-
วินทร์ เลียววาริณ2 ปีที่ผ่านมา
อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) เป็นนักคิด นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส นักเขียนรางวัลโนเบลวรรณกรรมปี 1957 เขามีมุมมองและโลกทัศน์ที่แปลกจากที่เราคุ้นเคย
เขามองว่าโลกเราช่างไร้สาระ (absurd) และชีวิตมนุษย์ก็ไร้สาระ เราถูกกรอกหูมาแต่เกิดว่า ชีวิตต้องมีสาระ มีความหมาย เราต้องแสวงหาความหมาย สาระ หรือคุณค่านั้น เพื่อทำให้ชีวิตมีความหมาย มีเหตุผลของการดำรงอยู่
แต่ ‘สาระ’ อาจเป็นภาพลวงตาที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับความยุติธรรม และอีกหลาย ๆ นามธรรมที่นำหน้าด้วย ‘ความ’
เราเกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน ทรมานกับรถติด แต่งงาน ทำงาน มีลูก แก่ตัว เกษียณ แล้วตาย เราเดินชีวิตไปตามครรลองที่สังคมตั้งให้เราเดิน ทำตามกติกาค่านิยมที่สังคมบอกให้เราทำ
กามูส์เห็นว่าการหาความหมายเป็นการตั้งคำถามผิดแต่แรก เพราะจักรวาลไร้จุดประสงค์ ไร้ความหมาย และไร้เหตุผล ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บอกว่า เรามาอยู่ในโลกนี้ด้วยเหตุผลหรือความหมายอะไร หรือถ้ามี เราก็ไม่รู้ เพราะเกินสติปัญญาของเรา ความหมายทั้งหมดที่เราบอกกัน มาจากการคิดเองเออเอง
เขาเห็นว่ามันไม่มีคุณค่าสากล ไม่มีแผนของพระเจ้า ทุกอย่างเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง และเป็น random (ส่งเดช)
ชีวิตไร้สาระ ไร้ความหมาย
นี่ก็คือแนวคิดของปรัชญาไร้สาระ (Absurdism)
มัน ‘absurd’ เพราะคนพยายามสร้างหรือหาความหมายจากเรื่องที่ไม่มีความหมาย
มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ชอบจัดระเบียบ พยายามเหลือเกินที่จะเข้าใจทุกอย่างในชีวิต จนหลงทาง
แล้วเราควรทำยังไง?
กามูส์เห็นว่ามนุษย์เรามีแค่สามทางเลือกเท่านั้นคือ 1 หนีจากมัน 2 หลบซ่อนใต้ความเชื่อ และ 3 อยู่กับมัน
‘หนีจากมัน’ คือฆ่าตัวตายไปเสียจากโลกนี้
‘หลบซ่อนใต้ความเชื่อ’ คือซ่อนตัวใต้ร่มศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่โลกเรามีลัทธิต่าง ๆ มากมาย สร้างชุดความเชื่อบางอย่างให้เราเกาะยึดเหมือนเกาะขอนไม้กลางทะเล เรารู้สึกสบายใจขึ้น และไม่ต้องคิดมาก
ส่วน ‘อยู่กับมัน’ คือยอมรับมัน
ในทางเลือกแรก กามูส์เห็นว่าการฆ่าตัวตายคือ ‘การสารภาพ’ ว่าชีวิตไม่คุ้มที่จะดำเนินต่อไป มันเป็นการเลือกอย่างหนึ่งที่จะออกไปพ้นจากวิถีไร้สาระ แต่กามูส์ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เขาเห็นว่าควรใช้ชีวิตให้ถึงที่สุดอย่างเต็มที่
ก็มาถึงประโยค "ผมควรฆ่าตัวตาย หรือว่าดื่มกาแฟสักถ้วย" ที่โพสต์เมื่อวานนี้
ประโยคเต็มคือ “Should I kill myself, or have a cup of coffee? But in the end one needs more courage to live than to kill himself.”
ข้อความนี้มาจากนวนิยายเรื่อง A Happy Death ของเขา
ตรงกับคำของเซเนกา นักปรัชญาสายสโตอิกคนหนึ่งที่ว่า “บางครั้งการมีชีวิตอยู่ก็คือการแสดงความกล้าหาญ”
การมีชีวิตอยู่ต้องใช้ความกล้าหาญกว่าฆ่าตัวตาย
มองแบบนี้ก็จะเห็นว่า การดื่มกาแฟต้องใช้ความกล้าหาญกว่าฆ่าตัวตาย!
เพราะความทุกข์มิได้อยู่ที่โลกกระทำต่อเรา แต่อยู่ที่เรากระทำต่อตัวเอง
นี่ก็คือหลักพุทธ การปรุงแต่งทำให้เกิดทุกข์
กามูส์ยกตัวอย่างตำนานกรีกเรื่องซิซีฟัส (Sisyphus) ซิซีฟัสเป็นกษัตริย์แห่งเอพไฟรา กระทำผิดเรื่องโกงความตายสองครั้ง จึงต้องคำสาปลงโทษให้เข็นก้อนหินใหญ่ขึ้นเขา เมื่อใกล้ถึงยอด หินจะร่วงลงมาทุกครั้ง แล้วต้องเข็นขึ้นไปใหม่ ต้องทำอย่างนี้นิรันดร์
การแบกหินขึ้นเขาลงเขาซ้ำ ๆ กันย่อมเป็นเรื่อง 'ทุกข์'
แต่กามูส์มองอีกมุมหนึ่งว่า ขณะที่ใคร ๆ ก็คิดว่าซิซีฟัสเคราะห์ร้ายเหลือเกิน ต้องทำงานเข็นหินขึ้นภูเขา และจะล้มเหลวเสมอ แต่ใครเล่าบอกว่าเขาต้องทุกข์ล่ะ? หากซิซีฟัสยอมรับว่าทั้งหมดนี้ไร้สาระ เขาก็อาจแบกหินไปอย่างมีความสุขได้ เพราะความสุขเกิดจาก ‘ปัจจุบันขณะ’ ของการเข็นหิน
บางทีบางชั่วยามขณะเข็นหิน อาจมีผีเสื้อสองสามตัวบินมาเกาะแขน อาจมีเสียงนกร้องอ่อนหวาน อาจมีลมเย็นละมุนพัดโชยมา อาจมีแสงแดดอ่อนอาบร่าง
โลกมิได้ทุกข์ทุกขณะที่เข็นหิน
ในโลกที่น่าจะเป็นทุกข์ก็มีสุขได้ ถ้ารู้จักใช้ชีวิต ถ้าใช้ชีวิตเป็น
Enjoy the process!
เอนจอยการแบกหินระหว่างทาง ไม่ใช่นึกถึงแต่ภาพที่หินที่จะกลิ้งตกลงมาในอนาคต
ดังที่เซเนกาบอกว่า “จงใช้ชีวิตทันที และนับทุกๆ วันเป็นชีวิตเอกเทศ”
การหนีทุกข์โดยการฆ่าตัวตายจึงแสดงว่าใช้ชีวิตไม่เป็น
คนที่ใช้ชีวิตเป็นจะเลือกดื่มกาแฟ
แต่เพิ่มไอศกรีมอีกถ้วยก็เยี่ยม
(สนใจอ่านเรื่องปรัชญาไร้สาระ - Absurdism อ่านเพิ่มได้จากหนังสือ เหตุผลที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า)
7- แชร์
- 1759
-
ในหนังเรื่อง The Godfather Part Two มีฉากที่ตัวละคร Frank Pentangeli ต้องให้การต่อรัฐสภา เพื่อเอาผิดเจ้าพ่อ ไมเคิล คอลิโอน ก่อนหน้านั้นเขาสารภาพกับทางการแล้วว่า เขาก่ออาชญากรรมต่างๆ ตามคำสั่งของเจ้าพ่อ
ก่อนที่เขาจะให้การใดๆ สายตาเขาก็เหลือบเห็นพี่ชายของเขาเดินมากับเจ้าพ่อ พี่ชายของเขาอาศัยอยู่ที่เกาะซิซีลี ไม่เคยเดินทางไปไหน แต่วันนี้กลับมาปรากฏตัวที่นี่
แฟรงก์รู้ทันทีว่านี่เป็นการเดินหมากของไมเคิล เพื่อนำพี่ชายของเขามาเตือนเขาว่า "อย่าพูด" มิฉะนั้นจะมีผลที่ตามมา
แฟรงก์กลับคำให้การ บอกว่าไม่รู้จักเจ้าพ่อใดๆ ทั้งสิ้น ที่มาให้การเพราะพวกเอฟบีไอสั่งมา ว่าแล้วก็หัวเราะขำๆ
หลังจากแฟรงก์ถูกเอฟบีไอพากลับไปที่พักในค่ายทหาร ทอม เฮเกน ทนายของไมเคิลก็ไปหา บอกให้เขาฆ่าตัวตาย (ฉากนี้คลาสสิกมาก)
แฟรงก์ก็ฆ่าตัวตายอย่างว่าง่าย
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า omertà
โอแมร์ตาคือสัญญาชนิดหนึ่งหรือวิถีปฏิบัติของพวกอาชญากรอิตาเลียน นั่นคือหากถูกตำรวจจับ จะไม่พูด ไม่ซัดทอด ไม่หักหลังกัน
มันเป็นสัญญาเลือด ใครฝ่าฝืนจะต้องตาย
นักเขียน มาริโอ พูโซ ใส่หลักการโอแมร์ตาในนวนิยายของเขาหลายเรื่อง เช่น The Godfather, The Sicilian และ Omertà
ฉากให้การฉากนี้เรียบง่ายมาก แค่ให้ตัวละครพี่ชายโผล่เข้ามาเงียบๆ โดยไม่ต้องพูดสักคำเดียว ก็ทรงพลัง พิสูจน์ว่า ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ทำหนังเป็นตั้งแต่หนุ่ม
The Godfather Part Two เป็นงานชั้นครู เป็นภาคต่อที่จัดว่ายอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกภาพยนตร์ อาจดีกว่าภาคแรกด้วยซ้ำ นี่เป็นครั้งที่สองที่ มาริโอ พูโซ ร่วมเขียนบทกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา
ทั้งสองเรื่องได้รับรางวัลออสการ์บทยอดเยี่ยม ทั้งที่ มาริโอ พูโซ ไม่เคยเขียนบทมาก่อน
ทั้งสองเรื่องสุดยอดจริงๆ (11/10)
กราบ
วินทร์ เลียววาริณ
6-7-250 วันที่ผ่านมา -
ก่อนยุคโทกุงาวะแห่งเอโดะ แผ่นดินญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยการรบพุ่ง นักรบนาม ไทโค ชมชอบการดื่มชาและศึกษาพิธีฉะโนะยุกับท่านอาจารย์ เซน โนะ ริคิว ปรมาจารย์แห่งวิชาชงชา ทุกครั้งที่ไทโคเข้าพิธีดื่มชากับอาจารย์ ก็เช่นนักบวชผู้ละวางปัญหาทางโลก จิตดิ่งสู่ความสงบของสันติและความงามอย่างเต็มเปี่ยม เป็นโมงยามที่หายากสำหรับนักรบ
นักดาบลูกน้องของไทโค นาม คาโต เห็นว่าเจ้านายมัวแต่เสียเวลาในพิธีชา เสียการเสียงานของรัฐ อีกทั้งเสียภาพลักษณ์ของนักรบผู้หาญกล้า จึงตัดสินใจที่จะยุติปัญหาแต่ต้นตอ นั่นคือสังหาร เซน โนะ ริคิว เสีย
อันอาจารย์ เซน โนะ ริคิว ผู้นี้เกิดที่เมืองซาไก (ปัจจุบันคือ โอซากา) บิดาเป็นพ่อค้า เขาเรียนรู้เรื่องชามาแต่เล็กจากอาจารย์ คิตะมุคิ โดจิน และได้เรียนเซนสายรินไซกับอาจารย์ โซโต ไดริน แห่งวัดนันชูที่ซาไก ต่อมาก็ไปฝึกเซนที่วัดไดโทคุ
อายุสิบเก้าท่านเรียนเรื่องชากับ ทาเคโนะ โจ ปรมาจารย์พิธีชงชาแห่งซาไก และตลอดชีวิตของท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพิธีชงชา เคยเป็นอาจารย์ชงชาให้สองขุนศึกใหญ่แห่งญี่ปุ่นคือ โอดะ โนบุนากะ กับ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ
เซน โนะ ริคิว ได้พัฒนาประเพณีฉะโนะยุจนเกือบสมบูรณ์ เช่น การใช้แจกันดอกไม้ ที่ตักชา ที่รองฝากาทำด้วยไม้ไผ่ ถ้วยชาแบบราคุ ยาคิ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาความร้อนต่ำทำให้ไม่เรียบและมีรูพรุน และเป็นต้นตำรับของถ้วยชา ท่านทำให้พิธีชงชาเป็นสิ่งที่แพร่หลายทั่วญี่ปุ่น
คาโตเดินทางไปพบท่านเซน โนะ ริคิว และขออนุญาตเข้าร่วมพิธีดื่มชา ปรมาจารย์ด้านชาอนุญาต
อาจารย์เซน โนะ ริคิว มองเห็นเจตนารมณ์ของนักดาบผู้มาเยือน แต่ยังคงรักษาความเยือกเย็นไว้ได้ สีหน้ายิ้มละไม ท่านเชิญนักดาบเข้าไปในห้องพิธี กล่าวว่า "ท่านคาโตสมควรวางดาบของท่านไว้นอกห้อง"
คาโตกล่าวว่า "ข้าเป็นนักรบ ข้าไม่เคยวางดาบของข้า"
"ฉะโนะยุเป็นพิธีแห่งสันติและความสงบแห่งจิต การพกดาบย่อมขัดต่อความหมายของมัน"
"ข้าเป็นนักรบ ข้ามีดาบเคียงกายตลอดเวลา จะเป็นพิธีฉะโนะยุหรือพิธีอันใดก็ตาม ข้าก็มีดาบของข้า"
เซน โนะ ริคิว ยิ้มน้อย ๆ "เช่นนั้นท่านจงพกดาบของท่าน และเข้ามาดื่มชากันเถิด"
นักฆ่าวางดาบบนพื้นเสื่อตาตามิ ขณะที่เจ้าของสถานที่เริ่มต้มน้ำ มองออกนอกห้อง ผ่านชานเรือน แลเห็นฝูงปลาว่ายวนในบ่อหิน เสียงน้ำไหลรินต่อเนื่อง นี่คือสถานที่สงบงามอย่างแท้จริง แต่นักดาบไม่ลืมภารกิจของเขา
กาน้ำวางบนถ่านไฟร้อนแดง ไม่นานน้ำในกาก็เดือดปุด เซน โนะ ริคิว ยิ้มขณะยกกาน้ำขึ้นมาหมายรินลงถ้วย แต่มือที่อ่อนล้าจับกาน้ำไม่ถนัด เป็นผลให้กาน้ำพลาดหลุดจากมือ เทราดบนถ่านไฟ เสียงฉ่าของน้ำเดือดดังพร้อมไอน้ำที่พลุ่งขึ้นมา ไอและขี้เถ้าฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง
อาจารย์เซน โนะ ริคิว เอ่ยกับแขกที่มาเยือน "เราขออภัยต่อท่าน นี่เป็นความผิดพลาดของเราเอง ได้โปรดกลับเข้ามานั่งดื่มชาก่อน บัดนี้ดาบยาวของท่านเปื้อนขี้เถ้าเลอะเทอะ เราจะเช็ดดาบของท่านจนสะอาด แล้วค่อยคืนแก่ท่าน"
ผู้มาเยือนดื่มชาที่อาจารย์ยื่นให้ เมื่อชาหมดถ้วย นักฆ่าก็ลาอาจารย์เซน โนะ ริคิว จากไปเงียบ ๆ พร้อมดาบของเขา
วินทร์ เลียววาริณ
6-7-25.............................
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
มังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/244/Mini%20Zen%20คู่%20Mini%20Tao
0 วันที่ผ่านมา -
Who lacks sex speaks about sex, hungry talks about food, a person who has no money - about money, and our oligarchs and bankers talk about morality.
Sigmund Freud
1 วันที่ผ่านมา -
วันก่อนผู้อ่านถามถึงความแตกต่างระหว่างคำว่ามุมมองกับทัศนคติ เรามักใช้แทนกัน
ความจริงความหมายมันก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งสองคำก็คือมุมมอง
อีกคำหนึ่งคือ perception สามคำนี้ไม่เหมือนกัน
สามคำนี้อยู่ในกลุ่มการมองเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
perception หมายถึงสิ่งที่เรามองเห็น หรือคิดจากสิ่งที่เห็น ยกตัวอย่าง เช่น รัฐมนตรี ก. ทำงานดีมาก แต่ perception ของคนคือเขาทำงานดีเพื่อเอาหน้า เขาอาจทำดีจริงๆ ก็ได้ แต่คนมองเห็นว่าเอาหน้า สิ่งที่คนมองนั่นคือ perception
จึงอาจแปลว่า "Perception is what you see."
เวลาเราทำดี ในใจเรามีความคิดกุศล perception ของคนอื่นอาจมองตรงข้าม
สำหรับคนจำนวนมาก อาจไม่แยแสว่าคนอื่นคิดอะไรกับตน คิดว่าตนบริสุทธิ์ใจก็พอแล้ว แต่หากทำธุรกิจหรือการงานอื่น perception ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนั้นไปได้ไกลหรือไม่
เพราะมันไม่สำคัญว่าเราทำอะไร แต่อยู่ที่คนอื่นเข้าใจว่าอะไร
สำหรับมุมมอง (viewpoint หรือ perspective) คือตำแหน่งที่มอง ยกตัวอย่าง เช่น มองบ้านเก่าหลังหนึ่ง มันสามารถมองได้จากหลายมุม เช่น มุมของคนภายนอก หรือมองจากมุมของคนที่อยู่อาศัย
มองต่างมุม perception ก็ต่างกัน สมองก็แปลความหมายต่างกัน
ก็มาถึงคำที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติ (attitude)
ทัศนคติคือผลจากการปรุงความคิดเรา เช่น เรามองบ้านเก่าแล้วเห็นว่าคนในบ้านยากจน ลำบาก ชีวิตลำเค็ญ เรามองว่าความลำบากคือเรื่องเลวร้าย เคราะห์ร้าย กรรมเก่า
แต่คนในบ้านอาจมองว่ามันคือความอบอุ่น เพราะพ่อแม่ของเขายอมอยู่ในบ้านเก่าทั้งชีวิตเพื่อให้การศึกษาลูก นอกจากนี้ชีวิตลำบากทำให้เขาไต่ขึ้นที่สูงสำเร็จ
ทัศนคติของคนในบ้านจึงตรงข้าม คือเห็นว่าความลำบากเป็นเรื่องดีงาม
จะเห็นว่าในเรื่องเดียวกัน มุมมองต่างกัน ก็อาจได้รับทัศนคติต่างกัน แต่มันก็ขึ้นการการศึกษา การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม ฯลฯ ด้วยที่ทำให้คนคนหนึ่งมีทัศนคติแบบหนึ่ง
ทัศนคติจึงสำคัญกว่าทุกอย่าง เพราะหากใครคนหนึ่งมีทัศนคติที่ดี ชีวิตมีโอกาสสูงที่จะมีความสุข
เราคงเคยได้ยินมาก่อนว่า ชีวิตคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และ 90 เปอร์เซ็นต์ของปฏิกิริยาของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ปฏิกิริยานี้ก็คือทัศนคติ
จะมีทัศนคติดีส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อม แต่อีกส่วนหนึ่งอาจฝึกได้
ฝึกมองโลกในมุมบวก มันยากกว่ามองโลกในแง่ลบ แต่มันเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เรามองหาทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น เราประสบเหตุการณ์หนึ่ง ถ้าเราบอกว่า "มันแก้ไม่ได้" โอกาสแก้ปัญหานั้นก็เท่ากับศูนย์ทันที
แต่หากเรามองว่า "มันอาจมีทางแก้" โอกาสแก้ปัญหานั้นก็ไม่ใช่ศูนย์แล้ว อาจเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับความสามารถและประสบการณ์ของเรา 5 เปอร์เซ็นต์นี้ไม่มีวันเกิดขึ้นหากเรามีทัศนคติลบแต่แรก
เมื่อเรามองเห็นทางเลือกมากขึ้น ก็มีโอกาสมีความสุขมากขึ้น ง่ายๆ เช่นนั้น
วินทร์ เลียววาริณ
5-7-251 วันที่ผ่านมา -
หากเราตัดไม้ไผ่มาปล้องหนึ่ง แล้วมองด้านข้างด้านยาว จะเห็นว่ามันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง จะเห็นว่ามันเป็นวงกลม
คนที่มองด้านสี่เหลี่ยมยืนยันว่าสี่เหลี่ยมคือความจริง ก็ถูกของเขา
คนที่มองด้านวงกลมยืนยันว่าวงกลมคือความจริง ก็ถูกเช่นกัน
เพราะบางครั้งความจริงก็เป็นสัมพัทธ์ ขึ้นกับมุมมอง และบ่อยครั้งมีความจริงมากกว่าหนึ่งมุม
และนี่คือ สองมุมที่ถูกทั้งคู่ บทความใหม่วันเสาร์ คลิกลิงก์อ่านได้เลย https://www.blockdit.com/posts/67fbd74632ee76ef1fce4c73
1 วันที่ผ่านมา