-
วินทร์ เลียววาริณ1 วันที่ผ่านมา
เมื่อวานคุยว่าจักรวาลใหญ่มาก จนยากที่สิ่งทรงภูมิปัญญาสักสายพันธุ์จะข้ามได้ง่ายๆ อ่านหลายคอมเมนต์แล้วพบว่า คนจำนวนมากไม่เก็ตจริงๆ ว่าจักรวาลใหญ่ขนาดไหน
เวลาเรามองท้องฟ้า เรากำลังมองดวงดาวในดาราจักรทางช้างเผือกของเราเป็นหลัก อาจมองทะลุไปเห็นดาราจักรอื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในดาราจักรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งแสนปีแสงนี้
แต่นอกทางช้างเผือกออกไปเป็นหนังคนละม้วน ทางช้างเผือกเปรียบเหมือนหยดน้ำบนใบไม้ แต่ข้างนอกนั่นคือมหาสมุทร
เรามองเห็นจักรวาลเท่าที่แสงเดินทางถึงตาเรา ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องในตอนนี้ เราคำนวณได้ว่า จักรวาลที่เรามองเห็นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 93 พันล้านปีแสง
ศัพท์ทางการคือ observable universe แปลว่าเท่าที่เรามองเห็น
แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันอาจใหญ่กว่าที่เราเห็นอีก 4-5 เท่า แต่จมอยู่ในความมืด เรามองไม่เห็นเพราะแสงในส่วนเกินนั้นยังมาไม่ถึงตาเรา
ขณะที่แสงยังมาไม่ถึง มันก็ยังขยายตัวไปเรื่อยๆ เร็วขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มงงแล้วใช่ไหม? ใจเย็นๆ เดี๋ยวจะว่าทีละขึ้นง่ายๆ
ราวร้อยปีก่อน เอ็ดวิน ฮับเบิล ใช้กล้องส่องฟ้า และพบว่า ดาราจักร (galaxy) แต่ละดาราจักรกำลังเคลื่อนออกจากกัน และไปด้วยความเร็ว
ผ่านไปร้อยปี เราก็ยังเห็นดาราจักรต่างๆ เคลื่อนออกจากกัน เร็วกว่าเดิมอีก ทำให้ขนาดจักรวาลวันนี้ใหญ่กว่าสมัยฮับเบิลมองไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า
เหมือนเรากาจุดบนลูกโป่ง เมื่อเป่าให้ขยายตัว แต่ละจุดก็แยกห่างจากกัน แต่ละจุดนั้นก็คือหนึ่งดาราจักร
ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น? คำตอบคือไม่รู้
มันเหมือนลูกโป่งสีดำกำลังขยายตัวด้วยแรงลึกลับบางอย่าง แต่มีทฤษฎีว่า น่าจะเป็นสสารมืดและพลังงานมืดที่เรามองไม่เห็นผลักยืดมันออกไป
เมื่อขยายออกไปด้วยความเร็วมหาศาล ไม่มีหยุด เร็วขึ้นเรื่อยๆ จักรวาลจึงใหญ่มาาาาาาาาาาก มันใหญ่ขึ้นทุกๆ วินาทีที่ผ่านไป
ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 93 พันล้านปีแสง เราจึงอาจบอกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะข้ามจักรวาล
เอาละ เชื่อว่ามาถึงบรรทัดนี้ ย่อมมีคนบอกว่า งั้นก็ส่งจิตไปซี จิตไปเร็วกว่าแสง พริบตาเดียวก็ข้าม 93 พันล้านปีแสงแล้ว
นี่คือการถกแบบ speculation ไม่มีหลักฐาน เรื่องจิตเร็วกว่าแสงนี้ไม่มีหลักฐาน มีแต่ความเชื่อ อาจจะจริงก็ได้ แต่วันนี้ยังไม่มีหลักฐาน
แต่ถ้าใครเชื่อมั่นว่าเป็นอย่างนี้ ก็ควรหยุดอ่านตั้งแต่บรรทัดนี้ เพราะเพจนี้คุยกันด้วยภาษาวิทยาศาสตร์
..........................
เอ้า! ยังอ่านต่อ งั้นก็ว่ากันต่อ
สรรพสิ่งในจักรวาลเป็นไปตามกฎฟิสิกส์ แต่เพื่อประโยชน์ของการถก ถ้าจิตเดินทางไปได้จริง มันก็มี 'ตัวตน' ดังนั้นจึงตกอยู่ในกฎฟิสิกส์
ตามหลักฟิสิกส์ แสงยังเร็วที่สุด และแสงเดินทางด้วยความเร็วเท่าเดิม
สมมุติว่าจิตไปเร็วกว่าแสงจริง เอ้า! ให้เร็วกว่าแสงร้อยเท่าเลย ส่งจิตไปวันนี้ จนเราหมดลมหายใจ ตายแล้วเกิดใหม่อีกร้อยครั้ง จิตก็ยังไปไม่ถึงอีกขอบหนึ่งของจักรวาล
สมมุติว่าจิตไปถึงขอบจักรวาล แล้วรับรู้ว่ามันเป็นอย่างไร จิตก็ต้องเดินทางกลับมาหาคนส่งจิตเพื่อรายงานผล ก็ต้องข้ามระยะทางอีก 93 พันล้านปีแสง (ยังไม่คิดว่าจักรวาลขยายตัวด้วยซ้ำ)
เพราะนี่คือฟิสิกส์
จักรวาลโตไม่หยุด และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่ท้องฟ้ากลางคืนไม่เป็นสีขาว ทั้งที่มีดาวมากกว่าจำนวนเม็ดทรายบนโลกเราทั้งโลกรวมกัน
วินทร์ เลียววาริณ
5-5-250- แชร์
- 20
-
ผมได้รับคำถามอยู่เสมอว่า เก็บข้อมูลอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลชิ้นนี้นำไปใช้ในการเขียนได้ ข้อมูลชิ้นนั้นใช้ไม่ได้
คำตอบคือไม่รู้ ผมใช้สัญชาตญาณเอา
นั่นคืออ่านเจออะไร พบเหตุการณ์อะไรแล้วรู้สึกสะดุด ก็เก็บไว้ในคลังข้อมูลประจำตัว
มันอาจเป็นสัญชาตญาณในการดมกลิ่นที่ฝึกมานานก็ได้ ทำให้พอรู้ว่าข้อมูลไหนใช้ได้ หรือมีศักยภาพ
นักเขียนจึงต้องเป็นหมาดมกลิ่น
นี่คือข้อมูลจากโลกภายนอก
ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งมาจากโลกภายใน
มาจากการขบคิด ยกตัวอย่าง เช่น ผมนอนอยู่ดีๆ ก็คิดว่าในร่างกายมนุษย์จำนวนมากอาจมีอะตอมของฮิตเลอร์อยู่ในตัว เหตุผลเพราะร่างกายมนุษย์ก่อรูปขึ้นจากมวลอะตอมจำนวนมหาศาล เมื่อฮิตเลอร์ตายและถูกเผากลายเป็นเถ้าปนในดิน ในน้ำ ในอากาศ อะตอมของธุลีเหล่านั้นกระจายไปทั่ว อาจทั่วเมืองที่เขาตาย หรือกระจายกว้างกว่านั้น บางอะตอมอาจถูกสายลมสายน้ำพัดไปซีกโลกอื่น เวลาหลายสิบปีที่ผ่านไป อะตอมเหล่านั้นเคลื่อนไปทั่วโลก และเข้าไปในร่างกายคน จึงไม่แปลกอะไรหากเรามีอะตอมสักสองสามอะตอมที่เคยประกอบรวมกันเป็นฮิตเลอร์
ข้อมูลนี้ไม่มีอยู่ในตำราที่ไหนข้างนอก และมันไม่ได้เกิดมาเองเพราะนั่งเทียน แต่มาจากการสะสมการอ่าน ความคิด แล้วคลี่คลายเป็นความคิด
อาจเรียกว่า ‘ตกผลึก’
ข้อมูลภายในนี้อาจไม่จริง แต่มันอาจต่อยอดให้แต่งเป็นนิยายหากินได้
ในความคิดความเห็นส่วนตัวของผม นักเขียนจำต้องได้รับข้อมูลทั้งภายนอกและภายใน
เหมือนวิตามิน บางชนิดต้องหาจากข้างนอก บางชนิดร่างกายสร้างเอง
ผมจึงเชื่อว่านักเขียนเป็นนักเขียนที่แท้จริงไม่ได้ถ้าไม่เป็นนักคิดด้วย
ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า แล้วจะเอาข้อมูลหนึ่งไปใช้ยังไง
ใครๆ ก็สามารถหาข้อมูลเดียวกันได้ แต่จะเขียนเป็นเรื่องต้องมองเห็นประเด็นจากข้อมูลนั้นๆ ให้ออก จึงจะเขียนได้
จะมองออกก็ต้องคิด และเสริมสร้างโลกทัศน์ ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลาในการฝึกสมองให้คิดเป็น
งานเขียนจึงเป็นงานใช้เวลา แต่การเตรียมตัวอาจนานกว่าการเขียนจริง
จะเป็นนักเขียนแท้จึงต้องใจเย็นๆ ยิ่งรีบยิ่งไปถึงช้า
.............................
จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป
ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb
0 วันที่ผ่านมา -
คนจำนวนมากติดในกับดักของมันคือเรามักมองโลกเป็นสองด้านแยกขาดจากกัน เช่น ความรวยกับความจนเป็นสองเรื่องที่แยกจากกัน ถ้ารวยก็ไม่จน ถ้าจนก็ไม่รวย เราต้องเลือกเอาทางหนึ่ง หรือมุ่งหวังทางใดทางหนึ่ง
ในมุมมองของปรัชญาเต๋า นี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ในมุมมองของฟิสิกส์ ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งสัมบูรณ์ ทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ เพราะสุข-ทุกข์ รวย-จนเป็นแค่มุมมองที่สัมพัทธ์กัน
เล่าจื๊อจึงกล่าวว่า เมื่อโลกมองเห็นความงาม มันก็มีความน่าเกลียด เมื่อโลกเห็นความดี มันก็มีความชั่ว มันมาพร้อมกัน มันเป็นเรื่องเดียวกัน
หยินกับหยางคือสองด้านของสรรพสิ่ง เหมือนภูเขา มีด้านที่ต้องแสงตะวัน กับด้านที่มืด แต่มันเป็นภูเขาลูกเดียวกัน
หยินหยางแห่งชีวิตคือโลกที่มีสองด้าน สอดประสานกัน
บางคนกินแกงจืดมะระยัดไส้หมูโดยเขี่ยมะระทิ้ง ไม่ได้มองว่าแกงจืดชนิดนี้ออกแบบมาโดยรวมความหอมหวานและความขมเข้าด้วยกัน บางคำอาจขม บางคำอาจหวาน แต่ผสมกันแล้วอร่อย เราจึงไม่เลือกกัดเฉพาะส่วนหวาน และทิ้งส่วนขม ชีวิตก็เช่นกัน มันเป็น ‘แกงจืดมะระ’ อย่างนี้เอง มันคือองค์รวมของหลายส่วน มีทั้งส่วนที่เราชอบกับส่วนที่เราไม่ชอบ แต่เราไม่อาจเลือกเฉพาะส่วนที่เราชอบได้ มันมาพร้อมกันเป็นแพ็คเกจอย่างนี้
อิสระที่แท้จริงคือการมองว่าความสุขเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเป็นอิสระจากสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สังคมกำหนด
............................
จาก ตัวสุขอยู่ในหัวใจ / วินทร์ เลียววาริณ
หนังสือเสริมกำลังใจ 260 บาท 49 บทความ เรื่องละ 5.3 บาท หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
https://www.winbookclub.com/store/detail/211/ตัวสุขอยู่ในหัวใจ
0 วันที่ผ่านมา -
ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ผมเตือนผู้อ่านเสมอให้อ่านทุกอย่างแล้วตั้งคำถาม วิเคราะห์ และค้นคว้า แต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยทำกัน จนป่านนี้ก็ยังมีคนแชร์คลิปไม่จริงมาให้เสมอ
เคยเขียนเรื่องชุด อำ เพื่อชี้ให้เห็นอันตรายของการเชื่อง่าย แต่กลับมีคนเชื่อในเรื่องที่ผมอำ เพราะอ่านไม่จบ
กลุ้มจริง ๆ!
หลังจากนั้น นาน ๆ ทีผมก็จะเขียนเรื่องอำมาเคาะกะโหลกว่า เราเชื่ออะไรในโลกนี้ไม่ได้ จนกว่าจะวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน
อย่าแชร์อะไรถ้าไม่รู้จริง
บ่อยครั้งผมได้รับแชร์คลิปหรือข่าว พร้อม ‘คำเตือน’ ของผู้แชร์ว่า “ไม่รู้จริงหรือเปล่านะ แต่ก็ส่งมาให้ดู”
ไม่รู้จะร้องไห้หรือขำ
ได้โปรดเถิด ถ้าไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า ก็ไม่ต้องแชร์ พลีสสสสส!
โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม ทุกครั้งที่กดปุ่มแชร์ คุณอาจกำลังสร้างบาปสร้างกรรมใหญ่หลวงได้
ถ้าคนอ่านข่าวดูคลิปแล้วเชื่อเลย เพราะเขาเห็นว่าคุณเป็นเพื่อนที่ดีของเขา ย่อมไม่ส่งเรื่องไม่ดีไปให้ แล้วเรื่องนั้นทำลายสุขภาพของเขา หรือกระทั่งตาย บาปก็อยู่ที่คุณ เพราะกดปุ่มแชร์โดยไม่คิดไกล
เราคงทำอะไรไม่ได้กับพวกบ่อสื่อจ่อ วันๆ สร้างข่าวปลอม แต่เราทำอะไรกับตัวเองได้
ก่อนกดปุ่มแชร์เรื่องอาหารเสริมและการรักษาโรค กรุณาถามตัวเองสองข้อ
1 เรารู้เรื่องนี้จริงๆ หรือเปล่า เคยมีประสบการณ์ตรงหรือเปล่า
2 เคยพบหลักฐานจริงๆ ที่พิสูจน์โดยปราศจากความสงสัยหรือเปล่า
ถ้าคำตอบทั้งสองข้อคือ “ไม่” ก็อย่ากดแชร์ ไม่ว่าจะคันนิ้วแค่ไหนก็ตาม
....................................
จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป
ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb
0 วันที่ผ่านมา -
นิทานเรื่องหนึ่งในตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมเมื่อสี่สิบปีมาแล้วซึ่งผมยังจำได้จนถึงวันนี้ คือเรื่องตั๋วรถไฟครึ่งราคา เรื่องมีอยู่ว่าครอบครัวหนึ่งในชนบทมีฐานะยากจนข้นแค้นมาก วันหนึ่งผู้เป็นแม่ส่งลูกชายเข้ากรุงโดยทางรถไฟ สมัยนั้นเด็กอายุต่ำกว่าสิบสองขวบขึ้นรถไฟโดยเสียเงินเพียงครึ่งราคา ในวันที่แม่พาเด็กขึ้นรถไฟ เด็กน้อยอายุเกินสิบสองขวบมาได้เพียงวันเดียว ทว่านางซื้อตั๋วเต็มราคาให้เด็กทั้งที่เงินมีจำกัด ผู้เป็นแม่พูดกับลูกชายว่า "ลูกเอ๋ย นี่คือตั๋วรถไฟกับความจริง เก็บมันใส่กระเป๋าเถิด ไม่มีใครรู้หรอกว่าลูกอายุเกินสิบสองขวบมาหนึ่งวัน มีแต่ลูกเท่านั้นที่รู้ เสียเงินเพราะความสัตย์ดีกว่าได้เงินไม่กี่บาทเพราะหลอกลวงเขา..."
จากตัวอย่างมากมายเราพบว่า ความซื่อสัตย์ไม่เกี่ยวกับฐานะ ชาติตระกูล หรือระดับการศึกษา คนขับรถแท็กซี่ คนกวาดขยะ แม่บ้านไม่น้อยเก็บเงินที่คนลืมทิ้งไว้แล้วคืนเจ้าของ
เมื่อหลายปีก่อนมีการทดสอบความซื่อสัตย์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเมืองไทย ผู้ทดสอบวางกระเป๋าเงิน ธนบัตร ของมีค่า ทิ้งตามจุดต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและเฝ้าดูปฏิกิริยาของผู้เก็บของมีค่าได้ ของมีค่าเหล่านั้นมีชื่อที่อยู่ซึ่งผู้เก็บสามารถส่งมันคืนได้ ผลการทดสอบเป็นเรื่องหักมุมจบ นั่นคือส่วนใหญ่ของตัวอย่างทดสอบไม่ผ่านมาตรวัดความซื่อสัตย์ พวกเขาเก็บของมีค่าไว้เป็นที่ระลึก!
เพื่อนหลายคนของผมเล่าว่า พวกเขาผ่านประสบการณ์ทดสอบความซื่อสัตย์หลายรูปแบบ หลายองค์กรมีบุคลากรทำหน้าที่ติดต่อจัดซื้อกระดาษ ปากกา หมึกพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรถยนต์ เป็นภาพปกติที่ผู้จำหน่ายสินค้ามอบค่าคอมมิชชันให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้น โชคดีที่ผมคบคนดี กัลยาณมิตรเหล่านั้นไม่ใช่พวกที่เห็นแก่ได้ จึงขอให้เจ้าของสินค้าหักลดเงินค่าสินค้าเท่าจำนวนคอมมิชชัน
โลกทุกวันนี้หาคนซื่อสัตย์ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกที่การหาเงินสักบาทลำบากขึ้น การเดินเข้าสู่พื้นที่ของ 'ด้านมืด' เป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นพื้นที่สีเทา ด้วย 'ความชอบธรรม' ว่า "ไม่ได้โกงบริษัท เป็นคอมมิชชันที่ไม่ผิดอะไร"
ความไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรเมื่อทำสักครั้งแล้ว ก็คือการขี่หลังเสือ เลิกไม่ได้ง่าย ๆ
แต่ไม่ว่าเป็นพื้นที่สีเทาเข้มหรือเทาอ่อน และแม้ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ย่อมรู้ไม่ยากว่าการกระทำใดซื่อสัตย์หรือไม่
ค่านิยมของความซื่อสัตย์ต่างกันออกไป มนุษย์เงินเดือนไม่น้อยเช่นในประเทศญี่ปุ่นทำงานในองค์กรหนึ่ง ๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตทำงาน ขณะที่บางคนพยายามรีดไถข้าวของและเวลาจากองค์กรมากที่สุด บางคนเบียดบังเวลาหลวงไปทำงานส่วนตัว ด้วยข้ออ้างสารพัดเช่น "เงินเดือนก็เท่านี้ จะเอาอะไรกันนัก” หรือ “บริษัทรวยจะตาย ขอแค่นี้ไม่ล้มหรอก"
ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ปราศจากสิ่งนี้ มนุษย์ก็ไม่ต่างจากตัวอะมีบาที่แย่งอาหารกัน
บางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องซื่อสัตย์อะไรกันปานนั้น การใช้ชีวิตแบบมือใครยาวกว่าก็สาวได้มากกว่าผิดอะไร เป็นสัจธรรมของการเอาชีวิตรอดไม่ใช่หรือ
ความแตกต่างคือมนุษย์เดินทางในสายที่เป็นสัตว์สังคม สังคมอยู่ไม่ได้ด้วยแนวคิด 'มือใครยาว สาวได้สาวเอา' การไร้ความซื่อสัตย์เป็นบ่อเกิดของการฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชันที่กัดกินสังคมไทยทุกถึงรากก็เริ่มมาจากการการไร้ความซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้วลามไปถึงสังคม
อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก นักเขียนชาวอังกฤษ กล่าวแบบตลก ๆ ว่า เครื่องมือวัดความซื่อสัตย์ของคนไม่ใช่ใบคืนภาษีเงินได้ของเขา แต่คือการไม่ปรับเครื่องชั่งน้ำหนักของเขา!
มนุษย์ส่วนใหญ่ซื่อสัตย์เมื่อมีสายตาของชาวบ้านจับจ้องอยู่ น้อยคนซื่อสัตย์โดยปราศจากการรับรู้ของคนอื่น คนประเภทนี้เป็นยอดคน
หากจะทำเรื่องดี ๆ ในชีวิต ไยต้องป่าวประกาศให้โลกรู้?
เราทำดีเพราะเราเห็นคุณค่าของเรา ไม่ใช่เพราะต้องการให้ใครรู้ เราซื่อสัตย์เพราะเรามีค่าพอที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ซึ่งรวมทั้งศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ที่เจริญ
คนที่ไม่เห็นแม้แต่คุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองไหนเลยจะเห็นคุณค่าของคนอื่นหรือองค์กร?
การไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองก็คือการดูหมิ่นตัวเอง มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิต
ฝรั่งมีสุภาษิตว่า Honesty is the best policy (ความซื่อสัตย์เป็นนโยบายที่ดีที่สุด) เพราะความซื่อสัตย์เป็นใบรับประกันที่ดีที่สุดที่คุณจะได้รับไม่ว่าจะอยู่ในวงการใด ทำการใหญ่หรือเล็ก
หากผู้ทำธุรกิจหรือสมาคมกับคุณรู้ว่าคุณซื่อสัตย์เสียอย่างเดียว สัญญาหรือกฎใด ๆ ก็ไม่จำเป็น
ความซื่อสัตย์เป็นใบผ่านทางที่ดีที่สุด
ในระยะยาวเป็นนโยบายที่คุ้มจริง ๆ !
.......................
จาก สองปีกของความฝัน / วินทร์ เลียววาริณ
46 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 170 บาท = บทความละ 3.69 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วhttps://www.winbookclub.com/store/detail/88/สองปีกของความฝัน
0 วันที่ผ่านมา -
มีคนตั้งคำถามว่านักเขียนเขียนเรื่องโน่นเรื่องนี้ หรือเทศน์เรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วทำได้หมดหรือเปล่า อย่างผมเขียนบทความเสริมกำลังใจมาหลายร้อยบทความ ทำได้หรือ? เวลาพูดเรื่องธรรมะ ทำได้หมดหรือ?
ถ้าทำไม่ได้ จะสอนคนอื่นทำไม?
เป็นคำถามที่น่าสนใจ
คำตอบคือ ผมทำไม่ได้ทุกอย่างที่ผมสอนหรอกครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมสอนให้คนไม่จิตตก แต่ผมเองเป็นมนุษย์จิตโคตรตกคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ถึงจะทำไม่ได้บางเรื่อง แต่สิ่งที่ผมเขียนเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ สอนลูกหลานและคนที่รักอย่างนี้
มันไม่เหมือนกับใส่ฟอร์มาลีนในปลาสด แล้วโน้มน้าวให้คนอื่นกิน แต่ตัวเองไม่กิน
มันไม่ใช่เทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ
ผมเชื่อพลังความคิดแบบบวก และพยายามทำเสมอ แต่ในทางปฏิบัติมันยาก มันหลุดบ่อย
สอนเรื่องใช้ชีวิตในขณะจิตปัจจุบัน แต่สติคนเขียนหลุดเป็นประจำ
แต่เท่าที่ได้ทำได้ในบางช่วงนั้น พบว่ามันดีจริง จึงบอกต่อ
ในความเห็นของผม นักเขียนทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่ประเด็น
เหมือนพ่อแม่บอกลูกให้กินผัก แต่ตัวเองไม่กิน ที่ไม่กินเพราะไม่ชอบ แต่รู้ว่าผักดี อยากให้ลูกมีสุขภาพดี
หน้าที่ของนักเขียนคือเขียน บางเรื่องเขียนจากประสบการณ์ตรง บางเรื่องเขียนจากประสบการณ์ของคนอื่น บางเรื่องเขียนจากตำรา
ที่เขียนก็เพื่อส่งต่อความรู้และหรือความคิด ใช้ประสบการณ์การเขียนย่อยให้อ่านง่ายขึ้น ส่วนใครจะรับหรือไม่รับก็ตามสบาย ใครรับได้แค่ไหนก็แค่นั้น ใครไม่เห็นด้วยก็แย้งตามสบาย
นักเขียนจะทำได้หรือไม่ได้ จึงไม่ใช่ประเด็น และไม่สำคัญแต่อย่างใด
ที่สำคัญคือผู้อ่านได้หรือไม่ได้อะไรมากกว่า หลังจากการอ่าน ฉลาดขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
ผู้อ่านควรระวัง เวลาอ่านงานเขียน ก็อ่านเนื้องาน ไม่ต้องอ่านนักเขียนในทุกเรื่อง
ดังนั้นนักเขียนทำได้หรือเปล่าจึงไม่สำคัญเท่าผู้อ่านได้ประโยชน์จากข้อเขียนหรือเปล่า ต่อให้คนเขียนเป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง ถ้าอ่านแล้วเพิ่มรอยหยักในสมอง ก็เป็นเรื่องดี
พระไพศาล วิสาโล เคยเล่าในหนังสือ ลำธารริมลานธรรม ว่า
เทพศิริ สุขโสภา นักเขียนและศิลปินชื่อดัง ถามพุทธทาสภิกขุว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์สอนเรื่องจิตว่างมานาน ท่านไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร ผมก็เชื่อ แต่เคยนึกพอใจไหม”
“ถ้าเผลอก็มี” ท่านตอบเรียบ ๆ
สิ่งที่พุทธทาสภิกขุสอน ท่านทำจริง แต่ก็หลุดเหมือนกัน
ความสำคัญจึงอาจอยู่ที่คนอ่านมากกว่าคนเขียน
............................
จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้สองเท้าพาไป
ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/226/ปล่อยให้สองเท้าพาไป หรือ The Meb
0 วันที่ผ่านมา