในการฝึกสมองให้คิดเป็น

    งานเขียนจึงเป็นงานใช้เวลา แต่การเตรียมตัวอาจนานกว่าการเขียนจริง

    จะเป็นนักเขียนแท้จึงต้องใจเย็นๆ ยิ่งรีบยิ่งไปถึงช้า

    .............................

    จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป

    ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb

    0
    • 0 แชร์
    • 2

บทความล่าสุด