• วินทร์ เลียววาริณ
    1 ปีที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้เล่าข่าวญี่ปุ่นยอมให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพในประเทศ เพื่อเป็นยันต์กันผีต่อจีนและเกาหลีเหนือ

    ญี่ปุ่นมีเหตุผลเหมือนไทยสมัยก่อน กลัวคอมมิวนิสต์

    ผู้อ่านเคยได้ยินวลี Domino Effect ไหมครับ มันหมายถึงหากเวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ลาวและกัมพูชาก็จะล้มตาม ต่อด้วยไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ แหลมทองจะกลายเป็นพื้นที่สีแดง

    ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงยอมให้สหรัฐฯมาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา และอีกหลายที่ ใช้เป็นฐานบินไปทิ้งระเบิดที่เวียดนามเหนือ

    ผมเขียนเรื่องนี้ในรูปนิยาย คือ 17 องศาเหนือ ลองอ่านดู (เรื่องนี้พระเอกคือ ตุ้ย พันเข็ม แห่ง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน)

    ...............

    “สงครามเวียดนามไม่ได้เกิดที่แผ่นดินไทยก็จริง แต่เราถูกลากเข้าไปอยู่ในวังวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องร่วมกับอเมริกา เพราะนโยบายของไทยเราชัดเจนแต่ต้นแล้วว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เราจำเป็นต้องรบกับเวียดนามเหนือ ประเทศไทยกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม อเมริกาปรนเปรอเราด้วยเงินทองและความช่วยเหลือต่าง ๆ มากเสียจนเราถอนตัวไม่ขึ้น...”

    พล.อ. รังสีกล่าวว่า “...ดังนั้นไม่เพียงแต่เราให้อเมริกามาสร้างฐานทัพที่นี่ เรายังส่งทหารไปรบกับเวียดกง เราฝึกทหารให้เวียดนามใต้ จะว่าไปแล้ว เราก็คือศัตรูอันดับต้น ๆ ของเวียดนามเหนือ...”

    ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยกับอเมริกาสืบย้อนไปนานก่อนสงครามเวียดนาม เมื่อเกิดสงครามเกาหลีขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยส่งกองทหารสี่พันคนและข้าวสารสี่หมื่นตันไปช่วยสนับสนุน ทำให้สหรัฐฯมองว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่จริงใจ หกเดือนต่อมาสหรัฐฯก็ให้ความช่วยเหลือทางทหารมากมาย ก่อตั้งกองอำนวยการที่ปรึกษาทางการทหาร ช่วยฝึกทหารไทย ตัวเลขความช่วยเหลือทางทหารสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นมูลค่า 2.5 เท่าของงบประมาณทางทหารของไทยในเวลานั้น

    ตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2515 กองทัพบกและกองทัพอากาศไทยปรับปรุงกองทัพด้วยเงินช่วยเหลือมากมายจากสหรัฐอเมริกา มูลค่าความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯมากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับร้อยละ 54 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหม

    ในฐานะตำรวจ ตุ้ย พันเข็ม รับรู้ความช่วยเหลือเช่นกัน หน่วยซีไอเอของอเมริกาเข้ามาช่วยฝึกตำรวจไทยเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ หน่วยงาน USAID เข้ามาช่วยสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านในเขตพื้นที่สีแดง เขารู้ว่าครึ่งหนึ่งของเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้ประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2508-2512 เป็นเงินที่ให้กรมตำรวจ นับเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ กรมตำรวจได้รับรถถัง รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ เรือ และอาวุธทันสมัยอื่น ๆ อีกทั้งการฝึกฝนจากซีไอเอ นี่เองที่ทำให้เขารู้จักซีไอเอเป็นครั้งแรก

    ตุ้ย พันเข็ม จำได้ ในปี พ.ศ. 2507 ประเทศไทยในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร กลายเป็นฐานฝึกกำลังทหารของเวียดนามใต้ เมื่อได้รับการร้องขอจากประธานาธิบดีตรันวันมินห์แห่งเวียดนามใต้ให้ช่วยฝึกหัดนักบินของกองทัพอากาศ

    ต่อมาไทยส่งกำลังทหารอากาศไปสนับสนุนกองทัพอากาศเวียดนามใต้ คือหน่วยบินวิคตอรี (Victory Wing Unit) ทั้งนักบินและช่างอากาศ เครื่องบินลำเลียงแบบ ซี-47 ตามมาด้วยการจัดตั้งกองบังคับการหน่วยช่วยเหลือทางทหารที่กรุงไซ่ง่อน ในเดือนพฤศจิกายน 2508 ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยบินวิคตอรีกับฝูงบินลำเลียงที่ 415 ของเวียดนามใต้

    แล้วความช่วยเหลือเวียดนามใต้ก็ทวีขึ้น ในปี พ.ศ. 2509 ไทยส่งกำลังทั้งทหาร แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เปลี่ยนเวียนกันหลายผลัด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2510 ไทยส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปสมทบที่เวียดนาม รหัสนาม จงอางศึก เป็นกองกำลังหน่วยแรกของไทยซึ่งไปปฏิบัติการรบในสงครามเวียดนาม ผ่านไปสามเดือน จงอางศึกขยายขอบเขตจากกรมเป็นกองพล ใช้ชื่อว่า กองพลทหารอาสาสมัคร ในไซ่ง่อนจัดตั้งกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ขึ้นตรงกองบัญชาการทหารสูงสุด

    “ในตอนนั้นกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเครื่องบินอเมริกาซึ่งโจมตีเวียดนามเหนือ บินไปจากฐานทัพเจ็ดแห่งในไทย ดอนเมือง อู่ตะเภา ตาคลี โคราช อุบลฯ อุดรฯ นครพนม ตอนนั้นผมเห็นเครื่องบิน บี-52 ขึ้นฟ้าตลอดเวลา อาทิตย์ละพันเที่ยว บินไปทิ้งระเบิดปูพรมถล่มเวียดนาม กัมพูชา และลาว เป้าหมายหลักคือฮานอยและไฮฟอง ระหว่างปี 2508 จนถึงปี 2516 เมื่อพวกเขายุติการทิ้งระเบิด บี-52 บินไปทิ้งระเบิดมากกว่าแสนเที่ยว สามเท่าของระเบิดที่ใช้ทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือกว่าเจ็ดล้านตัน มากจนผู้บัญชาการทหารอากาศของสหรัฐอเมริกา เคอร์ติส เลอเมย์ บอกว่า ‘เราจะถล่มพวกมันจนกลับสู่ยุคหิน’!”

    ในปี พ.ศ. 2504 กองทัพเรือไทยดำริจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ กองบัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติให้สร้างที่หมู่บ้านอู่ตะเภา ตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง สร้างรันเวย์ลาดยางยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร เป็นช่วงต้นของสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาอยากย้ายฐานบินจากเกาะกวมมาใกล้เวียดนาม เพื่อให้ทิ้งระเบิดสะดวก ก็เจรจากับรัฐบาลไทยขอใช้พื้นที่เป็นฐานทัพ สนามบินอู่ตะเภาของไทยมีทำเลที่เหมาะสม ในปี พ.ศ. 2508 ฝ่ายไทยยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ตกลงให้สหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานบินโจมตีเวียดนามเหนือ

    สหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน กระโจนเข้าสู่สงครามแบบเต็มตัว สูงสุดในปี พ.ศ. 2511 ส่งทหารเข้าเวียดนามกว่าห้าแสนคน ทิ้งระเบิดสารพัดชนิดถล่มเวียดนาม ถล่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ

    “ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่ได้หากฐานบินไม่ได้อยู่ในไทย จึงไม่แปลกที่เวียดนามเหนือไม่ยอมนิ่งเฉย การทำลายสนามบินอเมริกาในไทยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากเครื่องบินพวกนี้ถูกทำลาย ก็เท่ากับลดการทิ้งระเบิดที่เวียดนามเหนือได้ทันที เรารู้ว่าพวกนั้นส่งสายลับเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ก่อนที่อเมริกาจะส่งทหารมาเสียอีก พวกเวียดนามเหนือเป็นนักยุทธศาสตร์ เดินหมากรุกตั้งแต่เรายังไม่พร้อม พวกนั้นรู้ตั้งแต่การแบ่งประเทศเวียดนามที่เจนีวาแล้วว่า สงครามใหญ่กำลังจะมา เรากำลังเจอสงครามรูปแบบใหม่กับเวียดนามเหนือ พวกนั้นไม่รบกับเราซึ่ง ๆ หน้า พวกนั้นถนัดสงครามจรยุทธ์และบ่อนทำลาย เป็นยุทธวิธีที่พวกนั้นทำมาตลอดสงครามเวียดนามจนเอาชนะอเมริกามาได้แล้ว ตรงตามคำของฟามวันดงที่ว่า ‘เราตีพวกอเมริกันให้ตกทะเล’!...

    “คุณตุ้ยก็รู้ว่า สงครามจรยุทธ์ราคาถูกกว่าสงครามตามรูปแบบเดิม กำลังและสรรพาวุธของพวกเวียดกงสู้เราไม่ได้ การรบแบบเผชิญหน้าแพงกว่า พวกเขารบจนเงินหมด ต้องพึ่งเงินช่วยเหลือจากโซเวียตและจีน ไม่รบต่อก็ไม่ได้ พวกนั้นส่งสายลับมา ซ่อนอยู่ในรูปพ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ ทำลายแนวป้องกันด่านต่าง ๆ ของศัตรู เพื่อให้กำลังหลักสามารถบุกโจมตีฐานศัตรูได้ พวกเขาทำงานอย่างเป็นระบบ พวกนี้ก็คือดักกง”

    เขาได้ยินชื่อดักกงไม่นานหลังจากทหารอเมริกันเริ่มเข้ามาประจำการในไทย หน่วยปฏิบัติการแซปเปอร์ หรือหน่วยรบพิเศษของเวียดนามเหนือ - Vietnam Special Force หรือที่เรารู้จักกันในนาม ดักกง

    “แซปเปอร์เป็นหน่วยรบพิเศษ หรือทหารชุดล่าสังหาร หลายประเทศมีหน่วยรบนี้ แต่สำหรับเวียดนามเหนือ คัดสรรคนสำหรับหน่วยดักกงอย่างละเอียด ไม่เลือกคนตัวสูงใหญ่ คัดแต่คนทะมัดทะแมง คล่องแคล่ว หลายคนเป็นพรานชาวพื้นเมืองซึ่งเก่งเรื่องสะกดรอย และต้องมีคนที่รู้ภาษาไทยดี บางคนก็เป็นพวกม้ง ลัวะ คุณตุ้ยก็รู้ ดักกงแห่งเวียดนามเหนือเชี่ยวชาญการรบระดับสุดยอด เป็นหน่วยรบที่ฝึกมาเหมือนพวกนินจา ทำงานใหญ่ด้วยกำลังกลุ่มเล็ก เคลื่อนไหวได้อย่างไร้ร่องรอยเหมือนปิศาจ เหมือนนินจา พวกนี้ถูกฝึกมาให้ใช้อาวุธสงครามได้ทุกชนิด ชำนาญเรื่องวัตถุระเบิด การก่อวินาศกรรม การต่อสู้แบบประชิดตัว การซุ่มโจมตี เป็นกองกำลังที่เก่งที่สุดในการทำสงครามจรยุทธ์ ถูกฝึกมาให้อดทนอย่างยิ่งยวด ทนต่อการทรมานทุกรูปแบบ พวกนี้มองว่าพวกตนกำลังทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ รักษาบ้านเกิดของตัวเองจากจักรวรรดินิยมอเมริกาผู้รุกราน แน่นอนคำว่า ‘จักรวรรดินิยมอเมริกา’ รวมถึงไทยด้วย...”

    “ในคืนวันที่ 30 มกราคม ผมประจำการที่ค่ายรามสูร เย็นนั้นได้ยินเสียงระเบิดและปืน หน่วยดักกงสวมชุดดำหลายสิบคนโจมตีค่ายรามสูร ผมสั่งให้กำลังทหารของผมยิงต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ทั้งฝ่ายเราและอเมริกาเสียกำลังคนไปหลายคน...

    “ผมติดต่อกับฐานทัพอู่ตะเภาทันที เพราะถ้ามันเกิดขึ้นที่อุดรฯ ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นที่อู่ตะเภา ปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย ผมรู้ในชั่วโมงต่อมาว่าฐานทัพอู่ตะเภาก็ถูกโจมตีเช่นกันในเวลาเดียวกัน ปรากฏว่าดักกงแบ่งออกเป็นสองทีม ทีมแรกลอบเข้าไปในค่ายรามสูร ทีมที่สองโจมตีฐานบินอู่ตะเภา เป้าหมายหลักคือก่อวินาศกรรมเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 พวกนั้นวางแผนรัดกุม โจมตีทั้งสองฐานพร้อมกัน เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ยุทธการดอกไม้บาน โจมตีแบบฉับพลันจากทุกด้าน ฝ่ายอเมริกาและไทยในค่ายทหารตกใจเพราะคาดไม่ถึงว่าศัตรูจะกล้าลูบหนวดเสือถึงที่...

    “จนถึงเวลาเที่ยงคืน เราจึงควบคุมสถานการณ์ได้ ฝ่ายฐานทัพอเมริกายอมรับว่าทหารอเมริกันเสียชีวิตไปสิบคน บาดเจ็บยี่สิบกว่าคน หมาตายไปสองตัว ส่วนฝ่ายเราตายไปเจ็ดคน พวกเขารบอย่างกล้าหาญ”

    ตุ้ย พันเข็ม เงียบไป สะท้อนใจอยู่ภายใน

    “พวกดักกงตายไปสิบกว่าคน แต่ก็สร้างความเสียหายให้ฐานทัพมาก บี-52 เสียหายไปสองลำ หลังเหตุการณ์นั้น เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 หยุดบินช่วงหนึ่ง อเมริกากับไทยปิดข่าวนี้เป็นความลับ แต่ก็ปิดไม่อยู่ เพราะเสียงปืนและระเบิดที่ดังต่อเนื่องออกไปนอกฐานทัพ รวมกับควันดำจากระเบิด อย่างไรก็ตาม ข่าวก็ไม่ได้เผยออกไปสู่สื่อ”

    น.อ. สนั่นถาม “ทำไมครับ?”

    “เพราะในวันเดียวกันนั้นเอง พวกดักกงก็โจมตีฐานทัพต่าง ๆ ของอเมริกาทั่วเวียดนามโดยพร้อมเพรียงกัน ก็คือยุทธการเต็ต...”

    สงครามเวียดนามเข้มข้นขึ้นถึงขีดสูงสุดในปี 2511 ปีที่คอมมิวนิสต์ตอบโต้ด้วยยุทธการเต็ต หรือ The Tet Offensive คอมมิวนิสต์บุกถึงบ้าน ในวันที่ 30 มกราคม 2511 จู่โจมฐานทัพของอเมริกา เวียดนามใต้และพันธมิตรถึงหน้าบ้านพร้อมกัน อย่างคาดไม่ถึง นามปฏิบัติการนี้มาจากเทศกาลเต็ต - เต็ตเหวียนดาน หรือ เทศกาลแห่งรุ่งอรุณแรกของปี เป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวเวียดนาม ระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนั้นฝ่ายเวียดนามเหนือเลือกที่จะทำงานแทนการฉลองปีใหม่ จู่โจมฝ่ายใต้เป็นระลอกพร้อมกันทั้งประเทศ กำลังเวียดกงและกองทัพเวียดนามเหนือแปดหมื่นคน จู่โจมที่มั่นของฝ่ายใต้ในร้อยเมืองทั่วประเทศ เป็นแผนการที่ใหญ่ที่สุด กล้าที่สุด และเสี่ยงที่สุด การจู่โจมทำให้ฝ่ายใต้ตะลึงงันและรวนเร แต่ในที่สุดก็ตั้งหลักได้ และตีโต้กลับไป พวกดักกงก็สูญเสียมากเช่นกัน

    แม้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางทหาร แต่ยุทธการเต็ตกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม ชาวอเมริกันรู้แล้วว่าไม่คุ้มที่จะรบต่อไป แรงกดดันจากมหาชนทำให้สงครามจบลงเร็วขึ้น เพราะทุกวันสื่อฉายให้เห็นภาพความตายของทหารอเมริกัน ประชาชนเชื่อว่าวอชิงตันโกหก พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่าอเมริกาจะเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามอีกทำไม ส่งสัญญาณถอนตัว ให้เวียดนามใต้รบเอง และค่อย ๆ ถอนตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516

    และนี่ก็คือที่มาของการตั้งฐานทัพสหรัฐฯในไทย เพราะวลี Domino Effect

    วินทร์ เลียววาริณ
    19-2-24

    0
    • 0 แชร์
    • 145

บทความล่าสุด