• วินทร์ เลียววาริณ
    1 ปีที่ผ่านมา

    ปราชญ์ทางวิชาการต่อสู้จัดวิทยายุทธ์เส้าหลินของปรมาจารย์ตั๊กม้อแห่งเทือกเขาซงซานเป็นแนววิชากำลังภายนอก ขณะที่วิทยายุทธ์แห่งสำนักอู่ตัง (บู๊ตึง) ของนักพรตเต๋าปรมาจารย์จางซานเฟิง (เตียซำฮง) ณ เทือกเขาอู่ตังในหูเป่ยเป็นแนววิชากำลังภายใน ทั้งเส้าหลินและอู่ตังถือเป็นสองสำนักมาตรฐานแห่งแผ่นดิน

    วัดเส้าหลินตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน (ซงซัว) เส้า เป็นชื่อภูเขา หลิน แปลว่า ป่า มีความหมายถึงสถานปฏิบัติธรรมในป่าแห่งภูเขาเส้า

    ปรมาจารย์คนแรกของวัดเส้าหลินก็คือ พระโพธิธรรม หรือที่คนจีนเรียก ตั๊กม้อ นามนี้ปรากฏในนิยายจีนกำลังภายในนับไม่ถ้วนในฐานะจอมยุทธ์ผู้ให้กำเนิดคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น คัมภีร์ล้างกระดูก และสิบแปดฝ่ามืออรหันต์

    ชาวโลกรู้จักวัดเส้าหลินว่าเป็นที่กำเนิดวิชาการต่อสู้ของจีนมาราวหนึ่งพันห้าร้อยปี เป็นสัญลักษณ์ของวิทยายุทธ์และนิยายจีนกำลังภายใน

    นานปีหลังจากยุคของปรมาจารย์ตั๊กม้อ พระวัดเส้าหลินถือเป็นหน้าที่ที่จะใช้วิทยายุทธ์ปกป้องแผ่นดิน เช่นการต่อสู้ในสงครามหู่เหลา (ค.ศ. 621) อันเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ถัง ไปจนถึงการต่อสู้ขับไล่พวกโจรสลัดวาโกะจากญี่ปุ่นที่รุกรานชายฝั่งจีนในศตวรรษที่ 16 ฯลฯ

    ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัดแห่งนี้ถูกเผาทำลายและสร้างใหม่หลายต่อหลายครั้ง ตำนานการทำลายครั้งใหญ่ที่สุดคือในปี ค.ศ. 1644 โดยรัฐบาลชิง เนื่องจากพระวัดเส้าหลินต่อต้านราชวงศ์ชิง หมายฟื้นฟูราชวงศ์หมิง ประวัติศาสตร์ท่อนนี้กลายเป็นตำนานที่ทำให้วิทยายุทธ์เส้าหลินระบือไกล จนทำให้คำว่า เส้าหลิน ยิ่งยึดแน่นเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางกาย อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นว่า ความเชื่อว่าพระโพธิธรรมเป็นผู้ให้กำเนิดวิทยายุทธ์เส้าหลินน่าจะเป็นตำนานมากกว่าเรื่องจริง บ้างก็ว่าเรื่องราววิทยายุทธ์ของพระโพธิธรรมนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นหลัง ไม่ว่าอย่างไร ตำนานนี้ก็ฝังรากลึกในความเชื่อของคนทั่วไปเสียแล้ว

    ความจริงก็คือวัดเส้าหลินเป็นต้นกำเนิดของเซน ซึ่งเป็นสายธารใหม่ที่แตกแขนงมาจากพุทธนิกายมหายานรวมกับเต๋า และปรมาจารย์ตั๊กม้อนั้นที่จริงแล้วเป็นถึงพระสังฆปริณายกแห่งจีน ซึ่งสืบสายมาจากพระพุทธองค์

    ยังไม่มีการยืนยันที่มาของพระโพธิธรรมอย่างแน่ชัด แต่ตำราที่น่าเชื่อถือได้ชี้ว่า พระโพธิธรรมน่าจะเป็นเจ้าชายแคว้นคันธารราษฎร์ อินเดีย

    อินเดียในสมัยโบราณเรียกว่า ชมพูทวีป มีอาณาเขตคลุมเจ็ดประเทศในปัจจุบัน คือ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา บังคลาเทศ และอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

    แผ่นดินอัฟกานิสถานในเวลานั้นเรียกว่า คันธารราษฎร์ เมืองหลวงคือ คันธาระ (ปัจจุบันเรียก กันดาฮาร์) ต่อมาพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกทรงพิชิตอาณาจักรเปอร์เซีย บางส่วนของอินเดีย รวมทั้งคันธารราษฎร์ ชาวกรีกได้ปกครองคันธาระนานหลายร้อยปี จนมาถึงสมัยของกษัตริย์กรีกนามพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือพญามิลินท์ ทรงสนพระทัยในปรัชญา

    ครั้งหนึ่งทรงพบพระนาคเสนมหาเถระปักกลดอยู่ และทรงสนทนาธรรมทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าก็ทรงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ บทปุจฉา-วิสัชนาครั้งนั้นได้รับการบันทึกเป็นพระสูตรที่เรียกว่า มิลินทสูตร หรือ มิลินทปัญหา

    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาสนาพุทธในคันธารราษฎร์ก็เจริญรุ่งเรืองมาก มีการหล่อพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ พระพักตร์และรูปทรงแบบเทวรูปกรีก นอกจากนี้ยังมีการสลักพระพุทธยืนตามภูเขา เมื่อพวกตาลีบันครองอัฟกานิสถาน ได้ทำลายพระพุทธรูปเหล่านี้ไปแทบหมดสิ้น

    (อ่านตอนต่อสัปดาห์หน้า)

    จาก มังกรเซน ฉบับปรับปรุง หนังสือเซนที่ต้องค่อยๆ ละเลียด ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ + ของแถม limited edition Zen Book สั่งได้ที่เว็บ winbookclub.com หรือ Shopee (ค้นคำ namol113 หรือ วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 164

บทความล่าสุด