• วินทร์ เลียววาริณ
    4 เดือนที่ผ่านมา

    ในเรื่อง Interstellar ตัวละครหลักพลัดเข้าไปในหลุมดำ หลุดลงไปใน ‘อุโมงค์’ บางอย่าง และโผล่เข้าไปในโครงสร้างสี่มิติ ที่เชื่อมกับโลกของเขา ข้ามเวลา ข้ามมิติ ข้ามดาราจักร เข้าไป ‘หลังบ้าน’ ของเขา เขาสามารถเคลื่อนผ่านแกนเวลาได้

    โครงสร้างนี้เรียกว่า tesseract

    tesseract ในทางเรขาคณิตและคณิตศาสตร์ หมายถึงบาศก์สี่มิติ เป็น hypercube ชนิดหนึ่ง พูดง่ายๆ คือมันเป็นบาศก์ hypercube ที่เกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เรายังสร้างมันขึ้นมาจริงๆ ไม่ได้

    นิยายวิทยาศาสตร์มักใช้ tesseract เป็นรูหนอนชนิดหนึ่งในการเดินทางลัดข้ามจักรวาลและมิติ เช่น นวนิยายเรื่อง A Wrinkle in Time ของ Madeleine L’Engle เล่าถึงการเดินทางข้ามเวลาผ่าน tesseract และมิติที่ 5

    จะบอกว่า tesseract เป็นบันไดยาวที่พาดมิติและเวลาต่างๆ ก็พอได้

    แต่ tesseract เป็นเพียงหนึ่งในบรรดา hypercube ต่างๆ

    ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ hypercube เช่นกัน ในนวนิยายไซไฟเรื่อง อัฏฐสุตรา (เขียนเมื่อ 16 ปีก่อน ก่อนหนังเรื่องนี้) ในเรื่องตัวละครหลักสัมผัสประสบการณ์ของ hypercube 8 มิติ เรียกว่า octaract ซึ่งซับซ้อนกว่า tesseract ที่มี 4 มิติ

    อยากรู้ว่า octaract ในนิยายเป็นอย่างไร ก็อ่านได้จากนวนิยาย อัฏฐสุตรา ถือโอกาสขายหนังสือตรงนี้เลยก็แล้วกัน https://www.winbookclub.com/store/detail/68/อัฏฐสุตรา แค่ 165 บาท (หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว)

    อย่างไรก็ตาม hypercube ที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์พูดถึงยังเป็นเพียงจินตนาการ และแม้จะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่เรายังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่ามันเป็นไปไม่ได้

    ในหนัง Interstellar โครงสร้าง tesseract ถูกสร้างโดย ‘พวกเขา’ เพื่อให้ตัวละครเอกสามารถใช้สื่อสารกับมนุษย์ในสถานที่และเวลาที่ต้องการ (คือเป็นบันไดยาวพาด) เมื่อการสื่อสารสำเร็จ tesseract ก็สลายตัว ตัวละครเอกก็ข้ามเวลาอีกครั้ง คราวนี้เขาเชื่อมกับคนในยานอวกาศ และ ‘จับมือ’ กับนักบินอวกาศหญิง และเดินทางกลับบ้าน ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง

    ฉาก tesseract ในหนังออกแบบได้ดี เพราะการแปลงคอนเส็ปต์ hypercube ให้เป็นภาพที่สื่อสารกับคนดูรู้เรื่องทำได้ยากมาก แต่หนังก็ทำออกมาสวยงาม ถือเป็นไฮไลท์หนึ่งของเรื่อง ยอดเยี่ยมครับ

    วินทร์ เลียววาริณ
    5-1-25

    1
    • 0 แชร์
    • 60

บทความล่าสุด