• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    “ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด... แต่ถ้ายี่เกยจะบวช ผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย” ผู้พูดคือ เงื่อม พานิช หลังบวชได้หนึ่งพรรษา

    ยี่เกยคือชื่อของน้องชายของเขา

    ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช บวชตั้งแต่อายุยังน้อย จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ท่านเผยแผ่ธรรมต่อเนื่อง เขียนหนังสือมากมาย เทศนาบรรยายธรรมไม่หยุด ล้วนเป็นแก่นธรรมที่ลุ่มลึก เป็นแสงสว่างของชาวไทยมานานหลายสิบปี เป็นปูชนียบุคคลมิเพียงของเมืองไทย แต่ของทั้งโลก

    ปีนั้นคือ พ.ศ. 2470 ตามที่ตกลงไว้ เงื่อมจะบวชแค่สามเดือนแล้วกลับไปค้าขายที่บ้าน ต่อด้วยคิวของน้องชายท่านนามยี่เกยบวช แล้วไปเรียนแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

    เจ้าคณะอำเภอได้ยินประโยคข้างต้น ก็ไปคุยกับโยมแม่ของเขา บอกว่าเงื่อมควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เกยผู้น้องนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะใช้ชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว

    เจ้าคณะอำเภอคุยกับโยมแม่ของเงื่อม เห็นว่าเงื่อมควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เกยไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะใช้ชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว

    ผลก็คือยี่เกยเปิดโอกาสให้พี่ชายบวชต่อไป นอกจากนี้ยังยอมเลิกเรียนแพทย์ตั้งแต่เทอมแรก เพื่อทำการค้าของครอบครัว

    ยี่เกยคือ ธรรมทาส พานิช เงื่อมก็คือพุทธทาสภิกขุ

    ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ของฆราวาสที่ดีงามคนหนึ่ง ทำให้โลกมีพระที่ดีงามรูปหนึ่ง ผู้ที่ในกาลต่อมาสร้างฆราวาสที่ดีงามอีกจำนวนนับไม่ถ้วน

    นานปีให้หลังมีคนถาม ธรรมทาส พานิช ว่า เสียดายหรือไม่ที่ไม่ได้เรียนหมอ

    ธรรมทาส พานิช ตอบว่า “พวกคุณลองคิดดูว่า เปรียบเทียบระหว่างที่ได้ท่านพุทธทาสภิกขุมาองค์หนึ่ง กับได้หมอมาคนหนึ่ง อย่างไหนมีค่ามีความสำคัญกว่ากัน”

    จิตใจสูง เฉียบคม ลุ่มลึก กราบคารวะ

    (สวัสดีวันจันทร์ ขอให้ทั้งสัปดาห์สุขด้วยธรรมะ)

    วินทร์ เลียววาริณ
    7-7-25
    ......................

    หมายเหตุ : ท่านธรรมทาส พานิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะธรรมทาน สวนโมกขพลาราม โรงเรียนพุทธนิคม โรงพิมพ์ธรรมทาน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือธรรมจำนวนมาก ท่านเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาของสวนโมกขพลาราม ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในปี 2543 อายุ 92 ปี

    1
    • 0 แชร์
    • 15

บทความล่าสุด