• วินทร์ เลียววาริณ
    10 เดือนที่ผ่านมา

    เล่าเรื่องบะจ่างแล้ว ก็สมควรเล่าให้ครบ

    เมืองจีนมีขนมหลายชนิดที่อิงประวัติศาสตร์ แต่มีสองชนิดที่ต่างขั้วกันคนละเรื่อง

    หนึ่งคือบะจ่างหรือขนมจ้าง ทำสดุดีวีรกรรมของกวีชีเหยียน

    อีกหนึ่งคือ อิ่วจาก้วย (คนไทยเรียกผิดมาตลอดว่า ปาท่องโก๋) ทำมาสาปแช่งขุนนางกังฉิน ฉินก้วยและภรรยา

    เรื่องเป็นมาอย่างไรหรือ?

    เมื่อเมืองเซียงหยางของอาณาจักรซ่งถูกถล่มโดยกองทัพต้าจิน แม่ทัพคนหนึ่งยืนหยัดต่อต้านพวกจินอย่างเข้มแข็งคือ งักฮุย หรือเยี่ยเฟย (岳飛 1103–1142)

    งักฮุยเกิดที่อาณาจักรซ่งเหนือ ในครอบครัวยากจน ในวัยหนุ่ม ปี 1126 เกิดสงครามซ่ง-จิน พวกหนี่เจินแห่งอาณาจักรต้าจินทางเหนือรุกสายฟ้าแลบเข้าเมืองหลวงซ่งเหนือ จับตัวอดีตจักรพรรดิฮุยจงและจักรพรรดิชินจงเป็นเชลย ส่งไปขังที่ฮุยหนิง

    พวกซ่งอพยพลงไปภาคใต้ ตั้งหลักใหม่ เรียกว่าอาณาจักรซ่งใต้ แต่งตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่คือซ่งเกาจง

    งักฮุยในวัยหนุ่มคิดในใจว่า วันหนึ่งจะกอบกู้ซ่งเหนือคืนมาให้ได้

    อายุ 19 งักฮุยเข้าร่วมกองทัพ ร่วมปราบกบฏพื้นเมืองหลายครั้ง เขามีบทบาทป้องกันเมืองไคเฟิงที่พวกจินบุกในปี 1127 ไคเฟิงแตก งักฮุยถอยทัพไปตั้งหลักที่แม่น้ำแยงซี ไม่ให้พวกหนี่เจินข้ามแม่น้ำได้ เขาต่อต้านพวกต้าจิน ผลักดันข้าศึกออกไปถึงไคเฟิง

    ปี 1133 งักฮุยก้าวหน้าขึ้นสู่ตำแหน่งในกองทัพ เป็นแม่ทัพใหญ่ งักฮุยเป็นคนกล้าหาญ ยุติธรรม เก่งกาจในเชิงยุทธ์ และตงฉิน มีทั้งฝีมือและความยุติธรรม จนมีคำกล่าวว่า “ย้ายภูเขาง่ายกว่าขยับทัพงักฮุย”

    เขายังไม่ลืมความฝันที่จะกอบกู้ซ่งเหนือ

    ปี 1234 อาณาจักรต้าจินถูกมองโกลยึด ภายใต้การนำของ โอโกได ข่าน เวลานั้นซ่งใต้กับมองโกลยังเป็นพันธมิตรกัน

    งักฮุยยังคงทำหน้าที่ต้านพวกจิน หมายจะยึดไคเฟิงคืนมา

    แต่ในสายตาของนักการเมืองในซ่งใต้ โดยเฉพาะขุนนางฉินก้วย งักฮุยคือก้างขวางคอ

    ทำไม?

    เพราะผู้กุมอำนาจในราชสำนักซ่งใต้ไม่คิดจะเอาชนะพวกจิน แต่ต้องการเสวยสุขต่อไปเรื่อย ๆ ปกป้องด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ ด้วยความเชื่อว่า หากทำเช่นนี้พวกจินจะไม่บุก

    ขุนนางฉินก้วยทูลฮ่องเต้ว่า การที่งักฮุยรบกับพวกต้าจิน จะทำให้พวกซ่งใต้ไม่อาจเจรจาสงบศึกกับต้าจิน อีกประการ การที่งักฮุยบุกจิน อาจจะทำให้พวกจินปล่อยตัวจักรพรรดิองค์เดิมชินจง ฮ่องเต้มาทวงบัลลังก์คืน

    ขุนนางฉินก้วยทูลเสนอให้จักรพรรดิเรียกตัวงักฮุยกลับมา ฮ่องเต้ซ่งเกาจงเชื่อคำเพ็ดทูล ส่งป้ายทองรวม 12 ป้ายไปเรียกตัวงักฮุยกลับเมืองหลวง

    งักฮุยปฏิบัติตามคำสั่ง แม้รู้ว่าอาจหมายถึงจุดจบของตัวเอง

    เมื่องักฮุยเดินทางมาถึงเมืองหลวง ก็ถูกจับ ข้อหาคิดล้มล้างฮ่องเต้

    ราษฎรจำนวนมากเขียนจดหมายถึงฉินก้วยให้ปล่อยตัวงักฮุย แต่หวังซี่ ภรรยาของฉินก้วย ช่วยวางแผนใส่ความงักฮุย

    เมื่อศาลถามว่างักฮุยทำผิดอะไร ฉินก้วยตอบว่า “แม้ว่ามิแน่ใจว่าเขาทรยศต่อราชวงศ์อย่างไร แต่อาจจะมี”

    วลี ‘อาจจะมี’ (莫須有) กลายเป็นสำนวนจีน หมายถึงการตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องมีมูล

    ตำนานเล่าว่า งักฮุยถอดเสื้อของเขาออก เผยให้เห็นแผ่นหลังของเขา สักอักษรสี่ตัว 盡忠報國 แปลว่า รับใช้ชาติอย่างจงรักภักดี

    แต่งักฮุยและบุตรชายก็หนีไม่พ้นโทษประหาร

    ในรายงานของทางการ งักฮุยตายระหว่างการจองจำ แต่ความจริงคือถูกประหาร

    ขุนนางฉินก้วยและภรรยาเป็นที่เกลียดชังของชาวจีนมาก จนทำขนมชนิดหนึ่งนำแป้งสองชิ้นมาติดกัน สองชิ้นหมายถึงสองสามีภรรยา ทอดจนเหลืองกรอบเรียกว่า อิ่วจาก้วย (油炸粿) แปลว่าขนมทอดน้ำมัน แต่เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า 油炸鬼 (อิ่วจากุ้ย) แปลว่าขนมน้ำมันทอดผี

    ก้วยแปลว่าขนม กุ้ยแปลว่าผี

    คนไทยเรียกผิดมาตลอดว่า ปาท่องโก๋

    ขุนนางชั่วร้ายก็คือปิศาจที่หลอกหลอนทำร้ายราษฎร

    ในเมื่อทำอะไรกับปิศาจร้ายไม่ได้ ก็ทำขนมมากินเป็นสัญลักษณ์

    เช้านี้กินอิ่วจาก้วยตามด้วยน้ำเต้าหู้ให้อร่อยนะครับ แต่ตอนกินไม่ต้องระลึกถึงนักการเมืองเลวๆ ในบ้านเรา หมดอารมณ์เปล่าๆ

    จาก ยุทธจักรวาลกิมย้ง / วินทร์ เลียววาริณ

    https://www.winbookclub.com/store/detail/189/โปรโมชั่น%203%20in%201%20ชุด%20S2

    0
    • 0 แชร์
    • 180

บทความล่าสุด