• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ในสมัยผมยังเป็นเด็ก เคยเห็นคนกว้านซื้อเหรียญ 25 สตางค์บ้าง 50 สตางค์บ้างไปหลอมขาย เหตุผลเพราะเหรียญกษาปณ์ในเมืองไทยทำมาจากโลหะหลายชนิด เช่น ทอง เงิน ทองแดง นิกเกิล แพลทินัม ฯลฯ และราคาโลหะเหล่านี้ก็ขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก เมื่อมูลค่าหน้าเหรียญต่ำกว่ามูลค่าของโลหะ ก็ทำให้เกิดช่องว่างทางความต่างซึ่งคนหัวใสใช้ประโยชน์หากำไร ยกตัวอย่างเช่น ทองแดงที่ใช้ผลิตเหรียญ 25 สตางค์มีราคาในตลาดช่วงนั้น 30 สตางค์ คนหัวใสก็กว้านซื้อเหรียญมาหลอมทองแดงไปขาย ได้กำไรส่วนต่าง ผลก็คือเหรียญขาดตลาด

    สำนักกษาปณ์ หน่วยงานสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหรียญจึงเรียนรู้จากประสบการณ์ ผลิตเหรียญให้โลหะที่ทำเหรียญมีค่าเท่ากับมูลค่าของเหรียญนั้น ๆ พอดี หรือน้อยกว่าเล็กน้อย

    ดังฉะนี้เหรียญ 1 บาท ไม่ว่าจะทำด้วยโลหะใด ก็ต้องมีโลหะมูลค่า 1 บาทพอดี หรือต่ำกว่าตัวเลขบนเหรียญเล็กน้อย

    ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนเครื่องจักร มีความเสื่อมสึกหรอทุกวัน เคยสงสัยไหมว่า ร่างกายของเรามีอายุจริง ๆ เท่าตัวเลขอายุในสูติบัตรของเราหรือเปล่า สูงกว่าหรือต่ำกว่า?

    คนที่ใช้ร่างกายอย่างสมบุกสมบัน กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่พักผ่อนอาจพบว่าตนเองแก่เกินวัย

    ในทางการแพทย์ มีการตรวจร่างกายซึ่งสามารถบอกว่าเรามีอายุจริง (body age) เท่าไร แก่กว่าหรืออ่อนกว่าตัวเลขอายุของเรา กระบวนการตรวจทำได้อย่างละเอียดโดยการตรวจเลือด ตรวจสภาพหัวใจ และสภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย วัดค่าเสื่อมต่าง ๆ แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแสดงสภาพจริง

    บางคนอาจได้ผลว่า ตัวเลขอายุ 50 ปี แต่สภาพร่างกาย 70 ปี บางคนซึ่งดูแลตัวเองดีอาจมีสภาพร่างกาย 40 ทั้งที่ตัวเลขอายุในบัตรประชาชนคือ 60

    ในสมัยเก่าก่อนทางราชการจับโจรผู้ร้ายโดยปิดประกาศตั้งค่าหัว เช่น เสือพร 2,000 บาท เสือเป้ 2,500 เสือก้อง 5,000 บาท ค่าหัวยิ่งสูงหมายถึงโจรคนนั้นทำชั่วมาก

    ในวงการธุรกิจมีเอเยนต์เรียกว่า headhunter ทำงานล่าคนเก่งในสายอาชีพต่าง ๆ ค่าตัวคนเก่งขึ้นกับความสามารถ บางคนมีค่าตัว (มักอยู่ในรูปเงินเดือน) ห้าหมื่นบาท บางคนอาจสูงถึงสองสามแสน

    เหล่านี้คือ ‘ราคาหน้าเหรียญ’ ของแต่ละคน

    แต่เช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์และร่างกายมนุษย์ ราคาหน้าเหรียญของเราใน(ตลาด)โลก อาจต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่าจริงของเราก็ได้

    มนุษย์แต่ละคนสร้างด้วยโลหะต่างชนิดกัน บางคนทำด้วยตะกั่วซึ่งมีทั้งประโยชน์และพิษ บางคนเป็นทองแดง บางคนเป็นนิกเกิลที่แข็งแกร่ง บางคนเป็นทองล้ำค่า บางคนทำด้วยพลาสติกไร้ราคา

    คนระดับเจ้านายเงินเดือนหลายแสน เอาเปรียบลูกน้อง อาจมีมูลค่าจริงต่ำกว่านั้นมาก

    นักการเมืองมีทรัพย์สินมากมาย แต่โกงทุกอย่างที่ขวางหน้า อาจมีมูลค่าจริงแค่นิดเดียว หรือไม่มีมูลค่าด้วยซ้ำ

    คนยากจนหาเช้ากินค่ำ ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน อาจมีมูลค่าจริงสูงกว่ามหาเศรษฐี

    เราใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่าคนคนหนึ่งมีมูลค่าจริงเท่าไร?

    แน่นอนเราวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะมูลค่าจริงของตัวตนของเราเป็นมูลค่าในเชิงนามธรรม ไม่ใช่ตัวเลขในบัญชีธนาคาร ไม่ใช่จำนวนหุ้นในมือ ไม่ใช่ตัวเลขจำนวนบ้าน จำนวนรถที่เป็นเจ้าของ

    มูลค่าจริงของเราน่าจะอยู่ที่เกิดมาแล้วไม่เสียข้าวสุก ทำประโยชน์ต่อคนอื่น สังคม หรือโลกในเชิงสร้างสรรค์

    คุณค่านี้มิได้อยู่ที่ระดับความรู้ การศึกษา หากอยู่ที่หัวใจ

    นาน ๆ ทีเราก็ควรตรวจสอบว่าเรามีมูลค่าจริงเท่าไร

    ถามตัวเองว่าครั้งสุดท้ายที่เราทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง

    ราคาหน้าเหรียญอาจทำให้เรามีความสุขสบายทางกายภาพ แต่มูลค่าจริงทำให้เรามีความสุขภายใน

    ฝรั่งมีสำนวน heart of gold หมายถึงคนที่มีจิตใจงดงาม เมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น เปรียบความดีดั่งทองคำล้ำค่า

    คนดีเปลือกนอกอาจมีตัวเลขราคาไม่สูง อาจสร้างด้วยโลหะชั้นต่ำ แต่ภายในคือหัวใจทองคำ

    วินทร์ เลียววาริณ
    9-7-25

    หมายเหตุ บทความนี้มีมูลค่า 3.1 บาท คัดมาจากหนังสือ 1 เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้
    (61 บทความ 190.- บทความละ 3.1 บาท)
    หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว ถึงตอนนั้นมูลค่าจะมากกว่า 3.1 บาท

    https://www.winbookclub.com/store/detail/150/1%20เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ 

    1
    • 0 แชร์
    • 10

บทความล่าสุด