• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ ชวนคนในอีกบริษัทหนึ่งมาร่วมงานกับเขานั้น ใครคนนั้นมีการงานที่มั่นคงกว่าบริษัท Apple มาก แต่ภายในชั่วโมงนั้นชายคนนั้นก็ตัดสินใจได้ว่าจะไปทำงานกับจ็อบส์

    ใครคนนั้นชื่อ ทิม คุก

    ไม่ทุกคนจะกล้าเปลี่ยนใจจากงานมั่นคงสู่อนาคตที่ไม่แน่นอน แต่การที่ ทิม คุก ตัดสินใจไป ก็เพราะเขามองเห็นภาพอนาคตว่าเขาจะยืนอยู่ตรงจุดที่ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ และมันสนุกกว่าการทำงานที่มั่นคง แต่ ‘เซม-เซม’

    เอาละ ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่จะได้รับคำชวนจาก สตีฟ จ็อบส์ ไปร่วมงานด้วย และไม่ทุกคนจะได้ไปยืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แต่หากเราเป็น ทิม คุก ในวันนั้น เราจะกล้าทิ้งงานมั่นคงไปหางานที่ไม่แน่ว่าจะมีอนาคตหรือ?

    หลายปีมานี้หลายคนมาขอคำปรึกษาผมเรื่องเปลี่ยนงาน ทุกคนอยากก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่กลัวความไม่แน่นอน กล้า ๆ กลัว ๆ จึงต้องการคำปรึกษา

    ความจริงหากตอบด้วยสัญชาตญาณล้วน ๆ การเปลี่ยนงานก็เหมือนการตกหลุมรัก วูบแรกก็รู้แล้ว

    การถามผมก็อาจไม่ผิดคนนัก เพราะผมเปลี่ยนงานหลายครั้งแบบหักฉาก ตีโค้งไปคนละทิศ หลายการตัดสินใจเปลี่ยนชีวิต และหลายการตัดสินใจทำได้ยาก โดยเฉพาะการตัดสินใจเปลี่ยนงานครั้งสุดท้ายซึ่งกระโจนเข้ามาเป็นนักเขียนอาชีพเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ในวัยสี่สิบกว่า ซึ่งไม่ค่อยมีคน(กล้า)ทำกันนัก

    ผมกลัวการเปลี่ยนงานมาตลอดชีวิต แต่กลับเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก เช่น เปลี่ยนจากสายสถาปัตย์เป็นสายโฆษณา เปลี่ยนจากสายโฆษณาเป็นสายหนังสือ แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายนั้นตัดสินใจได้ในเวลาไม่กี่วินาที

    เพราะอะไร? เพราะผมมองไปที่จุดหมาย ไม่ใช่เงินเดือนและความมั่นคง

    หลายคนเปลี่ยนงานเพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างหน้าว่างให้เหยียบ เช่น มีตำแหน่งว่าง มีข้อเสนอเพิ่มเงินเดือน เป็นต้น

    คนส่วนมากจะเปลี่ยนงานโดยมองที่รายละเอียดปลีกย่อย เช่น จะได้เงินเดือนเพิ่มเท่าไร ได้โบนัสกี่เดือน ระยะทางจากบ้านไปออฟฟิศไกลแค่ไหน เวลาทำงานยาวไหม ต้องทำงานวันเสาร์ไหม ฯลฯ

    เมื่อก้อนหินข้างหน้าเป็นข้อเสนอใหม่ที่ดีกว่า ก็ก้าวไปเหยียบไว้ เมื่อเห็นก้อนใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็เปลี่ยนอีก

    นี่คือการเปลี่ยนงานแบบช็อตสั้น คิดแบบสั้น ๆ ไปทีละท่อน เรียกว่า stepping stones

    นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แค่บอกว่าเป็นการเปลี่ยนงานแบบช็อตสั้น

    แต่ยังมีการเปลี่ยนงานอีกแบบหนึ่ง คือคิดช็อตยาว เหมือนยิงลูกสนุกเกอร์ข้ามโต๊ะ

    ช็อตยาวคือมองที่จุดหมายเป็นหลัก ถามตัวเองว่าต้องการอะไร อยากทำอะไร ในอีกห้าปี สิบปี อยากยืนอยู่ตรงไหน แล้วใช้จุดหมายนั้นเป็นตัวกำหนดทาง

    ถ้าใช้วิธีนี้ ก็จะตัดสินใจเรื่องเปลี่ยนงานได้ง่ายมาก นั่นคือจะย้ายบริษัทต่อเมื่องานที่ใหม่ทำให้เราไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น มั่นคงขึ้น

    ถ้าใช้วิธีนี้ ก็จะสำรวจตัวเองเป็นระยะว่า บริษัทเดิมที่เราทำงานอยู่ยังอยู่บน path นั้นไหม และเราพัฒนาคุณสมบัติของตนเองให้พร้อมสำหรับก้าวต่อไปแค่ไหนแล้ว

    ถ้าบริษัทเก่าไม่อยู่บน path ของเรา ก็ได้เวลาเริ่มมองหาบริษัทใหม่ที่อยู่บน path และทำให้เราไปถึงจุดหมาย

    และถามตัวเองเสมอว่า ตนเองได้พัฒนาคุณสมบัติจนพร้อมสำหรับการก้าวสู่ path ใหม่หรือเปล่า ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ ทำงานเช้าชามเย็นชาม แล้วเชื่อว่าเทวดาจะช่วยเสกฝีมือมาใส่ให้

    หลักการมองช็อตยาวก็เป็นอย่างนี้ ที่เหลือเป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เช่น เรื่องเงิน เรื่องโบนัส เรื่องทำงานกี่ชั่วโมง ไปจนถึงชื่อตำแหน่งบนนามบัตรว่าเท่ไหม

    ผมเปลี่ยนงานครั้งสุดท้ายมายี่สิบกว่าปีแล้ว เงินไม่มากเหมือนสายเก่า เส้นทางนี้ขรุขระ แต่ไม่มีวันใดรู้สึกเสียใจที่เปลี่ยนงาน เหมือนปลาที่กระโดดออกจากกระชัง ดิ่งลงสู่ห้วงสมุทร เบื้องหน้ามืดสลัว มีแสงสว่างสาดลงมาบ้างเป็นระยะ และว่ายไปข้างหน้าโดยมั่นใจว่าไม่หลงทาง

    วินทร์ เลียววาริณ
    28-5-25

    ..........................

    ท่อนหนึ่งจาก เหตุผลที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า

    โปรโมชั่นพิเศษเป็นชุด https://shope.ee/2LAmmZMaOd?share_channel_code=6 

    0
    • 1 แชร์
    • 48

บทความล่าสุด