-
วินทร์ เลียววาริณ12 วันที่ผ่านมา
ให้คะแนนหนัง The Old Guard 2 แค่ 2/10 บางคนว่าแรง บางคนอาจคิดว่าโหดไปไหม
หลายปีก่อนผมให้คะแนนหนัง Ambulance 2/10 ผู้อ่านหลายคนเคือง หงุดหงิด ไม่เข้าใจว่าทำไมให้คะแนนหนังบู๊สนุกๆ มันๆ อย่างนั้นแค่ 2 คะแนนได้ยังไง ทำยังไงก็ไม่เข้าใจ
คอมเมนต์ว่าผมดูหนังไม่เป็นนี่ได้ยินมาเรื่อยๆ!
2/10 ก็เป็นแค่คะแนนเชิงสัญลักษณ์ว่า ในรสนิยมการดูหนังของผม มันป็นหนังไม่ดีมากๆ
หนังไม่ดีไม่ได้แปลว่าหนังไม่สนุก แต่แปลว่าหนังย่ำรอยเท้าเก่า (คลิเช่) ไม่คิดจะพัฒนาอะไรเลย เหมือนกับไปคิดบทตอนตั้งกล้องเสร็จแล้ว
หนังแบบนี้ไม่สนใจบท ไม่สนใจเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น อยากได้ฉากระเบิดภูเขา ก็ทำ อยากได้ฉากเผากระท่อม ก็ทำ อยากใส่ฉากเซ็กซ์ ก็ใส่ โดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่ต้องพูดถึงสาระของเรื่องเลย แค่ความสมจริงก็ไม่มี
เชื่อไหมว่าคนที่เคืองผมที่ให้คะแนน Ambulance 2/10 ก็คือตัวผมเองเมื่อ 40-50 ปีก่อนนั่นเอง
ถ้าผมดูเรื่อง Ambulance ในวัยยี่สิบ รับรองว่าผมให้คะแนน 10/10
แต่ผ่านไป 40-50 ปี รสนิยมการดูหนังของผมเปลี่ยนไปแล้ว
นี่ทำให้ต้องเล่าประสบการณ์หนึ่งในชีวิตให้ฟัง
ตอนผมเป็นวัยรุ่น หนังเรื่อง เจ็ดสิงห์แดนเสือ (The Magnificent Seven) มาฉาย เป็นหนังปี 1960 ขนนักแสดงดังๆ มาเพียบ เช่น ยูล บรินเนอร์ สตีฟ แม็คควีน ชาร์ลส บรอนสัน เจมส์ โคเบิร์น ฯลฯ ชอบๆ ทั้งนั้น
เจ็ดสิงห์แดนเสือ ยืมพล็อตมาจากหนังญี่ปุ่น เจ็ดเซียนซามูไร (Seven Samurai 七人の侍) ของ อะกิระ กุโรซาวะ
ในวัยรุ่นผมดู เจ็ดสิงห์แดนเสือ พร้อมพึมพำว่า "โคตรสนุกเลย"
ครั้นไปกรุงเทพฯ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยไม่นาน อายุราวๆ 20 โรงหนังสยามหรือลิโดนำ เจ็ดเซียนซามูไร ของกุโรซาวะมาฉาย ก็ลองไปดู เป็นหนังขาวดำ สร้างสองปีก่อนผมเกิด
ผมดูเรื่องนี้แล้วส่ายหัว บ่นว่า "หนังอะไรวะ ไม่สนุกเลย" เจ็ดสิงห์แดนเสือ สนุกกว่าร้อยเท่า
ผ่านไปราว 25-30 ปี ผมมีโอกาสดู เจ็ดเซียนซามูไร อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้หลังดูจบ ผมตะลึง บอกว่า "หนังอะไรวะ โคตรดีเลย" แล้วตบหัวตัวเองสองทีที่โง่มานาน
เจ็ดเซียนซามูไร ของกุโรซาวะสุดยอด ลุ่มลึกกว่า เจ็ดสิงห์แดนเสือ หลายเท่า
รสนิยมคนเราเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมืออย่างนี้ได้อย่างไร?
คำตอบคือผ่านการเสพศิลปะหลากหลาย การรู้จักวิเคราะห์ วัย โลกทัศน์ ความเข้าใจโลก ผสมกัน ทำให้แยกแยะหนังและเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้นกว่าโลกทัศน์ในวัยยี่สิบ
เจ็ดสิงห์แดนเสือ ก็คือฟาสต์ฟูด รสชาติดี แต่ เจ็ดเซียนซามูไร ให้สารอาหารเต็มร้อย
ดังนั้นเวลาดูหนังอย่าง Ambulance หรือ The Old Guard 2 ด้วยรสนิยมส่วนตัว ผมรู้สึกว่ามันตื้นเขิน ซ้ำซาก จำเจ เป็น lazy writing (ถ้ามี writing จริงๆ นะ)
อย่าเข้าใจผิด! นี่ไม่ได้บอกนะว่ารสนิยมตนเองดีเลิศในปฐพี แค่บอกว่าผมดูหนังด้วยสายตาอีกคู่หนึ่งแล้ว นี่รวมถึงหนังสือและศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย
ส่วนใครจะดู Ambulance หรือ The Old Guard 2 แล้วรู้สึกสนุกมาก ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะคนคนนั้นก็คือผมตอนดู เจ็ดสิงห์แดนเสือ โคตรสนุก
มันเป็นแค่พัฒนาการของรสนิยม
บางคนอาจถามว่า ถ้าฉันดูเรื่องที่ว่าห่วยอย่างสนุก จะเป็นไรหรือเปล่า ก็ไม่เป็นไร ตามสบายเลย เพราะคนเราดูหนังด้วยเจตนาต่างกัน บางคนต้องการแค่พักสมอง ถ้าดูเรื่องที่ทุกคนว่าแย่แล้วมีความสุข ก็ดูไป ที่ผมบอกว่า guilty pleasure
แต่คนเราจะกินฟาสต์ฟูดได้ทุกมื้อนานเท่าไร?
ผมรู้จักนักเขียนหลายคนที่โตมากับนิยายน้ำเน่า ครั้นโตขึ้นอ่านวรรณกรรมชั้นดี คนเหล่านี้ก็เลิกอ่านเรื่องน้ำเน่าเซมเซมไปตลอดชีวิต
ดังนั้นหากคิดว่าอยากจะลองดูหนังในอีกโหมดหนึ่ง โหมดของความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ สาระทางความคิด ปรัชญา ฯลฯ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ และบางทีเราอาจรู้สึกดีขึ้นก็ได้
มันไม่มีถูกหรือผิด มันก็แค่วิธีดูหนังต่างกัน
วินทร์ เลียววาริณ
13-7-251- แชร์
- 32
-
สมมุติว่ามีคนขอให้จิตแพทย์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ทำหนังเกี่ยวกับแวมไพร์ เคาน์แดรกคิวลา โดยเขาเขียนบท และให้อัจฉริยะประติมากร ไมเคิล แองเจโล เป็นผู้กำกับ หนังอาจออกมาในรูปประติมากรรม เป็นการแกะสลักแผ่นหินอ่อนเป็นรูปนูน (Relief) ประกอบด้วยตัวละคร สูงต่ำ สว่างด้านนอกที่สัมผัสแสง มืดในส่วนที่เป็นหลืบ สวยงาม แต่ลึกลับ
Nosferatu ฉบับล่าสุดของ Robert Eggers ให้ความรู้สึกอย่างนั้น
แน่ละ มันเป็นภาพยนตร์ แต่ทั้งเรื่องดูเป็นอาร์ต
Nosferatu หมายถึงแวมไพร์ มาจากตำนานปรัมปราของโรมาเนีย ที่ต่อมาเป็นต้นกำเนิดนิยาย Dracula ของ Bram Stoker
เราแทบทุกคนคงรู้เรื่องแวมไพร์ เคาน์แดรกคิวลาดีแล้ว มนุษย์อมตะที่ยามกลางวันซ่อนในโลง กลางคืนเพ่นพ่าน ดูดเลือดคน และตายได้ด้วยแสงอาทิตย์ หรือการตอกเหล็กแหลมเข้าที่หัวใจ
Nosferatu เป็นงานรีเมกงานเก่ามากเรื่อง Nosferatu: A Symphony of Horror หนังเงียบเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เรื่องของแวมไพร์ชื่อเคาน์ออร์ล็อกที่ล่าเหยื่อ ภรรยาของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง
ดังนั้น Nosferatu จึงไม่มีอะไรใหม่ในเชิงพล็อตเรื่อง ความใหม่อยู่ที่มุมมองทางจิตวิทยา และการนำเสนอแบบอาร์ต
หากดูแบบเปลือกนอก Nosferatu เป็นหนังทริลเลอร์สยองขวัญธรรมดา แต่หากดูลึกเข้าไป มันเหมือนกำลังอ่านงานวิจัยเรื่องจิตและตัวตนของมนุษย์ของปรมาจารย์จิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์
ทฤษฎี Psychoanalysis ของฟรอยด์พูดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะประสบการณ์ในวัยเด็ก แรงขับเคลื่อนดิบพื้นฐาน เซ็กซ์ มาตรฐานทางศีลธรรม ที่ก่อรูปความคิด และพฤติกรรมของเรา
หนังใช้ฉากศตวรรษที่ 19 ได้เข้ากับบริบท เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สตรีสวมชุดคอร์เส็ตต์รัดรูปจนหายใจไม่ได้ ทุกอย่างซ่อนภายในจิตใต้สำนึก (ในฉากหนึ่งการรักษาใช้ชุดคอร์เส็ตต์รัดตัว)
หนังสะท้อนถึงความปรารถนาที่เก็บกดภายใน สังคมที่มีกรอบ ในที่นี่แวมไพร์ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของเพลิงปรารถนา เคาน์ออร์ล็อกในเรื่องมักปรากฏตัวในรูปเงามืด คล้ายสะท้อนความปรารถนาในหุบเหวของความคิดคน
ในด้านการนำเสนอแบบอาร์ต นี่เป็นหนังสวยในเชิงศิลปะ งดงามแทบทุกฉาก เป็นหนังสยองขวัญที่ดูดีมากในเชิงศิลป์ ภาพสวยทั้งเรื่อง จัดองค์ประกอบ แสงเงาสวยงาม เหมือนดูประติมากรรมชั้นดี จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังได้รับการเสนอชิงรางวัล Best Cinematography จากเวทีออสการ์
ปกติผมไม่ชอบดูหนังแนวนี้ หากไม่ใช่เพราะผู้กำกับคือ Robert Eggers คนทำหนัง The Witch (2015), The Lighthouse (2019), The Northman (2022) หนังของเขามืดหม่น ดูยาก ต้องคิดสองสามตลบ โดยเฉพาะ The Lighthouse ดูแล้วปวดหัวไปหลายวัน
แม้ Nosferatu ฉบับนี้มีพล็อตเรื่องธรรมดาและเราคาดเดาเรื่องได้ไม่ยาก แต่การเล่าเรื่องดี จังหวะจะโคนดี ทำให้เราดูหนังเรื่องนี้เหมือนถูกสะกดจิต
Nosferatu ก็อดทำให้เราคิดถึงโลกที่เรากำลังอยู่ไม่ได้ สองศตวรรษหลังเคาน์ออร์ล็อก เราก็ยังอยู่ในโลกใบนั้น ความแตกต่างคือในโลกของ โซเชียล เน็ตเวิร์ก เราสามารถปลดปล่อยความปราถนาด้านมืดออกไปโดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรา ขณะเดียวกันเราก็พบกับความหลอกลวงแบบ 'เคาน์ออร์ล็อก' ทุกวัน ล่อลวงเราตลอดเวลา
แต่ไม่นานมานี้ เราพบว่าที่ร้ายกว่า 'เคาน์ออร์ล็อก' ก็คือ 'อังเคิลออร์ล็อก' นี่เอง
8/10
ฉายทาง HBOวินทร์ เลียววาริณ
25-7-25วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
0 วันที่ผ่านมา -
เมย์ฟลาย (Mayfly) หรือแมลงชีปะขาว เป็นสัตว์ที่มีอายุสั้นที่สุดชนิดหนึ่งในโลก จัดอยู่ในกลุ่มแมลง Ephemeroptera (มาจากคำกรีก ephemeros แปลว่าอายุสั้น, pteron แปลว่าปีก) สายพันธฺุ์นี้มีบรรพบุรุษร่วมกับตระกูลแมลงปอ ในโลกมีราว 2,500 สปีชีส์
เราพบเมย์ฟลายตามแหล่งน้ำทั่วไป เช่น หนอง บึง ลำธาร ทะเลสาบ แม่น้ำ เป็นแมลงที่มีคุณสมบัติไวต่อการสัมผัสรู้สารพิษ จึงใช้เป็นดัชนีวัดคุณภาพของแหล่งน้ำได้
เมย์ฟลายชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหินกลางน้ำที่ไหลแรง มันมีแผ่นเหงือกที่ประกอบด้วยหนามแหลมขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยให้เกาะก้อนหินตามลำธารได้ดี ไม่ถูกกระแสน้ำพัดหลุดลอยไป
ที่ว่าอายุสั้น สั้นแค่ไหน?
พวกมันเกิด อยู่ สืบพันธุ์ และตายในวันเดียว!
ก่อนลืมตาดูโลก พวกมันเป็นตัวอ่อนในน้ำ เมื่อถึง ‘วันเกิด’ พวกมันจะลอกคราบบินโผล่จากผิวน้ำสู่โลกเป็นวันแรกและวันสุดท้าย ในวันเดียวของชีวิตบนโลกใบนี้ พวกมันไม่กินอะไร ทุกตัวเกิดมาทำงานแล้วตายไป ทำทุกอย่างจบในวันสั้น ๆ หนึ่งวัน
หนึ่งวันน่ะหรือสั้น?
การใช้เวลาอย่างสุรุ่ยสุร่ายทำให้คนหลายคนผ่านชีวิตถึงวันสุดท้ายแล้วพบว่าตนเองยังไม่ได้ทำอะไรที่มีคุณค่าเลยสักอย่าง แคนวาสแห่งชีวิตยังว่างเปล่า บางคนนอกจากไม่เคยทำเรื่องดีแล้ว ยังทำแต่เรื่องชั่ว ๆ
คนที่ผ่านการทำงานในวงการที่ให้เวลาทำงานน้อยมานานพอ มักพบสัจธรรมว่าเวลาน้อยไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์งานดี ๆ งานสร้างสรรค์ดี ๆ จำนวนมากในโลกเกิดขึ้นในเวลาสั้นแสนสั้น
ดังนั้นเมื่อได้รับงานสักชิ้น ก่อนเอ่ยประโยค “เวลาไม่พอ” ลองนึกถึงเจ้าเมย์ฟลาย เรามีสมอง อย่าให้อายแมลง หากผ่านไปหนึ่งวันโดยไม่ได้ทำอะไร
ลองนึกดูว่า หากเรามีชีวิตเพียงวันเดียวอย่างเจ้าเมย์ฟลาย เราจะทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อน ทำอะไรทีหลัง
หากเราให้ผู้แทนราษฎรอภิปรายในสภาได้คนละนาทีเดียว เราคงได้สาระมากกว่านี้มากนัก เพราะเวลาจำกัดขนาดนั้นจะบังคับให้พูดเฉพาะสาระของเรื่องจริง ๆ
การรู้ว่ามีเวลาน้อยยังทำให้เราไม่เสียเวลาไปกับการวิตกกังวล ทะเลาะกัน อิจฉากัน นินทากัน เพราะรู้ว่าเหลือเวลาน้อย ทำเรื่องใหญ่กว่านั้นดีกว่า
บางทีมีเวลาน้อยก็ดีเหมือนกันนะ!
วินทร์ เลียววาริณ
25-7-25ย่อความจาก ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน
36 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 175 บาท = บทความละ 4.86 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
https://www.winbookclub.com/store/detail/110/ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน0 วันที่ผ่านมา -
บ่อยครั้งเมื่อผมพบประสบการณ์ไม่น่ารื่นรมย์ เช่น ถูกฉีดยา เจาะเลือด ถูกคนด่า ป่วย ผ่าตัด ฯลฯ ผมจะท่องคาถาง่ายๆ ข.ย.ป.อ.
เข้าใจ - ยอมรับ - ปล่อยวาง - อดทน
'เข้าใจ' คือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจว่ามันเลี่ยงไม่พ้น
'ยอมรับ' คือยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่หายไปไหน จึงไม่ต้องหนีมัน
'ปล่อยวาง' คือปล่อยวางความคิดว่าโลกไม่ยุติธรรม ทำไมมันเกิดขึ้นกับเรา ทำไมเราซวยอย่างนี้ ฯลฯ
'อดทน' คือกลั้นใจให้มันผ่านไป
แล้วมันก็ผ่านไป
เพราะทุกเรื่องในโลกนี้ ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ล้วนอยู่ในสัจธรรมของอนิจจัง มันจะผ่านไป
วินทร์ เลียววาริณ
24-7-251 วันที่ผ่านมา -
ประเทศที่มีชื่อเรียกว่าสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นโดยชาวยุโรปรุกรานแผ่นดินของชาวพื้นเมือง (อินเดียนแดง) ประเมินว่าชาวอินเดียนแดงถูกฆ่าไปราว 4 ล้านคน นักประวัติศาสตร์บางคนเสริมว่าส่วนหนึ่งตายเพราะโรคภัยที่ชาวยุโรปนำไปให้ ไม่ว่าทางใด มันก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ตามมาด้วยการกลืนชาติ (ethnic cleansing) ทำให้ตัวตนคนพื้นเมืองปลาสนาการไปตลอดกาล
แล้วแผ่นดินอเมริกาก็ตกเป็นของคนผิวขาวโดยสิ้นเชิง
American Primeval เป็นมินิซีรีส์เล่าเรื่องประวัติศาสตร์มืดท่อนหนึ่งของการสร้างชาติสหรัฐฯ ในปี 1857 เกิดการสังหารหมู่นักเดินทาง (settlers) ที่มุ่งหน้าไปตั้งถิ่นฐานทางตะวันตก ในเขต Mountain Meadows พื้นที่ยูทาห์ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า The Mountain Meadows Massacre รัฐบาลเชื่อว่าพวกมอร์มอนอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ โดยใช้อินเดียนแดงเผ่า Paiute ช่วย
พวกมอร์มอนเป็นสาวกศาสนาคริสต์นิกายใหม่ กลุ่ม Church of Jesus Christ of Latter-day Saints (LDS Church) ก่อตั้งที่นิวยอร์ก ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ในอเมริกา
หลังเหตุการณ์การสังหารหมู่นักเดินทาง ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างพวกกองกำลังมอร์มอนที่เขตยูทาห์กับรัฐบาลสหรัฐฯ
American Primeval เล่าเรื่องท่อนนี้
ในหนังอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ตัวละครผู้ว่าการรัฐยังก์ซ่องสุมผู้คนเพื่อหมายยึดครองดินแดนยูทาห์ทั้งหมด โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ปลูกฝังให้ผู้คนเชื่อว่าพวกเขาเป็น The Chosen (ผู้ที่พระเจ้าเลือก) และดินแดนนั้นเป็นดินแดนพันธสัญญา (Promised land) ดังนั้นพวกเขาจึงมีความชอบธรรมในการฆ่าเพื่อครอบครองดินแดนนั้น
มาถึงจุดนี้เราอาจจะอุทานว่า เรื่องนี้คุ้นๆ สหรัฐฯขยายดินแดนไปทางตะวันตกได้ด้วยพวก settlers เมื่อหันมามองโลกปัจจุบัน อิสราเอลก็มี settlers ไปตั้งถิ่นที่กาซาไม่น้อยกว่าห้าแสนคน เป้าหมายเดียวกันคือกลืนชาติปาเลสไตน์ให้หายไป เหมือนที่เกิดขึ้นกับอินเดียนแดงในสหรัฐฯ
ใช่ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประเทศที่มีชื่อเรียกว่าอิสราเอล ก็เกิดขึ้นโดยชาวยิวที่เรียกว่าไซออนนิสต์ยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์โดยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการกลืนชาติ ทุกวันนี้อิสราเอลก็ยังเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ตายทุกวันโดยชาวโลกทำอะไรไม่ได้
ที่น่าขันขื่นมีสองข้อคือ ข้อหนึ่ง ชาวยิวหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ แต่กลับกระทำเรื่องเดียวกันทุกประการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ให้สิ้นซาก
ข้อสอง สหรัฐฯฆ่าคนพื้นเมืองจนเหี้ยน และผ่านไปสองศตวรรษหลังประกาศอิสรภาพ ก็ช่วยไซออนนิสต์ฆ่า 'คนพื้นเมือง' ปาเลสไตน์อีกรอบ
ดังนั้นแม้หนังเรื่องนี้แม้ไม่เอ่ยถึงยิวสักคำ แต่มันอดไม่ได้ที่ต้องเปรียบเทียบเรื่องนี้กับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพราะไม่ว่าคนเขียนบทจะตั้งใจหรือไม่ ตัวหนังพูดเรื่องศาสนา พูดเรื่อง The Chosen พูดเรื่อง Promised land พูดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อยึดครองดินแดนที่คัมภีร์บอกว่าเป็นดินแดนพันธสัญญา ทุกบริบทตรงกันเป๊ะ
ในท่อนหนึ่งของ American Primeval อินเดียนแดงถามตัวละคร 'Abish' ที่ตกเป็นเชลยว่า "Why do your people have so much hunger to kill?" - ทำไมพวกคุณจึงกระหายอยากฆ่านัก?
Abish ตอบว่า "ความกลัวกระมัง ฉันคิดว่าอย่างนั้นนะ หรือบางทีสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจ สิ่งนี้... โลกของพวกคุณไม่เหมือนโลกของเรา"
ตัวละครอินเดียนแดงจึงพูดเชิงปลงตกว่า "That is life."
American Primeval จัดเป็นหนัง western ก็จริง แต่มันไปลึกกว่าหนังตระกูลนี้ทั่วไป แม้เป็นหนังต่อสู้กันสไตล์หนัง western แต่มันไม่ใช่หนังยิงกันธรรมดา มันสะท้อนการเมือง ความสกปรกของการตั้งประเทศ การเข่นฆ่า การเอาตัวรอด และการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
ในเรื่องนี้ทั้งคนดีและคนเลวต่างก็ดิ้นรนเอาตัวรอด หรือพูดใหม่ได้ว่า ในเรื่องนี้มีแต่คนสีเทาๆ
American Primeval เขียนบทโดย Mark L. Smith คนเขียนบท The Revenant ของ Alejandro G. Iñárritu
กำกับโดย Peter Berg คนสร้าง Lone Survivor และได้นักแสดงคนหนึ่งจากเรื่องนั้นมานำในเรื่องนี้คือ Taylor Kitsch
บทแน่น ผู้กำกับคุมหนังอยู่ หนังเดินเรื่องเร็ว กระชับ สนุก โหด เหี้ยม ดิบ เถื่อน เต็มไปด้วยภาพสยองขวัญ เป็นหนัง western ที่ดิบที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยดูมา
หนังจับเราอยู่ตลอด แม้หนังจะโหด เลือดสาด แต่คนดูก็ไม่อาจหยุดดูได้ หนังรักษาโทนและอารมณ์ของเรื่องได้สม่ำเสมอ ตัวละครมาก แต่โดยโครงสร้างพล็อตเรื่องไม่ซับซ้อนมากนัก เราตามติดตัวละคร ลุ้นไปกับตัวละครและเหตุการณ์ นี่ไม่ใช่งานเขียนบทและการกำกับง่ายๆ
ในท่อนท้าย หนังอาจจะออกแนวเมโลดรามาไปบ้าง (ก็นะ! เอาสักหน่อย! ไม่งั้นเรื่องหม่นหมองมาก) แต่ในภาพรวม มันเป็นหนังทรงพลังเรื่องหนึ่ง มันรวมความสนุกและสาระเข้าด้วยกัน และตบหน้าสังคม
นี่ไม่ใช่หนังฟีลกู๊ด พระเอกช่วยเหลือคนแล้วขี่ม้าหายไปในแสงตะวันสนธยา ทั้งเรื่องคือโลกที่มืดหม่น โหดร้าย
ที่น่าเศร้าคือ เราก็ยังอยู่ในโลกใบนั้น
ในตอนที่ 5 ตัวละครร้อยเอก Edmund Dellinger ทหารรัฐบาลเขียนบันทึกในไดอารีว่า "เมื่อวานนี้ผมเห็นหมีกริซลีตัวหนึ่งว่ายข้ามแม่น้ำเคนยามอรุณรุ่ง ผมประจักษ์แสงตะวันอาบขนสีทองของมันหลังใบหู แสงรัศมีสีทองโอบศีรษะใหญ่ของมัน ผมรู้สึกถ่อมตัวและตื่นตาในอำนาจและความสง่าของสัตว์ตัวนี้ มีความรู้สึกว่ามีพลังอำนาจที่เหนือกว่าเราจะรู้ควบคุมโลก มีคำตอบต่อคำถามนั้น แต่ขณะนี้ยังคงมองไม่เห็น ผมมีความหวังว่ามีความเป็นไปได้ที่มีสันติภาพและความงดงามสำหรับเราทั้งหมด ผมมีความหวังว่าความงามที่ผมมองเห็นบนแผ่นดินนี้มีอำนาจเหนือความมืดมน ผมมีความหวังว่าในวันที่มืดที่สุดและยากจะจัดการที่สุด ความรักจะเป็นสถานที่พักใจที่ปลอดภัย นำทางเราทั้งหลายออกจากไฟนรกแห่งความกลัวซึ่งขับคนไปยังมุมเงียบของนรกที่มืดและโหดร้าย ผมมีความหวังว่าอำนาจแห่งความรักจะช่วยเราทั้งหลาย"
ที่น่าเศร้าคือ ในโลกที่เราอยู่ ผู้คนลืมไปแล้วว่าความรักเป็นอย่างไร
วินทร์ เลียววาริณ
23-7-2510/10
ฉายทาง Netflixวินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
2 วันที่ผ่านมา -
เมื่อเล่าถึงซูเปอร์แมนตัวจริง คริสโตเฟอร์ รีฟ แล้ว ก็ต้องเล่าถึงบุคคลที่ทำให้เขายืนหยัดเป็นซูเปอร์แมนต่อไปได้ คือภรรยาของเขา ดานา เป็นสุดยอดผู้หญิงคนหนึ่ง
เมื่อ คริสโตเฟอร์ รีฟ ฟื้นขึ้นจากอาการโคม่าที่โรงพยาบาลและรับรู้ว่าเขากลายเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปนั้น สิ่งแรกที่เขาคิดคือการฆ่าตัวตายให้พ้นทุกข์
ดานา ภรรยาของเขาบอกว่าขอผ่านเวลาสักสองปีก่อนได้หรือไม่ เธอบอกเขาว่า "หากถึงตอนนั้นคุณยังไม่หาย ฉันจะช่วยฆ่าคุณเอง"
สองปีผ่านไป เขาเลิกล้มความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
เธอบอกคนอื่นในภายหลังด้วยเสียงหัวเราะว่า "ฉันก็สัญญากับเขาไปยังงั้นแหละ... สัญญาแบบพวกเซลส์แมนไง"
ดานาเป็นหญิงสาวสวย เป็นนักแสดงและนักร้องที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ หลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุตกม้าและเป็นอัมพาตถาวร เธอก็เลิกอาชีพการงานของเธอ ไปเคียงข้างเขาให้มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป
ดานาไม่เคยสิ้นความหวังที่จะหาทางรักษาสามี พวกเขาเสาะหานักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาประสาทวิทยาและต่อมาก็ก่อตั้งมูลนิธิ องค์กรวิจัยงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือคนเป็นอัมพาต พยายามต่อสู้เพื่อให้รัฐสนับสนุนการวิจัยปลูกถ่ายสเตม เซลล์ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไม่สนับสนุน ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่อิงกับศาสนาและคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยบอกว่า มันเป็นเรื่องเหนือกงการของมนุษย์ที่ไปก้าวก่าย 'ผลงาน' ของพระเจ้า
เก้าปีถัดมา เขาก็จากเธอไป
เก้าปีสำหรับคนที่เป็นอัมพาตอาจดูยาวนานเหมือนอนันตกาล แต่สำหรับเขา มันเป็นของขวัญ ทุก ๆ วันที่เขายังหายใจได้เป็นวันพิเศษ เขายังคงเล่นและกำกับหนัง ร่วมกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ ทั้งที่ต้องนั่งบนเก้าอี้เข็นตลอดเวลา
เขาบอกว่า เขาโชคดียิ่งที่มีคู่ชีวิตเช่นเธอ ทั้งสองแต่งงานมานานสิบสองปี รักกันมาก และเพราะความรักนี้เองที่ทำให้เขาอยู่นานขนาดนั้น
เมื่อเขาจากโลกไปนั้น เธอบอกว่า แสงสว่างของเธอดับวูบ เธอสูญเสียเพื่อนที่ดีที่สุดไปแล้ว
...................
เธอนั่งทำงานในห้องทำงานของเขา บนผนังแขวนโปสเตอร์หนังใส่กรอบ เรื่อง In the Gloaming (ในแสงสลัว - 1997) ภาพยนตร์ที่เขากำกับให้เอชบีโอ ทุกสิ่งในห้องนี้ดูเรียบร้อยกว่านี้เมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ เขาไม่ชอบให้ข้าวของเกะกะ
แต่ตอนนี้ไม่มีร่างของเขา
"ตอนนี้ - มากกว่าที่เคยเป็น ฉันรู้สึกว่าคริสอยู่กับฉัน ขณะที่ฉันกำลังเผชิญหน้าความท้าทายนี้ เช่นที่เป็นมาเสมอ ฉันมองเขาเป็นสุดยอดตัวอย่างของคนที่ต่อสู้อุปสรรคด้วยพลัง ความกล้าหาญ และความหวัง"
เธอซ่อนความเศร้าไว้ภายใน แล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ สานต่องานของเขา นั่นคือเรี่ยไรเงินให้มากพอสำหรับการวิจัยของมูลนิธิ โดยเฉพาะเมื่อปราศจากสามีผู้มีชื่อเสียง การเรี่ยไรเงินไม่ใช่งานง่าย การโน้มน้าวใจคนในรัฐบาลยิ่งยากเย็น ใบหน้าของเธอเป็นที่คุ้นตาคนในวอชิงตันมากขึ้น เมื่อเธอพยายามล็อบบี้กฎหมายบางฉบับเพื่อให้สามารถวิจัยการปลูกถ่ายสเตม เซลล์
ชีวิตและงานเดินหน้าต่อไป มูลนิธิมอบเงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จนถึงวันนี้มูลนิธิให้เงินสนับสนุนการวิจัยมากกว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการใหม่ของเธอเองอีก 8 ล้านเหรียญ
สิบเดือนหลังจากเขาจากไป หมอบอกเธอว่าเธอเป็นมะเร็งปอด เป็นข่าวที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะเธอไม่สูบบุหรี่ หลายคนเชื่อว่าความเศร้าที่รุมเร้าเธอหลังจากความตายของเขาน่าจะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เธอล้มป่วย
"ฉันเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับความโศกเศร้าว่า มันมักหมุนเป็นวงจริง ๆ..." เธอเล่าในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง "...คริสกับฉันเคยพูดกันเมื่อเขาประสบอุบัติเหตุว่า 'เอาละ นี่อาจจะเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็มีกันและกันที่จะช่วยฟันฝ่ามันไปด้วยกัน' ..."
อีกครั้ง - ในแสงสลัว - เธอต้องฟันฝ่าโรคร้ายด้วยตัวเองคนเดียว
หลังจากผ่านการรักษาด้วยกัมมันตภาพรังสี และสูญเส้นผม เธอสวมวิกที่ยืมมาจากเพื่อน ออกงานการกุศล เธอยังร้องเพลงด้วยรอยยิ้มราวกับไม่มีเรื่องร้ายใด ๆ เกิดขึ้นกับเธอ
อาจเป็นความรักอันท่วมท้นที่ไม่มีวันเหือดแห้งของเขาที่มีต่อเธอที่ทำให้เธอเข้มแข็งต่อไป เธอบอกว่า "มันเป็นเรื่องที่ออกจะลี้ลับสักหน่อย แต่ใครบางคนบอกว่า 'เขาจะอยู่กับคุณเสมอไป'... ฉันคิดว่าใครคนหนึ่งต้องรักคุณมากถึงขนาดที่เกิดพลังงานที่จะอยู่ร่วมกับคุณ และนั่นเป็นความรู้สึกสบายอย่างหนึ่ง และมันรู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นจริง"
อาจเป็นเพราะความรักของมนุษย์ไม่มีวันเหือดแห้ง ที่ทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาถึงวันนี้
ความรักสามารถทำให้คนคนหนึ่งลุกขึ้นยืน ก้าวเดินไปข้างหน้า ความรักอันแท้จริงทำให้เราแลเห็นคุณค่าของชีวิต ทั้งของเราเองและของผู้อื่น มีแต่รักแท้ที่ทำให้เราเกิดเมตตาต่อสรรพชีวิตโดยไม่มีข้อแม้
เพราะนี่เป็นโลกที่แสนยุ่งเหยิงและเศร้าสลัวเสมอ เราจึงต้องการแสงสว่างของความรักขับไล่ความสลัวนั้น
ดานา รีฟ จากโลกไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 หนึ่งปีกับห้าเดือนหลังจากคนที่เธอรักตายไป เธอมีอายุเพียง 44 ปี
แต่ช่วงชีวิตของเธอไม่นับว่าสั้นแม้แต่น้อย เพราะโลกของเธอคือโลกแห่งความสว่างไสว
บางทีความรักของคนบางคู่ยิ่งใหญ่เกินไปที่จะถูกจำกัดด้วยเวลา เป็นความรัก - เช่นที่เธอว่า - ขนาดที่เกิด 'พลังงานที่จะอยู่ร่วมกัน'
นั่นเป็นความรู้สึกสบายอย่างหนึ่ง และมันรู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นจริง
วินทร์ เลียววาริณ
23-7-25จากหนังสือ ความฝันโง่ ๆ
(หนังสือหมดแล้ว และจะไม่ตีพิมพ์อีก)3 วันที่ผ่านมา