• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    สมมุติว่ามีคนขอให้จิตแพทย์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ทำหนังเกี่ยวกับแวมไพร์ เคาน์แดรกคิวลา โดยเขาเขียนบท และให้อัจฉริยะประติมากร ไมเคิล แองเจโล เป็นผู้กำกับ หนังอาจออกมาในรูปประติมากรรม เป็นการแกะสลักแผ่นหินอ่อนเป็นรูปนูน (Relief) ประกอบด้วยตัวละคร สูงต่ำ สว่างด้านนอกที่สัมผัสแสง มืดในส่วนที่เป็นหลืบ สวยงาม แต่ลึกลับ

    Nosferatu ฉบับล่าสุดของ Robert Eggers ให้ความรู้สึกอย่างนั้น

    แน่ละ มันเป็นภาพยนตร์ แต่ทั้งเรื่องดูเป็นอาร์ต

    Nosferatu หมายถึงแวมไพร์ มาจากตำนานปรัมปราของโรมาเนีย ที่ต่อมาเป็นต้นกำเนิดนิยาย Dracula ของ Bram Stoker

    เราแทบทุกคนคงรู้เรื่องแวมไพร์ เคาน์แดรกคิวลาดีแล้ว มนุษย์อมตะที่ยามกลางวันซ่อนในโลง กลางคืนเพ่นพ่าน ดูดเลือดคน และตายได้ด้วยแสงอาทิตย์ หรือการตอกเหล็กแหลมเข้าที่หัวใจ

    Nosferatu เป็นงานรีเมกงานเก่ามากเรื่อง Nosferatu: A Symphony of Horror หนังเงียบเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เรื่องของแวมไพร์ชื่อเคาน์ออร์ล็อกที่ล่าเหยื่อ ภรรยาของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง

    ดังนั้น Nosferatu จึงไม่มีอะไรใหม่ในเชิงพล็อตเรื่อง ความใหม่อยู่ที่มุมมองทางจิตวิทยา และการนำเสนอแบบอาร์ต

    หากดูแบบเปลือกนอก Nosferatu เป็นหนังทริลเลอร์สยองขวัญธรรมดา แต่หากดูลึกเข้าไป มันเหมือนกำลังอ่านงานวิจัยเรื่องจิตและตัวตนของมนุษย์ของปรมาจารย์จิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์

    ทฤษฎี Psychoanalysis ของฟรอยด์พูดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะประสบการณ์ในวัยเด็ก แรงขับเคลื่อนดิบพื้นฐาน เซ็กซ์ มาตรฐานทางศีลธรรม ที่ก่อรูปความคิด และพฤติกรรมของเรา

    หนังใช้ฉากศตวรรษที่ 19 ได้เข้ากับบริบท เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สตรีสวมชุดคอร์เส็ตต์รัดรูปจนหายใจไม่ได้ ทุกอย่างซ่อนภายในจิตใต้สำนึก (ในฉากหนึ่งการรักษาใช้ชุดคอร์เส็ตต์รัดตัว)

    หนังสะท้อนถึงความปรารถนาที่เก็บกดภายใน สังคมที่มีกรอบ ในที่นี่แวมไพร์ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของเพลิงปรารถนา เคาน์ออร์ล็อกในเรื่องมักปรากฏตัวในรูปเงามืด คล้ายสะท้อนความปรารถนาในหุบเหวของความคิดคน

    ในด้านการนำเสนอแบบอาร์ต นี่เป็นหนังสวยในเชิงศิลปะ งดงามแทบทุกฉาก เป็นหนังสยองขวัญที่ดูดีมากในเชิงศิลป์ ภาพสวยทั้งเรื่อง จัดองค์ประกอบ แสงเงาสวยงาม เหมือนดูประติมากรรมชั้นดี จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังได้รับการเสนอชิงรางวัล Best Cinematography จากเวทีออสการ์

    ปกติผมไม่ชอบดูหนังแนวนี้ หากไม่ใช่เพราะผู้กำกับคือ Robert Eggers คนทำหนัง The Witch (2015), The Lighthouse (2019), The Northman (2022) หนังของเขามืดหม่น ดูยาก ต้องคิดสองสามตลบ โดยเฉพาะ The Lighthouse ดูแล้วปวดหัวไปหลายวัน

    แม้ Nosferatu ฉบับนี้มีพล็อตเรื่องธรรมดาและเราคาดเดาเรื่องได้ไม่ยาก แต่การเล่าเรื่องดี จังหวะจะโคนดี ทำให้เราดูหนังเรื่องนี้เหมือนถูกสะกดจิต

    Nosferatu ก็อดทำให้เราคิดถึงโลกที่เรากำลังอยู่ไม่ได้ สองศตวรรษหลังเคาน์ออร์ล็อก เราก็ยังอยู่ในโลกใบนั้น ความแตกต่างคือในโลกของ โซเชียล เน็ตเวิร์ก เราสามารถปลดปล่อยความปราถนาด้านมืดออกไปโดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรา ขณะเดียวกันเราก็พบกับความหลอกลวงแบบ 'เคาน์ออร์ล็อก' ทุกวัน ล่อลวงเราตลอดเวลา

    แต่ไม่นานมานี้ เราพบว่าที่ร้ายกว่า 'เคาน์ออร์ล็อก' ก็คือ 'อังเคิลออร์ล็อก' นี่เอง

    8/10
    ฉายทาง HBO

    วินทร์ เลียววาริณ
    25-7-25

    วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 18

บทความล่าสุด