• วินทร์ เลียววาริณ
    6 เดือนที่ผ่านมา

    ผู้อ่านคงสังเกตว่า ช่วงหลังนี้เมื่อลงบทความจากหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด ผมจะแจ้งสถานะของหนังสือเล่มนั้นให้ทราบด้วย เช่น “หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว”

    จะเห็นว่าหนังสือแทบทั้งหมดเข้าข่ายไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว

    เหตุผลง่ายมากคือ ตีพิมพ์ใหม่มาแล้วเจ็บตัว ก็ไม่รู้จะพิมพ์ทำไม

    สมัยยี่สิบปีก่อน ผมพิมพ์หนังสือทีละหลักหลายพัน เพื่อให้ราคาหนังสือต่ำที่สุด หนังสือส่วนใหญ่จึงมีราคาไม่เกิน 200 บาท กะขายยาวไป แต่มันกลายเป็นภาระ ต้องเช่าโกดังลากยาว ต้องลดราคา ต้องแจกแถม ฯลฯ

    ตอนนี้ไม่มีเงินพอทำอย่างนั้น และโกดังก็ไม่มีที่เก็บแล้ว

    แต่วลี “จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว” ก็มีนัยว่า สำนักพิมพ์แห่งนี้กำลังจะปิดม่านเวที

    ปลายปีก่อน หลังจากผมบอกว่าผู้ซื้อหนังสือมีเพียง 0.01% ของผู้อ่านทั้งหมด (100-300 เล่ม) ผู้อ่านก็ส่งกำลังใจมาให้อย่างท่วมท้น เสนอความเห็นต่างๆ เพื่อให้ผมอยู่รอด ก็ขอบคุณในน้ำใจไมตรี

    บางคนถามว่าทำไมจึงเลิกจำหน่ายหนังสือตามร้านหนังสือเสียเล่า คำตอบคือผมไม่ได้เลิก แต่ผมถูกนโยบายกำไรสูงสุดบีบให้ออกจากระบบนั้นต่างหาก เป็น lose-lose situation สำหรับทุกฝ่าย

    เอาละ นั่นคือเรื่องของเมื่อวาน เรื่องของวันนี้คือ ถ้ายังจะเขียนหนังสือ ขายหนังสือต่อไป ก็ต้องปรับตัว ทั้งนักเขียนและนักอ่าน

    นี่คือนโยบายใหม่ที่กำลังจะเดินไป

    ...........................

    1 ผมจะขายสินค้าในโกดังจนหมด โดยจะไม่ตีพิมพ์ใหม่

    แปลว่าในระยะยาว อาจจะไม่มีโกดังอีกต่อไป

    สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหนังสือใกล้หมด เราจะขายในราคาปกตามเดิมโดยไม่ลดราคา และจะคิดค่าส่งด้วย เพราะมันจะไม่มีอีกแล้ว ตามหลักดีมานด์-ซัพพลายธรรมดา

    ดังนั้นเมื่อผมบอกว่ามันคือราคาพิเศษ มันก็คือราคาพิเศษ ไม่มีนอกไม่มีใน

    ในกรณีนี้หนังสือที่จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว เมื่อผมตาย อาจกลายเป็น rare item มองมุมนี้ การซื้อหนังสือ “จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว” ก็อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มอย่างหนึ่ง! (บุหงาปารีมือสอง ราคาขึ้นเป็น 30 เท่าของราคาเลหลังครั้งสุดท้ายคือ 50 บาท!)

    นี่ไม่ได้ปิดประตูตายว่าจะไม่พิมพ์ใหม่โดยเด็ดขาด แต่เห็นชัดว่าโอกาสที่จะได้พิมพ์ใหม่น่าจะต่ำมากๆ (อ่านเหตุผลข้อ 2)

    ...........................

    2 หนังสือใหม่ต่อจากนี้จะเป็นโมเดล exclusive edition + pre-order จ่ายเงินก่อนพิมพ์

    ผมจะผลิตหนังสือใหม่เหมือนพ่อครัวทำอาหารตามสั่ง ไม่เก็บที่เหลือไว้ขายวันต่อไป ทำเท่าที่กิน ถ้าคนสั่งซื้อไม่พอ ก็จะคืนเงินให้โดยไม่ตีพิมพ์ ส่งตรงไปเป็นอีบุ๊คเลย

    exclusive edition (ก็คือ limited edition เฉพาะกลุ่ม) นี้พิมพ์มาสำหรับกลุ่ม 0.01% เท่านั้น นั่นคือพิมพ์ในหลัก 100-300 เล่ม พูดง่ายๆ คือเขียนให้ผู้อ่าน exclusive กลุ่มนี้เท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ต้องยอมจ่ายมากกว่าปกติหลายเท่า เพราะคุณกำลังซื้องาน rare item เหมือนซื้อหนังสือไปเก็บเป็น collection เพราะทั่วสุริยะจักรวาลมีอยู่แค่นี้เล่มเท่านั้น

    สมัยก่อนผมพิมพ์หนังสือใหม่ครั้งละหลายพันเล่ม ราคาปกจึงสามารถอยู่ในหลักไม่เกิน 200 บาทได้ แต่ต่อไปนี้เมื่อลดจำนวนพิมพ์ลง 10 เท่า ราคาปกก็จะพุ่งขึ้นหลายเท่า จะขายในหลักหลายร้อย หรืออาจเฉียดพันบาท (ขึ้นกับจำนวนหน้า) โดยที่สำนักพิมพ์ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างไร แค่ต่อชีวิตนักเขียนให้ทำงานที่รักต่อไปได้และจ่ายค่าใช้จ่ายของสำนักพิมพ์เท่านั้น

    ราคาหนังสือจะตกลงมา ก็ต่อเมื่อ exclusive group เพิ่มจำนวนคนมากขึ้น นี่ก็คือหลักดีมานด์-ซัพพลายธรรมดาเช่นกัน

    ...........................

    3 ถ้า pre-order ส่วนใหญ่ไม่ได้ตีพิมพ์ และอีบุ๊คขายยาก จนไม่คุ้มทุนและค่าใช้จ่ายของสำนักพิมพ์ มันก็เป็นสัญญาณว่าได้เวลาเลิกเขียนและปิดสำนักพิมพ์แล้ว ผลที่ตามมาคือการยุติโครงการเติมหัวใจใส่ห้องสมุด หลังจากบริจาคหนังสือมาแล้ว 50 ล้านบาท

    ผมไม่ชอบข้อ 3 นี้เลย แต่ก็ยอมรับว่ามันเป็นสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยนับไม่ถ้วนของวงการหนังสือ ที่พาเรามาจนถึงจุดนี้

    คำถามคือ ถ้าข้อ 3 เกิดขึ้นจริง เพจนี้จะยังคงอยู่หรือไม่?

    นาทีนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะการทำเพจมีค่าใช้จ่าย และผมไม่อยากขอเงินใคร

    เอาเป็นว่าขอลองข้อ 1 และ 2 ให้เต็มที่ก่อน ไม่สำเร็จค่อยไปที่ข้อ 3

    ถึงวันนั้น อะไรจะเกิดก็เกิด

    วินทร์ เลียววาริณ
    21 มกราคม 2568

    0
    • 0 แชร์
    • 58

บทความล่าสุด